สหรัฐขีดเส้น10พ.ค.แจงเหตุเกินดุลการค้า

สหรัฐขีดเส้น10พ.ค.แจงเหตุเกินดุลการค้า

สหรัฐขีดเส้น 13 ประเทศรวมไทยแจงข้อมูลเกินดุลการค้าสหรัฐ 10 พ.ค.นี้ "พาณิชย์" เชื่อไทยไม่เข้าข่าย แค่กังวลประเด็นสิทธิบัตร

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่าเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐ ได้รายงานกรณีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์การขาดดุลการค้าของสหรัฐภายใน 90 วัน ตามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีสหรัฐ (Executive Order)ส่งมายังกระทรวงพาณิชย์ของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ภายใต้การศึกษา และเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐในปี 2559 จากทั้งหมด13 ประเทศ คือ แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม

ข้อมูลที่ทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐต้องการทราบจาก 13 ประเทศ ได้แก่ สาเหตุหลักของการขาดดุล โดยพิจารณาถึงมาตรการด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี การทุ่มตลาด (เอดี) การอุดหนุนจากรัฐบาล การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี มาตรฐานแรงงานและระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน รวมทั้งข้อมูลการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบ หรือมีการปฏิบัติที่เพิ่มภาระ หรือการเลือกปฏิบัติ จนเกิดความไม่เป็นธรรมต่อการค้าของสหรัฐและผลกระทบของการค้ากับประเทศนั้นๆ ต่อกำลังการผลิต

อีกทั้ง ยังต้องการทราบถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตของแต่ละประเทศ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ความมั่นคงภายใน การจ้างงาน ค่าจ้างสหรัฐและสินค้านำเข้ารวมทั้งการปฏิบัติทางการค้าที่อาจมีผลกระทบในทางลบต่อความมั่นคงภายในของสหรัฐ

ขณะเดียวกัน ยังต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของ การขาดดุลการค้าที่มาจากโครงสร้างภายในของสหรัฐความไม่สมดุลทางการค้าที่เกิดจากประเทศที่ไม่มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดปัญหาการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรมที่มาจากการอุดหนุนของรัฐบาล 13 ประเทศ จนทำให้สหรัฐขาดดุลการค้า

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังต้องการข้อมูลประกอบการศึกษาจาก 13 ประเทศในประเด็นของการขาดดุลที่เกิดจากความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) การบังคับใช้กฎหมายที่ขาดความเข้มงวดและกลไกระงับข้อพิพาท ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาขาดดุล และปัจจัยอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดการขาดดุลการค้า

ทางสหรัฐกำหนดให้ผู้สนใจ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนของทั้ง 13 ประเทศ ยื่นข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ และจะเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะวันที่18 พ.ค.นี้

กังวลประเด็นสิทธิบัตร

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศกรุงวอชิงตัน ได้ศึกษาข้อมูลและเห็นว่าประเด็นที่ไทยไม่เข้าข่าย หรือมีความเสี่ยงต่ำในการพิจารณาตามข้อกำหนดของสหรัฐ ได้แก่ ปัจจัยภายในประเทศเชิงโครงสร้างของสหรัฐ เพราะปัจจุบันสหรัฐ ไม่มีการผลิตสินค้า และจำเป็นต้องนำเข้า รวมทั้งปัจจัยจากข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) และเอฟทีเอ ที่บั่นทอนสิทธิและผลประโยชน์ของสหรัฐ เพราะขณะนี้ไทยยังไม่มีเอฟทีเอกับสหรัฐ ขณะที่ประเด็นเอดี ปัจจุบันสินค้าไทยถูกเรียกเก็บอากรเอดีมี 8 รายการ และที่ผ่านมาบางสินค้าไม่พบการทุ่มตลาด ส่วนการแทรกแซงค่าเงินไทยไม่ได้ใช้มาตรการนี้แน่นอน

