'เอ็นพีแอลแบงก์' พุ่ง 1.9 หมื่นล้าน

'เอ็นพีแอลแบงก์' พุ่ง 1.9 หมื่นล้าน

เอ็นพีแอลแบงก์ "พุ่ง1.9หมื่นล้าน" เศรษฐกิจโตช้ากระทบกลุ่มเอสเอ็มอี แบงก์กลางเร่งตัดขายหนี้ บริหารจัดการเข้มส่งผลหนี้เสียลดสวนทางแบงก์ใหญ่

เอ็นพีแอลธนาคารพาณิชย์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไตรมาสแรกปีนี้ทะลุ 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 5%จากช่วงสิ้นปี นำโดยแบงก์ใหญ่ ทั้งกรุงไทย กรุงเทพ และไทยพาณิชย์ ผลพวงจากเศรษฐกิจโตช้ากระทบความสามารถชำระหนี้ของลูกค้าเอสเอ็มอี

จากการรวบรวมผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ทั้ง 11 แห่งในไตรมาส 1 ปี 2560  พบว่าแม้ผลการดำเนินงานส่วนใหญ่จะปรับตัวดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิรวมกว่า 5.36 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ในส่วนของคุณภาพสินเชื่อนั้น ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลยังคงปรับขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นปี2559

ภาพรวมเอ็นพีแอลสิ้นไตรมาสแรกของปีอยู่ที่ 4.01 แสนล้านบาท จากช่วงสิ้นปีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.82 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.92 หมื่นล้านบาท หรือ 5.02% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ใหญ่ ทั้งจากธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และไทยพาณิชย์ ส่วนธนาคารขนาดกลางเอ็นพีแอลในช่วงไตรมาสแรกปรับลดลง

โดยธนาคารที่มีเอ็นพีแอลสูงสุด คือกรุงไทย มีเอ็นพีแอลอยู่ที่กว่า 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2 พันล้านบาท หรือ 10.1% จากช่วงสิ้นปี แต่ธนาคารที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลสูงที่สุด คือธนาคารกรุงเทพ โดยมีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 7.77 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9 พันล้านบาท หรือ 12.9%จากช่วงสิ้นปี

สำหรับธนาคารที่มีอัตราการปรับลดลงของเอ็นพีแอลมากที่สุดคือซีไอเอ็มบีไทย  มีเอ็นพีแอลอยู่ที่1.12 หมื่นล้านบาท ลดลง 11.8%จากช่วงสิ้นปี รองลงมาคือทิสโก้ มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 5.22 พันล้านบาท ลดลง 8.56%จากช่วงสิ้นปี และธนชาตมีเอ็นพีแอล 1.56 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.8%จากช่วงสิ้นปี

เศรษฐกิจฟื้นช้ากระทบเอสเอ็มอี

ธนาคารกรุงเทพระบุว่า เอ็นพีแอลที่อยู่ระดับ 7.77 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5%ของสินเชื่อรวมนั้น เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ธนาคารยังคงติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิดและตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส1ปี2560มีการตั้งสำรองจำนวน5.8พันล้านบาท ทำให้เงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารอยู่ที่ 1.24 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 6.5%ของเงินให้สินเชื่อ

ขณะที่ธนาคารกรุงไทยระบุว่า เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีในบางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามธนาคารมีการดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด ระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อ ประกอบกับให้ความสำคัญในการติดตามหนี้อย่างรวดเร็ว และปรับโครงสร้างหนี้ตามความเหมาะสม

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพในไตรมาสแรกปรับเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 2.7%ของสินเชื่อรวม จากช่วงสิ้นปีอยู่ที่ 2.67%ส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี และสินเชื่อเคหะที่ผู้กู้เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเมื่อแยกเอ็นพีแอลตามประเภทธุรกิจพบว่า เอสเอ็มอีมีสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อสูงสุด คือ 6.5%ของสินเชื่อรวม รองลงมาคือสินเชื่อเคหะ 2.6%ของสินเชื่อรวม ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าบุคคลมีสัดส่วนเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.3%ของสินเชื่อรวม

นอกจากนี้ยังพบว่า สินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษยังอยู่ในระดับสูง โดยอยู่ที่ 4.37 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.7%จากช่วงสิ้นปี มาจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่งได้ถูกปรับชั้นจากสินเชื่อด้อยคุณภาพมาเป็นสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษในช่วงเดือนธ.ค.2559

แบงก์กลางตัดขายหนี้ช่วยลดเอ็นพีแอล

ส่วนธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ที่มีเอ็นพีแอลปรับลดลงสูงสุด ถึง 11.8%จากช่วงสิ้นปี และมีสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมลดลงจาก 6.1%มาอยู่ที่ 5.3%นั้น มีสาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในไตรมาสแรกปีนี้ ประกอบกับธนาคารมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยง ที่มีประสิทธิภาพ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้ จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่

เช่นเดียวกันกับธนาคารธนชาตระบุว่าได้ดําเนินการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทำให้เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 11 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ 1.56 หมื่นล้านบาท ลดลง 98 ล้านบาท หรือ4.86%จากช่วงสิ้นปี ส่งผลให้อัตราส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.21%