จับพะยูนติดสัญญาณดาวเทียมเพิ่มอีก 3 ตัว

จับพะยูนติดสัญญาณดาวเทียมเพิ่มอีก 3 ตัว

นักวิชาการจับพะยูนติดสัญญาณดาวเทียมได้เพิ่มอีก 2 ตัว ครบจำนวนแล้ว 3 ตัว ทีมแพทย์ยืนยันผลศึกษาดีเอ็นเอพะยูน พบค่าของเลือดใกล้เคียงกับพะยูนออสเตรเลีย

นายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ รศ.สพญ.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทีมสัตว์แพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ครูดรล์ รัตนทัศนีย์ ครูผู้มีชื่อเสียงด้านการผลิตสื่อภาพยนตร์ และ ครูสอนดำน้ำ และภาคีเครือข่ายตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดตรัง ใช้วันสำคัญซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลก (22 เมษายนของทุกปี) ร่วมกันจับพะยูนติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณดาวเทียมติดตามตัวได้เพิ่มอีก 2 ตัว เป็นพะยูนเพศผู้ทั้ง 2 ตัว

โดยตัวแรกตั้งชื่อ ว่า “เอิร์ท” ยาวประมาณ 2.44 เมตร น้ำหนักประมาณ 240 กิโลกรัม ตัวที่ 2 ตั้งชื่อว่า “คุ้มครอง” ยาวประมาณ 2.61 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 260 กิโลกรัมโดยทั้งสองตัวเป็นพะยูนตัวเต็มวัย สุขภาพแข็งแรง โดยตัวแรก “เอิร์ท” พบมีบาดแผลกรีดยาวลึกและรอยขีดข่วนทั่วบริเวณแผ่นหลัง ที่เกิดจากคมเขี้ยวของคู่ต่อพะยูนเพศผู้อีกตัว ที่ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงพะยูนเพศเมีย โดยทางทีมสัตว์แพทย์นอกจากการเก็บตัวอย่างเลือด ตัวอย่างดีเอ็นเอ ตรวจวัดขนาด ตรวจสุขภาพทั่วไป วัดอุณหภูมิของร่างกายแล้ว ซึ่งพบว่าอุณหภูมิของพะยูนซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีปริมาณค่าใกล้เคียงกับมนุษย์คือ 36.1 องศาเซลเซียส การถ่ายภาพเก็บบันทึกทั้งบนน้ำและใต้น้ำ

โดยเฉาพะบริเวณส่วนหางซึ่งบ่งบอกอัตลักษณ์ของพะยูนแต่ละตัว เพื่อนำข้อมูลไปศึกษาวิจัยต่อไปแล้ว ทางทีมสัตว์แพทย์ยังได้ทำการทายา เพื่อรักษาบาดแผลต่างๆป้องกันการติดเชื้อให้ด้วย หลังจากนั้นได้ทำการติดตั้งสัญญาณดาวเทียมติดตามตัวพะยูนแล้วปล่อยคืนธรรมชาติไป ซี่งครั้งนี้ทางทีมแพทย์ยังได้เก็บตัวอย่างเลือดและตรวจร่างกายให้กับเตาตนุ เพศเมีย น้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัมด้วย ซึ่งการเก็บตัวอย่างเลือดของทั้งเต่าและพะยูนในครั้งนี้ ทางทีมสัตว์แพทย์เก็บตัวอย่างในปริมาณที่มากกว่าการเก็บตัวอย่างตัวแรก หรือจักรี ที่ติดตั้งสัญญาณดาวเทียมตัวแรก ซึ่งนอกจากเอาเลือดส่วนหนึ่งไปตรวจเม็ดเลือดแล้ว ยังจะนำไปวิเคราะห์ฮอร์โมน เพื่อประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ เตรียมการขยายพันธุ์ในอนาคตต่อไป

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติงานตลอดทั้งวัน พบเห็นพะยูน “จักรี” ซึ่งเป็นพะยูนเพศผู้ ที่ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการติดตั้งสัญญาณดาวเทียมทรงกระบอกสีแดง ไปเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 17 วัน เข้ามาว่ายน้ำกินหญ้าทะเลตามปกติบริเวณหาดหยงหลำ- เกาะมุกด์ โดยทางทีมสัตว์แพทย์ได้ดำน้ำเข้าไปดูในระยะใกล้ พบว่าพะยูนจักรีมีสุขภาพแข็งแรง ว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่เป็นอุปสรรคในการหากินหญ้าทะเล จากการลากสายสัญญาณติดตามตัวแต่อย่างใด

นายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม กล่าวว่า จากการติดตั้งสัญญาณดาวเทียมให้กับพะยูนตัวแรก ชื่อ จักรี เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นข้อมูลวิชาการที่ดีที่สุดยอดที่สุดในประเทศไทยในกระบวนการจัดการพะยูน สามารถรู้ถึงเส้นทางหากิน แหล่งอาศัยของพะยูนชื่อ จักรี โดยช่วงน้ำทะเลขึ้น พะยูน “จักรี” จะเข้ามาหากินบริเวณหาดหยงหลำจุดที่ทำการจับ วันละ 2 รอบ คือ เช้า-เย็น ส่วนเวลาน้ำลงพะยูน “จักรี” ก็จะเคลื่อนย้ายตัวเองไปอยู่ตามจุดต่างๆที่มีน้ำลึกประมาณ 8 – 10 เมตร

ซึ่งถือเป็นงานอีกรูปแบบหนึ่งทางด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยสำหรับคนที่สนใจพะยูน ก็จะเป็นการค้นหาพื้นที่หลับนอน แหล่งอาศัย โดยข้อมูลที่ได้พบว่า ทิศเหนือ พะยูนจะเคลื่อนย้ายตัวเองไปทางท่าเรือปากเมง ทางด้านทิศตะวันตกพบว่าไปถึงทิศตะวันตกของเกาะกระดาน ส่วนทางด้านทิศใต้ไปถึงบริเวณรอยต่อระหว่างเกาะมุกด์กับเกาะลิบง ซึ่งพะยูนจักรีก็จะหากินอยู่บริเวณตรงนี้ เป็นประจำทุกวัน และติดตั้งได้ทั้ง 3 ตัว ข้อมูลแต่ละตัวก็จะนำมาทับซ้อน หรือเทียบเคียงกันว่าพะยูนทั้ง 3 ตัวจะมีการเคลื่อนย้ายไปในลักษณะอย่างไร แต่ปริมาณแค่ 3 ตัวที่จับติดตั้งสัญญาณดาวเทียมไปนั้น ไม่สามารถจะทราบลักษณะนิสัย แหล่งอาศัย อยู่กินของพะยูนในทะเลตรังที่มีประมาณ 169 ตัว จากการบินสำรวจล่าสุดของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ เพราะตามทฤษฎีการจับจะต้องใช้ตัวแทนของแต่ละฝูง เพื่อจะได้รับทราบจุดไข่แดงของมัน

ซึ่ง 3 ตัวที่จับได้ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมนั้นเป็นแค่โครงการนำร่องเท่านั้น เพื่อให้ทุกฝ่าย รวมทั้งคนไทยได้รับรู้ว่าจังหวัดตรังเรามีแหล่งไข่แดง ถิ่นอาศัยของสัตว์ทะเลหายากสำคัญระดับโลกที่อยู่ในพื้นที่นี้ ส่วนการจะติดกี่ตัวเพื่อให้สามารถตรวจสอบพฤติกรรมโดยภาพรวมของพะยูนที่มีทั้งหมดจากผลการบินสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเมื่อเร็วๆนี้ มีจำนวน 169 ตัว จะขึ้นอยู่กับจำนวนฝูงเปอร์เซ็นต์ของประชากรในแต่ละฝูง ในการที่จะรู้ว่าประชากรในบริเวณตรงนี้อยู่อย่างไร และเมื่อเราเฝ้าระวังและบริเวณพื้นที่อยู่ในลักษณะมาตรฐานที่เราควบคุมได้เราก็จะสามารถแยกกลุ่มประชากรได้ ซึ่งเมื่อแยกกลุ่มประชากรได้เราอาจจะคัดเลือกตัวแทนของกลุ่มประชากรในแต่ละพื้นที่เพื่อค้นหาความลับของพะยูนต่อไป ในบริเวณหาดเจ้าไหมมีประมาณ 3 – 4 ฝูง ประมาณ 30 – 40 ตัว โดย 3 ตัวที่จับนี้ยังไม่ทราบว่าต่างฝูง หรือฝูงเดียวกัน ซึ่งข้อมูลจะได้จากสัญญาณดาวเทียมต่อไป