ประเด็นที่น่ากังวลต่อไทยมากที่สุด ได้แก่ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในการเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะประเด็นปัญหาอุปสรรคทางการค้าสำคัญที่สหรัฐ เพ่งเล็ง และระบุรายงานประเมินสถานการณ์การค้าของประเทศคู่ค้าประจำปี 2560 ซึ่งได้หยิบยกขึ้นหารือกับไทยในการประชุมร่วมภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้า และการลงทุนไทย-สหรัฐ เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะการละเมิดบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ

อีกทั้งยังมีปัญหาการจดทะเบียนสิทธิบัตรล่าช้ามาก โดยสหรัฐ จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 และจะประกาศผลการทบทวนสิ้นเดือน เม.ย.นี้

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางเทคนิค และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช โดยเฉพาะการยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อสุกรและเครื่องในที่มีสารแรคโตพามีน (สารเร่งเนื้อแดง) และการติดฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงนโยบายนำเข้าของไทย เช่น มาตรการทางศุลกากรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การกีดกันการค้าในภาคธุรกิจ และการลงทุน เป็นต้น

เอกชนจี้เร่งผลักดันทำเอฟทีเอ

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมข้อมูลเพื่อชี้แจงสาเหตุการขาดดุลการค้าของสหรัฐ ตามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีสหรัฐ ในมุมมองของภาคเอกชนเล็งเห็นถึงประเด็นสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเตรียมข้อมูลให้ชัดเจนเพื่อชี้แจง คือ 1.รายละเอียดของต้นทุนสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องการดัมพ์ราคา หรือทุ่มตลาด และ 2. มาตรการอุดหนุนสินค้าที่ไทยทำโดยเฉพาะสินค้าเกษตร ต้องชี้แจงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าไม่มากไปกว่าเกณฑ์มาตรฐานของประเทศอื่น

“ตอนนี้ยังมั่นใจว่าสหรัฐ ยังเป็นตลาดส่งออกที่ดี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องเตรียมข้อมูลชี้แจงให้ชัดเจนว่าไทยไม่ได้กระทบผิดเข้าข่ายทุ่มตลาดหรืออุดหนุนตลาดมากไป อีกทั้งจะต้องชี้แจงถึงโครงสร้างมาตรการสินค้าต่างๆ ว่าที่ผ่านมาไทยกีดกันสินค้าของทางสหรัฐ หรือไม่ รวมทั้งเรื่องของภาษีนำเข้าเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน"

นายวัลลภ กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องศึกษาการเปิดโอกาสสินค้าของสหรัฐ หรือแนวทางในอนาคตอาจจะนำมาสู่การเร่งเจรจาเอฟทีเอ เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้านำเข้าส่งออก และบริการต่างๆ ร่วมกันเป็นการปรับดุลการค้าของทั้งสองฝ่ายให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น

สหรัฐเร่งนำเข้าดันส่งออกโต

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสรท. กล่าวว่า จากนโยบายกีดกันทางการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังส่งผลบวกให้ผู้นำเข้าเร่งการนำเข้าสินค้ามากขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนในอนาคต สถานการณ์ดังกล่าวจะยังส่งผลดีต่อการส่งออกไทย เห็นได้จากภาพรวมส่งออกในเดือน มี.ค 2560 คาดว่าจะขยายตัว 5% อีกทั้งยังได้รับปัจจัยบวกในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย

“คาดว่าผลของนโยบายทรัมป์จะทำให้เกิดผลบวกต่อภาคการส่งออกไทยยาวไปอีกในช่วงไตรมาส 2 นี้ ส่วนสถานการณ์ส่งออกในช่วงไตรมาส 3 จะเริ่มเห็นผลกระทบในแง่ลบมากขึ้น เป็นผลจากนโยบายของสหรัฐ โดยเฉพาะนโยบายทางการทหาร ที่หากยังใช้นโยบายนี้ต่อเนื่อง อาจเสี่ยงการแทรกแซงจากมือที่ 3 จนไม่สามารถคุมสถานการณ์ และนำไปสู่การเกิดสงครามขึ้นจริง ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของโลกอย่างชัดเจน”