“หอม โฮสเทล” ปรุงกลิ่นมิตรธุรกิจในครัว

“หอม โฮสเทล” ปรุงกลิ่นมิตรธุรกิจในครัว

"หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ” แทรกตัวในตลาดโฮสเทลเกลื่อนกรุง ทว่าโฮลเทลแห่งนี้มีแรงดึงดูดผู้คน จากคอนเซ็ปต์โฮลเทลที่แตกต่าง เชื่อมโยงผู้ลุ่มหลงการทำอาหารให้มาเจอกัน จากมิตรแท้ในครัว กลายเป็นการต่อยอดธุรกิจก้นครัวไม่รู้จบ

ผ่านคำบอกเล่าของ ภาวลิน มาสะกี” เจ้าของ หอม โฮสเทล แอนด์ คุ้กกิ้ง คลับ เล่าว่า ธุรกิจนี้เกิดขึ้นจากความฝันในวัยเด็กที่อยากเป็น“เชฟกะทะเหล็ก” แต่กลับสอบติดคณะวิทยาศาสตร์ ทำให้เส้นทางอาชีพห่างจากครัวไปไกลถึงการเป็น “วิศวกร”ในแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทย นานกว่า 10 ปี 

ทว่า เจ้าตัวกลับไม่ยอมทิ้งความฝัน เพียงแต่ฝันต้องใช้เวลาตกผลึก ! 

จนวันหนึ่ง ได้มีโอกาส สลัดคราบวิศวกร มาผูกผ้ากั้นเปื้อนปรุงอาหารให้เพื่อนพ้องบนแท่นขุดเจาะลองลิ้มชิมรสอาหารเลิศ อยู่กลางทะเล ไอเดียธุรกิจจึงถูกจุดติด

ระหว่างที่ทำอาหารให้เพื่อน ทำให้รู้ว่าเพราะอาหารนี่แหละ ที่ทำให้ผู้คนมาเจอกัน พูดคุยปฏิสัมพันธ์ แบ่งปันเรื่องราวดีๆ ให้กันและกัน มิตรภาพสวยงามเกิดขึ่้นจากบทสนทนาไปพร้อมกับการทานอาหารรสชาตินุ่มลิ้น”  

เมื่อไอเดียบรรเจิดจึงไม่รอช้า ปัดฝุ่นที่ว่างชั้น 4 ใน “นานา สแควร์” หัวถนนสขุมวิท เดิมเป็นที่ตั้งของร้านทำผมและร้านนวดถูกปิดตายมาหลายปี มาทำโฮลเทล ให้ผู้คนตามกลิ่นความหอมจากรสชาติอาหาร

แม้ว่าทำเลที่ตั้ง จะเป็นจุดอ่อนสำหรับธุรกิจร้านทำผม เพราะบันไดเลื่อนขึ้นได้แค่ชั้น 3 ทำให้คนไม่ค่อยขึ้นมาถึงชั้น 4 ซึ่งเป็นชั้นบนสุด ทว่ากลับกลายเป็นจุดแข็งสำหรับการสร้างอาณาจักรโฮสเทล จากความเงียบที่หาได้ยากในย่านกลางเมือง กับธีมของการใช้คำว่า “อาหาร” ดึงดูดผู้คนมาเชื่อมกัน

โฮสเทล แห่งนี้จะมีครัวกลางให้นักเดินทางที่อาจไม่มีโอกาสประกอบอาหารกินเอง แต่มีใจรักทำอาหารได้เข้าครัวทำอาหารเองระหว่างทริป โดยจัดเตรียมวัตถุดิบพืชผักสวนครัว วัตถุดิบปลูกอยู่บนดาดฟ้าห้างให้ผู้เข้าพักไปเก็บมาปรุง

โดยระหว่างนักเดินทางมาพักที่ โฮสเทลแห่งนี้ ช่วงเช้าจะได้ชิมอาหารไทยแท้จากทีมงาน ส่วนช่วงเย็นจะเติมไฮไลท์ ให้จดจำ สำหรับการจัดเดโม สร้างชุมชนเล็กๆ (Community) โชว์ทำอาหาร ให้แขกให้มานั่งชม ชิม อาหาร และเสริมด้วยคอร์สทำอาหารหากอยากเรียนเป็นจริงๆจังๆ ระหว่างที่ไม่มีโปรแกรมไปเที่ยวที่ไหน

แขกบางคนเดินทางมานานได้ทำอาหารกินเอง มีสวนบนดาดฟ้าปลูกพืชผัก และมีครัวกลาง แล้วยังมีอีกภาคคือสอนทำอาหารไทยหากอยากเรียนจริงจังก็มีคลาสส่วนตัวหรือไพรเวท คลาส

ปรากฎว่าไอเดียนี้ ถูกจริตคนพัก สร้างจุดสนใจให้โฮลเทลแห่งนี้ ในช่วงไฮซีซันแขกเต็มทั้ง 7 ห้อง 2 ห้องนอนส่วนตัวและ อีก 5 ห้องรวม รองรับได้ 42 คนต่อวัน ได้คะแนนรีวิวจากหลากหลายสำนักด้วยสกอร์ เริ่มต้นที่ 9 กว่าๆ เช่น ทริปแอดไวเซอร์ให้คะแนน 9.4 ล่าสุดเว็บไซต์เดอะเทเลกราฟ จัดอันอันดับให้เป็น1ใน10 เดอะเบสต์ โฮสเทล ในกรุงเทพฯ