ด้าน รศ.สพญ.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เลือดของพะยูนตัวแรกที่จับได้เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ทางทีมสัตว์แพทย์ได้นำเม็ดเลือดไปตรวจพบว่า ค่าของเลือดที่ได้ก็อยู่ในมาตรฐานที่ได้ใกล้เคียงกับพะยูนในออสเตรเลียมาก ซึ่งก็น่าจะเป็นข้อมูลที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนกันได้ แต่ครั้งนี้เราได้เลือดไปมากกว่าเดิม เพื่อจะเอาไปตรวจหาฮอร์โมน ซึ่งพะยูนที่จับได้เพิ่มอีก 2 ตัว เป็นพะยูนตัวผู้ ซึ่งลักษณะฮอร์โมนก็จะสามารถจะบอกได้ว่า การผสมพันธุ์ของพวกมันจะเป็นไปตามฤดูกาลหรือว่าเป็นไปได้ตลอดทั้งปี ก็จะเป็นข้อมูลที่ใช้ในการอนุรักษ์ต่อไป ซึ่งถ้าช่วงไหนที่มีฮอร์โมนสูงตลอดปีที่จะทำต่อไป ก็จะสามารถบอกกับชุมชน พี่น้องประมงพื้นบ้านและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า เป็นช่วงที่พะยูนจะผสมพันธุ์ ก็ขอให้ทุกคนหลีกเลี่ยงหรือช่วยกันระมัดระวังด้วย หวังว่าจะได้เป็นประโยชน์ต่อไป

สิ่งที่ทางทีมสัตว์แพทย์คาดหวังอยากจะให้เกิดจากการทำงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้คือ ทางทีมสัตว์แพทย์เองเรามีวิทยาการที่จะทำการขยายพันธุ์ของหลายชนิดมากที่เป็นพื้นฐานสามารถนำมาใช้ได้ ทั้งการผสมจริง การเพิ่มความอยากผสม ไปถึงการผสมเทียม การถ่ายฝากตัวอ่อน รวมทั้งการโคลนนิ่ง คือ ทางทีมแพทย์ทำได้หลายอย่างมากในสัตว์ชนิดอื่น จึงอยากนำวิทยาการเหล่านี้มาใช้กับพะยูน ถ้ามีความจำเป็นและทำได้ ในอนาคตหากเกรงมันจะสูญพันธุ์ อาจต้องใช้ความรู้พื้นฐานที่ได้จากข้อมูลในธรรมชาติที่ได้ในลักษณะนี้ เพื่อสร้างสถานการณ์เลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุดก็มีโอกาสจะประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บน้ำเชื้อพะยูน การผสมเทียม และอื่นๆ คือ ในอนาคตถ้าเป็นไปได้เราอยากรีดน้ำเชื้อพะยูนตัวผู้ไว้ได้ แม้กระทั่งจากซาก

ซึ่งตอนนี้คณะสัตว์แพทย์ศาสตร์เองกำลังพัฒนาวิธีการที่จะเก็บอสุจิจากซากของพะยูนและซากของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ มาเก็บเอาไว้ วันหนึ่งพบเจอตัวเมียที่พร้อมจะผสมพันธุ์ก็จะใช้เชื้อเหล่านี้เข้าไปผสมได้ อันนี้อนาคตที่ทีมสัตว์แพทย์อยากจะทำ สิ่งหนึ่งที่ทางทีมสัตว์แพทย์หรือนักวิชาการอยากจะเห็นมากคือ อยากเห็นความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ซึ่งปัจจุบันเห็นว่ามีแนวทางไปทางที่ดีมากขึ้น คือ มีการแชร์ข้อมูลกันมากขึ้น ถ้าฝ่ายใดสนใจที่จะเรียนรู้เทคนิคซึ่งกันและกันหรือต้องการข้อมูลในการเก็บตัวอย่างมาทำงานร่วมกันก็จะเป็นประโยชน์และนิมิตหมายอันดีที่เราจะอนุรักษ์พะยูนให้คงอยู่ ไม่เฉพาะที่จังหวัดตรัง แต่เป็นของประเทศไทย และเป็นผลงานของโลกด้วย ที่ผ่านมาแม้ทุกฝ่ายจะทำ แต่เน้นการปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน ทำกันในส่วนเฉพาะที่ตัวเองรับผิดชอบหรือพื้นที่ตนเองดูแลเป็นหลัก แม้จะมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการอนุรักษ์ แต่หน่วยงานระดับสถาบันการศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสัตว์แพทย์ศาสตร์เป็นเหมือนหน่วยงานกลางที่เราจะมีวิทยาการด้านวิชาการต่างๆที่พร้อมจะเข้ามาสนับสนุนหน่วยงานทั้งหลาย ซึ่งในการจับพะยูนติดสัญญาณดาวเทียมของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมในครั้งนี้ หลังจากที่ได้ลงมาติดตามและทำงานร่วมในเชิงวิทยาศาสตร์แล้วถือว่าเป็นจับพะยูนที่ทำได้ให้เกิดความเครียดต่อสัตว์น้อยมาก หวังว่าค่าต่างๆที่ได้มาก็จะชี้ให้เห็นว่าผลที่จะจับเหล่านี้มีความปลอดภัยกับสัตว์แค่ไหน คราวที่แล้วทีได้มากก็พบว่าความเครียดของสัตว์อยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก