วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (24 เม.ย.60)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (24 เม.ย.60)

ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง จากแรงกดดันของจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังเบเกอร์ ฮิวจ์ (Baker Hughes) รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 เม.ย. 60 ปรับเพิ่มขึ้นจำนวน 5 แท่น สู่ระดับ 688 แท่น ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 14 ติดต่อกัน ทั้งนี้ การปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าวนับเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่าสหรัฐ ยังคงเดินหน้าผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

+ คณะกรรมการด้านเทคนิคของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) และ นอกกลุ่มโอเปค เสนอแนะว่าควรพิจารณาขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตออกไปในช่วงเวลาครึ่งหลังของปีนี้ หลังมาตรการปรับลดกำลังการผลิตลง 1.2 ล้านบารเรลต่อวัน จะมีกำหนดสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 60 นี้

- อย่างไรก็ตาม นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค (Alexander Novak) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียยังไม่มีความเห็นว่าควรจะขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตหรือไม่ ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวจำเป็นจะต้องมีการร่วมหารือกับกลุ่มประเทศสมาชิกโอเปค ในการประชุมวันที่ 24 พ.ค. 60

- ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ (PMI) ในเดือน เม.ย. 60 ปรับตัวลงสู่ระดับ 52.8 จุด ต่ำกว่าที่ว่าจะอยู่ที่ระดับ 53.5 จุด อย่างไรก็ดี ดัชนีที่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ยังคงบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิต

+ ยอดขายบ้านมือของสหรัฐ ประจำเดือน มี.ค. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 5.7 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2550 และสูงกว่าที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ การปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าวนับเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ที่ยังคงขยายตัว

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงหนุนของปริมาณอุปสงค์ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประเทศแถบตะวันออกกลางและญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นในกรอบที่จำกัดเนื่องจากแรงกดดันของปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐ ที่ปรับตัวขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงกดดันของการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากอินเดีย อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันดีเซลยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น ประกอบกับความต้องการใช้ในภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในระดับสูง


ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

          ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


ปัจจัยที่น่าจับตามอง

- จับตาการประชุมระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบในและนอกโอเปคก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 24-25 พ.ค. 60 ว่าจะมีจะมีการขยายระยะเวลาของมาตรการปรับลดกำลังการผลิตหรือไม่ ภายหลังปริมาณน้ำมันคงคลังเชิงพาณิชย์ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีค่อนข้างมาก แม้ว่ากลุ่มโอเปคจะปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าที่ได้ตกลงไว้ก็ตาม โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบีย คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีความเห็นไปพ้องกันว่าควรขยายระยะเวลาของมาตรการแต่ข้อตกลงดังกล่าวขึ้นกับเงื่อนไขว่าผู้ผลิตนอกกลุ่มจะต้องปรับลดกำลังการผลิตลงด้วยเช่นกัน ซึ่งทางด้านของรัสเซียยังไม่ได้มีการออกมาให้ความเห็นแต่อย่างใด

- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ คาดจะปรับตัวลดลงหลังโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐ เพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนที่ราวร้อยละ 93 เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยลดผลกระทบของการผลิตน้ำมันดิบในประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 9.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 เม.ย. ปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน โดยปรับลดลงราว 1.0 ล้านบาร์เรล

- การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 11 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 683 แท่น นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 13 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยกว่า 2 ใน 3 ของการปรับเพิ่มขึ้นมาจากแหล่งผลิต Permian ที่มีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างต่ำ

----------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

โทร.02-797-2999