ขยายผลลุย 'เอ็มบีไอกรุ๊ป' 20บริษัทฉาว หลังถูกอายัดเงิน83ล้าน

ขยายผลลุย 'เอ็มบีไอกรุ๊ป' 20บริษัทฉาว หลังถูกอายัดเงิน83ล้าน

รองอธิบดีดีเอสไอ เผยเร่งขยายผลสอบ "เครือเอ็มบีไอกรุ๊ป" 20 บริษัทฉาว ลักลอบนำเงินตราต่างประเทศเข้าไทย ใช้นอมินีร่วมหุ้นตั้งบริษัท5แห่ง หลังถูกอายัดเงิน83ล้าน

พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงการขยายผลตรวจสอบธุรกิจในเครือบริษัทเอ็มบีไอ กรุ๊ป ว่า ดีเอสไอได้ร่วมตรวจสอบขยายผลกลุ่มบริษัทดังกล่าวมาเป็นเวลาพอสมควร ตามที่ก่อนหน้านี้ได้รับมอบหมายจากพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งให้ดีเอสไอเข้าดำเนินการใน 2 มาตรการ คือ ด้านการเงินและภาษี และรูปแบบการจัดตั้งบริษัทผิดกฎหมาย โดยในส่วนของภาษีได้ร่วมมือกับกรมสรรพากรตรวจสอบเครือบริษัทเอ็มบีไอกรุ๊ป เพื่อประมวลการจัดเก็บภาษี และได้ประสานให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจสอบการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งมีการใช้นอมินีคนไทยร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อจดทะเบียน

ขณะนี้พบหลักฐานการใช้นอมินีคนไทยมาร่วมจัดตั้งบริษัทแล้ว 5 แห่ง นอกจากนี้ ในการนำกำลังเข้าตรวจค้นครั้งล่าสุด พบเอกสารหลักฐานจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการนำสกุลเงินต่างชาติ ซึ่งไม่มีที่มาที่ไปเข้ามาในประเทศไทย แล้วใช้ชื่อกรรมการบริษัทชาวไทย ที่มีสถานะเป็นนอมินีทำสัญญายืมเงิน ซึ่งดีเอสไอมีพยานปากสำคัญเข้าให้ข้อมูลยืนยันว่าเอกสารทางการเงินที่จัดทำขึ้นเป็นเท็จทั้งหมด โดยคาดว่าเงินสกุลต่างชาติถูกลักลอบนำเข้าผ่านช่องทางธรรมชาติระหว่างชายแดนไทย-มาเลเซีย

พ.ต.ต.สุริยา กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มบริษัทเอ็มบีไอ กรุ๊ป มีบริษัทหลัก 16 แห่ง และแตกสาขาย่อยเป็นบริษัทลูกรวมแล้วมากกว่า 20 บริษัท มีทั้งการจัดตั้งบริษัทในรูปแบบที่ไม่มีคนไทยเข้าร่วมเป็นกรรมการ และรูปแบบที่ใช้คนไทยเป็นนอมินี โดยพื้นที่เป้าหมายที่นำกำลังเข้าตรวจค้นพบมีสภาพคล้ายวิลล่าที่ใช้รองรับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ภายในมีระบบเอนเตอร์เทนเมนท์ครบวงจรทั้งห้องพัก ร้านค้า และร้านอาหารที่ตกแต่งอย่างหรูหรา

ทั้งนี้ จากข้อมูลในชั้นสืบสวนพบว่าเครือบริษัทดังกล่าว มีประวัติต้องคดีฉ้อโกงประชาชนจากการทำแชร์ลูกโซ่หลอกลวงชาวมาเลเซีย ก่อนจะย้ายมาเปิดกิจการในประเทศไทย ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะขยายกิจการแชร์ลูกโซ่ในพื้นที่ประเทศไทยแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกิจการเครือเอ็มบีไอกรุ๊ป ในปี 56 ได้แถลงข่าวเปิดตัวอาณาจักรท่องเที่ยวครบวงจรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่านักลงทุนชาวมาเลเซียหอบเงินพันล้านเข้ามาเปิดกิจการท่องเที่ยวในภาคใต้ของไทย ต่อมาเมื่อต้นปี 2559 กอ.รมน. ภาค4 และดีเอสไอสนธิกำลังเข้าตรวจสอบธุรกิจของบริษัทเอ็นบีไอกรุ๊ปในจังหวัดสงขลา และอายัดเงินสดทั้งเงินสกุลบาท เงินริงกิต เงินหยวน และเงินดอลล่าร์ไต้หวัน มูลค่า 83 ล้านบาท