‘เมือกเห็ด’ความต่างในเครื่องสำอาง

‘เมือกเห็ด’ความต่างในเครื่องสำอาง

นักวิจัยธรรมศาสตร์ฉีกตลาดผลิตภัณฑ์เห็ด ศึกษาเชิงลึกพบสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ให้กับผิว ต่อยอดสู่เครื่องสำอางเมือกเห็ด 5 ชนิด เตรียมต่อยอดเชิงพาณิชย์ขยับสู่สตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมพร้อมงานวิจัยด้านเห็ดราอื่นๆ

“ด้วยความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช ทำให้มีข้อมูลเรื่องเห็ด รา แบคทีเรียอยู่ในมือมาก ประกอบกับชาวบ้านที่ไปช่วยแนะนำเรื่องการเพาะเห็ดมีผลผลิตจำนวนมาก บางชนิดมีราคาสูง ตลาดแคบ อยากเพิ่มมูลค่าให้กับเห็ด จึงศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับเห็ดหลายชนิด และพบว่ามีสารสำคัญที่น่าสนใจในเมือกเห็ด” ผศ.ดุสิต อธินุวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว

สารสำคัญเพิ่มมูลค่าให้เห็ด

เมือกเห็ดมีสารสำคัญอยู่มากมายแต่ที่น่าสนใจคือ แซนทีนและไตรทิลบอเรต สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงชะลอวัยและคุณสมบัติแอนตี้-ไบโอติกเหมาะสำหรับผิวแพ้และเป็นสิวง่าย จึงนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวโดยพัฒนาสูตรให้เป็นออร์แกนิก

“ซีรั่มเมือกเห็ดนาโน สำหรับมาสก์หน้าลดริ้วรอย” เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์นำร่องที่ใช้สารสกัดจากเมือกเห็ด 5 ชนิด และสมุนไพรไทยอนุภาคนาโน พร้อมโกรทแฟคเตอร์ต่างๆ โดยไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอร์ เมื่อนำไปทดสอบกับอาสาสมัคร 30 คน พบว่า ช่วยเรื่องของการกระชับผิว อ่อนวัย ลดเลือนริ้วรอย เพิ่มความชุ่มชื้นและปรับสีผิวให้เรียบเนียน

“ความท้าทายคือ การพัฒนากระบวนการสกัดสารสำคัญจากเมือกเห็ดชนิดต่างๆ ให้ได้สารออกมาในปริมาณมาก ไม่สูญสลายไประหว่างกระบวนการสกัดรวมถึงพัฒนาสูตร ให้สามารถใส่สารสำคัญชนิดเข้มข้น เพื่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่ระคายเคืองผิว ซึ่งเราใช้เวลากว่า 9 เดือนในการพัฒนา 2 ส่วนนี้จนสำเร็จ” นักวิจัยกล่าว

4 ผลิตภัณฑ์นำร่องจากเมือกเห็ด ได้แก่ มาร์ก ซีรั่ม สบู่และสเปรย์น้ำแร่ผสมเมือกเห็ด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อขยายสเกลการผลิตรวมถึงศึกษาการตลาดเชิงลึก ทั้งนี้ เมือกเห็ดมีความเป็นไปได้ในเชิงการตลาด เพราะเหมาะกับผิวแพ้ง่าย ตอบโจทย์ผิวทั้งเอเชียและยุโรป สามารถทำตลาดโลกได้ จึงจะทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุดได้รับรางวัลเหรียญเงินจากนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งที่ 45 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

“จากการไปออกบูธที่สวิสได้เปิดโอกาสทางการตลาด โดยทางเกาหลีแสดงความสนใจที่จะซื้อสารสำคัญ ในขณะที่มีผู้สนใจเป็นดิสทริบิวเตอร์สำหรับการทำตลาดยุโรป ในขณะที่ตลาดในไทยคาดว่าจะเปิดตัวในรูปแบบของสตาร์ทอัพนวัตกรรมที่รับถ่ายทอดสิทธิบัตรเมือกเห็ด จดสิทธิบัตรภายใต้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อสร้างแบรนด์ต่อไป” ผศ.ดุสิตกล่าว

สตาร์ทอัพนวัตกรรมหน้าใหม่

นอกจากซีรั่มเมือกเห็ดแล้ว ยังมี “ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติกระตุ้นภูมิคุ้มกันพืช”นำร่องภายใต้การขยายตัวเป็นสตาร์ทอัพนวัตกรรม โดยเป็นการใช้จุลินทรีย์ควบคุมโรคพืชและกระตุ้นภูมิต้านทานพืชไปพร้อมกันโดยพัฒนาให้เป็นชีวภัณฑ์ในรูปผงผสมน้ำ สำหรับกระตุ้นภูมิต้านทานพืชจากการเข้าทำลายของโรคพืชและลดความเสียหายจากแมลงศัตรูพืช เป็นสารสกัดจากสมุนไพรไทยอนุภาคนาโน ผสมกับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์

นักวิจัยพัฒนากระบวนการเตรียมแบคทีเรีย 2 ชนิดคือ บาซิลัสและซูโดโมแนสให้ทนความร้อนได้มากขึ้นที่ 120-140 องศาเซลเซียล สามารถนำไปผ่านกระบวนการเพื่อใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น โดยไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรม จากนั้นพัฒนาสูตรให้ผลิตภัณฑ์นี้ไปเกาะรากพืช ทำให้พืชสังเคราะห์กรดซาลิไซลิค เพิ่มภูมิคุ้มกันพืชและกระตุ้นการเพิ่มของสาร Indole-3-Acetic Acid (IAA) ฮอร์โมนธรรมชาติที่ช่วยให้พืชมีการเจริญเติบโตที่ดี

“ผลิตภัณฑ์จะเหมาะกับพืชตระกูลส้ม ข้าวและผักตระกูลกะหล่ำเราวางกลุ่มเป้าหมายเป็นคนเมืองที่อยากปลูกพืชผักกินเองในครัวเรือน ซึ่งต้องการเลี่ยงสารเคมี รวมถึงคนที่ชอบไม้ดอกไม้ประดับ โดยจะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะสร้างแบรนด์เองในลักษณะสตาร์ทอัพนวัตกรรม ส่วนตลาดต่างประเทศนั้นมีเยอรมนีที่สนใจ ซึ่งต้องหารือในรายละเอียดต่อไป” ผศ.ดุสิต กล่าว