ส่องจุดแข็ง ‘JOOX’ ดันไทยฮิต มิวสิค สตรีมมิ่ง เบอร์1อาเซียน

ส่องจุดแข็ง ‘JOOX’ ดันไทยฮิต มิวสิค สตรีมมิ่ง เบอร์1อาเซียน

ภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญสร้าง เพลย์ลิสต์ เพื่อใช้แพลตฟอร์มจูกซ์สื่อสารกับผู้บริโภคผ่านเสียงดนตรี

การฟังเพลงแบบสตรีิมมิ่ง กำลังเติบโตก้าวกระโดดในไทย และหากพูดถึงผู้ให้บริการ “มิวสิค สตรีมมิ่ง” ในไทย แน่นอนว่าต้องมี “จูกซ์” JOOX จากค่าย “เทนเซ็นต์” ยักษ์อินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของจีน ที่วันนี้คนไทยทำสถิติสูงลิ่วฟังเพลงผ่าน จูกซ์ ราว 56% มากกว่าฮ่องกง มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เรียกว่า ขึ้นอันดับ 1 อาเซียนไปแล้ว ด้วยยอดดาวน์โหลดมากถึง 25 ล้านดาวน์โหลด ทั้งมีข้อมูลระบุว่า คนไทยฟังเพลงจากจูกซ์เฉลี่ยต่อคนราว 80 นาที

‘กรุงเทพธุรกิจ’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘กฤตธี มโนลีหกุล’ กรรมการผู้จัดการบริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ถึงแนวโน้มตลาด “มิวสิค สตรีมมิ่ง” และทิศทางจูกซ์ในไทยจากนี้

นายกฤตธี กล่าวว่า รูปแบบการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งในไทยเติบโตก้าวกระโดด ตั้งแต่จูกซ์เปิดให้ดาวน์โหลดทดลองใช้ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2558 ได้กระแสตอบรับที่ดี จนวันนี้จูกซ์ คือ มิวสิคแอพ ยอดนิยมอันดับหนึ่งของคนไทยไปเรียบร้อย มียอดผู้ใช้งานผ่านไอโอเอส 22% แอนดรอยด์ 78%

สู่“ไลฟ์ มิวสิค แพลตฟอร์ม”
ขณะที่ นีลเส็น สำรวจพบว่า คนไทยรู้จักฟังเพลงผ่านมิวสิค แอพพลิเคชั่น และเว็บไซต์สูงถึง 88% และจูกซ์ก็เป็น Top of Mind ทางด้านนี้ถึง 40%

ด้านเทรนด์การฟังเพลงใน จูกซ์ คนไทยยังนิยมฟังเพลง “ไทย” มากสุด 82% รองลงมา เป็นแนวป็อป 36% และ ร็อค 27% และพบว่าคนไทยนิยมดาวน์โหลดเพลงมาเก็บไว้ก่อน เพื่อฟังได้ทุกเวลาแม้ไม่มีอินเทอร์เน็ต ตรงนี้มีสัดส่วนสูงถึง 80%

"สำหรับปี 2560 ผมมองว่าจูกซ์จะกลายเป็น ไลฟ์ มิวสิค แพลตฟอร์ม ที่มอบประสบการณ์ทางดนตรีที่หลากหลายขึ้นให้ผู้ฟังเพลงคนไทย เรามีฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่าง จูกซ์ ไลฟ์ เปรียบเหมือนสถานีโทรทัศน์ด้านเพลง ปัจจุบันมีจำนวนรับชมเฉลี่ยต่อวันกว่า 300,000 ครั้ง ตอนนี้มีรายการและคอนเทนท์ทางดนตรีรวบรวมไว้แล้วกว่า 7 รายการ ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการรับชมคอนเทนท์ทางดนตรีแบบสดๆ แบบวิดีโอ"

นอกจากนี้ จูกซ์ ยังได้เพิ่มคอลัมน์เพลง สำหรับช่องทางประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ข้อมูลที่น่าสนใจในวงการเพลง มีผู้เข้ามาอ่านโดยเฉลี่ยปัจจุบันราว 37,000 ครั้งต่อวัน และปีนี้จะจัดกิจกรรมโรดโชว์ไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และปลูกฝังการฟังเพลงแบบถูกลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

คนฟังมิวสิคสตรีมมิ่งปีนี้64 ล้าน
นายกฤตธี กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีกลยุทธ์ขับเคลื่อน จูกซ์ หลายรูปแบบ รวมถึงเปิดให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงเพลงผ่านคอมพิวเตอร์บนเว็บไซต์สนุก ภายใต้ สนุก มิวสิค พาวเวอร์ บาย จูกซ์ (http://music.sanook.com) อีกช่องทางที่ดันให้จูกซ์ได้รับความนิยมต่อเนื่อง

ปัจจุบัน จูกซ์ มีเพลงในคลังมากกว่า 5 ล้านเพลง เป็นพันธมิตรกับค่ายเพลงครอบคลุมที่สุดในไทยกว่า 200 ค่าย มุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การฟังเพลงของคนไทยในยุค 4จี
ก่อนหน้านี้ แมคคินเซย์ ระบุว่า ปี 2560 จะมีคนใช้ มิวสิค สตรีมมิ่ง ในเอเชียสูงราว 64 ล้านคน เติบโต 13.5% ระหว่างปี 2557-2563 ด้วยฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่เข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้ เช่น แชร์เนื้อเพลง สร้างเพลย์ลิสต์ของตัวเอง ดาวน์โหลดเพลงฟังแบบออฟไลน์ หรือชมความบันเทิงแบบต่างๆ ผ่านไลฟ์สตรีมมิ่ง

นายกฤตธี กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ผลักดันให้ มิวสิค สตรีมมิ่งได้รับความนิยมในไทย นอกจากไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบเรื่องดนตรีของคนไทยแล้ว แรงขับเคลื่อนสำคัญ คือ ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่แรงขึ้นไม่ว่าจะมาจาก 3จี หรือ 4จี และราคาของสมาร์ทโฟนที่ถูกลง กลายเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อกับโลกดิจิทัล เสมือนปัจจัยที่ห้าการใช้ชีวิต

แบรนด์ใช้จูกซ์สื่อสารถึงลูกค้า
"ปัจจัยที่ขาดไม่ได้เลย คือ วิสัยทัศน์ค่ายเพลง ศิลปิน แบรนด์ และผู้ใช้งานในอีโคซิสเต็มส์นี้ ที่ปรับตัวชัดเจน จนปัจจุบันภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญสร้าง เพลย์ลิสต์ มากมาย อาทิ วาสลีน โค้ก เชลล์ หรือ ช้าง ฯลฯ เพื่อใช้แพลตฟอร์มจูกซ์สื่อสารกับผู้บริโภคผ่านเสียงดนตรี เป็นไอเดียที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์ในด้านการโฆษณา เติมสีสัน และความไม่น่าเบื่อให้เกิดขึ้นให้กับเจ้าของแบรนด์ ค่ายเพลง ศิลปิน ต่อผู้บริโภคเอง ปัจจุบันจูกซ์สร้างเพลย์ลิสต์ไว้มากกว่า 1,200 เพลย์ลิสต์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มนักฟังเพลงทุกเพศทุกวัย"

กลยุทธ์สำคัญของ จูกซ์ ปีนี้ เน้นวางแผนเพิ่มมูลค่าความเป็น จูกซ์ วีไอพี (JOOX VIP) ให้มากขึ้น โดยเตรียมคอนเทนท์พิเศษ เช่น คอนเสิร์ต โปรโมชั่น เฉพาะจูกซ์ วีไอพี

เมื่อถามถึง “จุดแข็ง” นายกฤตธี กล่าวว่า เพราะจูกซ์ เป็นโมเดลฟรีเมี่ยม ไม่เหมือนใครในตลาดไทย เป็นมิวสิคแอพพลิเคชั่นที่ให้ดาวน์โหลดติดตั้งฟรี ขณะที่มีให้ใช้งานทั้งแบบ “ฟรี” และ “จ่ายค่าบริการ” (วีไอพี) แบบฟรีมีโฆษณาคั่นระหว่างการใช้งาน ไม่สามารถฟังเพลงที่มีสัญลักษณ์วีไอพี คุณภาพเสียงระดับมาตรฐานทั่วไป ส่วนแบบวีไอพี ไม่มีโฆษณาระหว่างการใช้งาน เสียงคุณภาพสูง ดังนั้นผู้ใช้งานจูกซ์ สามารถฟังเพลงฟรี ได้ถึง 80-90% โดยไม่เสียค่าบริการใดๆ

"จุดเเข็งอีกอย่าง คือ ความเป็นโลคัล และเข้าใจพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ ขณะที่มีมีฐานผู้ใช้งานสนุกกว่า 30 ล้านคนต่อเดือน เป็นอีกช่องทางการสร้างการรับรู้"

ชูกลยุทธ์ O2O2O
สำหรับแนวทางการพัฒนา จูกซ์ ในอนาคต จะเน้นใช้กลยุทธ์แบบ O2O2O หรือ Online to Offline and back to Online Experience มากขึ้น โดยจะดึงคนที่อยู่ออฟไลน์ ให้มีประสบการณ์การฟังเพลง หรือคอนเทนท์เกี่ยวกับเพลงบนออนไลน์ และคนที่อยู่บนออนไลน์ มาร่วมกิจกรรมออฟไลน์ที่จูกซ์จัดขึ้น กิจกรรมออฟไลน์นี้ สามารถถูกไลฟ์สตรีมมิ่ง เพื่อกลับไปอยู่บนโลกออนไลน์ให้ทุกคนได้เสพคอนเทนท์ได้ทั่วถึง

นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น จูกซ์ ไลฟ์ ซึ่งนำเสนอคอนเสิร์ต รายการเพลง มาเพิ่มอรรถรสจากการฟังเพลงให้ผู้ใช้งานได้เสพคอนเทนท์ทั้งภาพและเสียง

ปัจจุบัน จูกซ์มีคอนเทนท์พาร์ทเนอร์ ที่เป็นค่ายเพลงไทยเเละสากลรวมกันทั้งสิ้นกว่า 100 ค่ายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น แกรมมี่, อาร์เอส, โซนี-บีอีซี, สไปซี่ ดิสก์, วอร์เนอร์ มิวสิค, ยูนิเวอร์แซล มิวสิค, สมอลรูม, วอท เดอะ ดัค ฯลฯ

ส่วนเทคโนโลยีใหม่อย่าง ไอโอที เออาร์ หากช่วยเสริมประสบการณ์ให้เเก่ผู้ใช้ของจูกซ์ ก็พร้อมนำมาพัฒนาเพิ่มขึ้น

"ถ้าพูดถึงฟีเจอร์ที่น่าโดนใจผู้ใช้งาน และใช้แนวทางของ ยูสเซอร์ เจเนอเรท คอนเทนท์ (UGC) ที่เราเพิ่งปล่อยไป เรียกว่า ยูสเซอร์ เพลย์ลิสต์ ผู้ใช้งานจูกซ์ สามารถสร้างเพลย์ลิสต์และเลือกปล่อยให้เป็นพับลิกได้ให้ผู้ใช้งานคนอื่นๆ มาติดตามฟัง และเลือกดาวน์โหลดเก็บไว้ ฟีเจอร์นี้เพิ่งเปิดตัวไป มีผู้ใช้งานเปิดเพลย์ลิสต์เป็นพับลิกแล้วกว่าหนึ่งแสนเพลย์ลิสต์ เร็วๆ นี้ จะมีกิจกรรมกระตุ้นให้ทุกคนสร้างเพลย์ลิสต์ดีๆ บนจูกซ์มากขึ้น"

เจาะยุทธศาสตร์ ‘เทนเซ็นต์’
ขณะที่ ยุทธศาสตร์ เทนเซ็นต์ ในตลาดไทยปีนี้ นายกฤตธี กล่าวว่า เน้นสร้างแพลตฟอร์มด้านคอนเทนท์และบริการครอบคลุม 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.นิวส์ และ พอร์ทัล เช่น บริการ ข้อมูล ข่าวสาร สาระ บันเทิง บนเว็บไซต์ www.sanook.com โมบายแอพพลิเคชั่นเกาะกระแส ข้อมูล ข่าวสาร สำหรับกลุ่มคนเมือง คนรุ่นใหม่

2.เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และมัลติมีเดีย แพลตฟอร์ม เช่น บริการเพลงออนไลน์ฟังผ่านจูกซ์ บริการเกมมือถือ 3. บริการดิจิทัล เช่น เอเจนซี่แบบครบวงจรจากท็อปสเปซ โดยได้ขยายบริการครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์และบริการของเทนเซ็นต์ เช่น ลูกค้าท็อปสเปซสามารถสร้าง วีแชท ออฟฟิศเชียล แอคเค้าท์ และซื้อสื่อในวีแชทสำหรับธุรกิจที่จะขยายไปจีน และต้องการสื่อสารกับผู้บริโภคชาวจีน หรือคนไทยที่อาศัยอยูู่ในประเทศจีน

“บันเทิงออนไลน์” มูลค่าตลาดกว่า 1.2 หมื่นล.
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยประเมินว่า การขยายตัวของฐานผู้ใช้งาน 4จี น่าจะมีส่วนสำคัญต่อการผลักดันธุรกิจการให้บริการบันเทิงออนไลน์ในยุค 4จี ให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง รับชมภาพยนตร์/ซีรี่ส์ รายการโทรทัศน์ และเล่นเกมออนไลน์ เป็นโอกาสทางธุรกิจต่อผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหาบันเทิง รวมถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคมแบบไร้สายที่เริ่มมีการขยายฐานรายได้จากการให้บริการบันเทิงออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

โดยประเมินว่า เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น และกลยุทธ์ทางการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการในยุค 4จี จะส่งผลให้ผู้บริโภคไทยมีแนวโน้มรับบริการบันเทิงออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน แทบเล็ต ส่งผลให้ตลาดบริการบันเทิงออนไลน์น่าจะมีมูลค่ารวมราว 12,920 ล้านบาท โต 13.9% จากปี 2558 ที่มีมูลค่าราว 11,340 ล้านบาท