แขกชอบเพราะไม่มีใครทำแบบนี้ แฮปปี้เพราะมีที่นั่งเล่น ทำอาหาร กินข้าวแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้รู้จักคนดีๆ ที่คุยกันจนถูกคอ ถูกชะตา จนมีคู่รักที่เกิดขึ้นระหว่างคลาส 7-8 คู่ เพราะได้นั่งคุยกันทำให้รู้จักกันมากกว่าการไปปาร์ตี้ กิจกรรมดีๆ จึงชักนำแต่คนดีๆ เข้ามาหากัน” ภาวดี เล่าถึงเรื่องราวดีๆที่เกิดขึ้นในหอมโฮสเทล ที่จัดบรรยากาศเสมือนอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน 

เธอยังเล่าว่า คนส่วนมากมาพักเพราะมาตามรีวิวเพราะความแปลก แตกต่างคือในกรุงเทพฯจะเน้นสายปาร์ตี้ แต่เราฉีกอีกแนวอยากให้คนแฮปปี้เรื่องการท่องเที่ยวแบบไทย อาหารไทยความภูมิใจของชาติ

แม้ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตรวดเร็ว จากโมเดลที่ใหม่แกะกล่อง ไม่มีโฮสเทลแบบนี้ในโลก จึงมีผู้มาติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ไปทำต่อในต่างประเทศแล้ว 2-3 ราย

แต่ภาวลิน กลับปฏิเสธไม่ขายแฟรนไชส์ โดยยืนยันจุดยืนที่ชัดเจนว่า เริ่มต้นของธุรกิจที่พัก เพราะใจรักในการทำอาหาร การขยายธุรกิจที่พักจึงไม่ใช่เป้าหมาย เพราะหากคนที่หยิบไปทำยังไม่เข้าใจ และอินกับธุรกิจ ก็จะไม่ตรงกับเจตนา

คนที่จะไปทำต่อ ขอให้เข้าใจในคุณค่าของการทำอาหาร ต้องรักและชอบในการทำอาหาร หากไม่รักแล้วไปทำธุรกิจก็ไม่มีแพสชั่น ธุรกิจก็ไม่สนุก ไม่อิน” เจ้าของโฮสเทล เล่าถึงจุดยืนที่ไม่เน้นขยายสาขา 

แต่เป้าหมายคือการทำแบรนด์ให้ชัดเจน ให้คนเข้าใจว่า "หอม" คือกลิ่นของเครื่องเทศที่ดึงดูดให้คนมาปฏิสัมพันธ์ แบ่งปันเรื่องราวดีๆให้กัน ไม่ใช่การขยายในเชิงแฟรนไชส์ หากเกิดจากการต่อยอดจากคอนเซ็ปต์ของคนรักการทำอาหารมากกว่า

สิ่งที่จะขยายคือการพัฒนาเนื้อหา (Content)ในเพจ และเว็บไซต์ ให้เป็นสื่อกลางเรื่องอาหารให้ต่างชาติได้เข้าใจวิถีไทยและการท่องเที่ยวยั่งยืน เราเชื่อว่าคอนเซ็ปต์นี้จะทำให้เรายั่งยืนโดยไม่ต้องขยายแฟรนไชส์

สเต็ปต่อไปจึงต่อยอดธุรกิจโดยการเชื่อมต่อกับทัวร์ตลาด หรือ ซื้อวัตถุดิบ มาทำอาหารไอเดียหรือธุรกิจดีๆ จะเกิดขึ้นจากพันธมิตรที่เกิดขึ้นจากการเข้าครัว

ชเนษฐ์ ตันกุล อีกหุ้นส่วนอีกคนของหอม โฮสเทล ผู้ดูแลด้านบัญชีการเงิน เล่าว่า จากเงินลงทุน 5 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายจะคืนทุนภายใน 5 ปีจากนี้ โดยกำไรจากการดำเนินธุรกิจนอกจากจะถูกนำไปปรับปรุงการให้บริการแล้ว

กำไรส่วนหนึ่งจะคืนกลับไปสร้างสมดุลสังคม ด้วยการได้ส่งต่อในสิ่งที่รักให้ผู้อื่น 

กำไรส่วนหนึ่งที่ได้เราก็ใช้ไปพัฒนาชุมชน ช่วยเหลือสังคม โดยที่บริษัทนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการจรรโลงสังคม แม้กระทั่งพนักงานก็ให้โอกาสคนที่เคยถูกกุมขังเข้ามาทำงานในโฮสเทลแห่งนี้ เขากล่าว 

"การคืนทุนก้อนใหญ่เราตั้งไว้ 5 ปีกำไรไม่เยอะ ค่าห้องเริ่มต้นที่ 450 บาท แต่เรามีความสุขกับมัน เพราะนำเงินเก็บมาลงทุน และมีธุรกิจอื่นที่สร้างรายได้ เราจึงไม่ต้องรีบคืนทุนเพราะไม่ได้กู้ แต่ทำไปเรื่อยๆ เพื่อให้แบรนด์และธุรกิจแข็งแรงและยั่งยืน”

โดยย้ำว่า แบรนด์โพสิชันนิ่งของ"หอม” จะเป็นนิยามที่ต่อยอดให้ธุรกิจไม่รู้จบ ให้คนมาเชื่อมกัน (Connect people )ด้วยเรื่องอาหาร ธุรกิจที่ต่อยอดแบบไม่มีขีดจำกัดโดยมีหอมเป็นจุดตั้งต้น ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ (Hom book), ขนมหวาน (Hom Dressert),ร้านอาหาร (Hom Restaurant) เป็นต้น