ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ รับมือเทคโนโลยีป่วน

ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ รับมือเทคโนโลยีป่วน

รอยต่อการเปลี่ยนตลาดสู่ดิจิทัล ใครจับถูกทางมีโอกาสกลายเป็นยักษ์ธุรกิจชั่วข้ามคืน ตามรอยเส้นทาง4องค์กร แปลงร่างสร้างตลาดใหม่ กับหมาก“วางคน” นำเทคโนโลยี

ผ่านไปเกือบทศวรรษที่เทคโนโลยีรุกคืบเข้ามาปั่นป่วน (Disrupt) ธุรกิจหนักข้อขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าธุรกิจจะยอมรับหรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น ทว่าไม่อาจหลีกหนี ดังนั้นมรรควิธีเดียวที่จะรอดพ้นเอื้อมมือเทคโนโลยี คือ การชิงเปลี่ยนเกมขี่กระแสเทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจให้ได้  

ผ่านคำบอกเล่าของ นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์(ประเทศไทย)จำกัด ผู้ให้บริการด้านการให้คำปรึกษา บริการด้านเทคโนโลยี และบริการเอาท์ซอร์ส ที่มีเครือข่ายธุรกิจอยู่ใน 120 ประเทศทั่วโลก เผยผลสำรวจกลุ่มผู้บริหารธุรกิจกว่า 3,100 คนในปีที่ผ่านมา พบว่า สัดส่วน 33% ของผู้สำรวจ ต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัล และอีก 86% มองว่า ภายใน3ปีจากนี้” จะเห็นการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เป็นไปเพื่อพลิกธุรกิจจาก ตลาดเก่า สู่ ตลาดใหม่

ไม่แปลกที่ในปีนี้ จะเห็นนักธุรกิจสุมหัวสนทนาถึงการเตรียมตัวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เสาะหากลยุทธ์แปลงร่างองค์กรพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ

กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ (ประเทศไทย) เผยให้เห็นถึง 5 เทรนด์การเปลี่ยนแปลงสำคัญ ที่กำลังจะมาแรงขึ้นเรื่อยๆ นักธุรกิจจึงต้องยึดเป็นแนวทางเคลื่อนองค์กร เริ่มด้วย 

  1. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ สมองกลต่างๆ จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจมากขึ้นในหลายเซกเตอร์มากขึ้น ไม่เพียงการพัฒนาระบบขับขี่แบบไร้คนขับอย่างที่เห็น แต่ AI จะเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าแทนมนุษย์ ทำหน้าที่บันทึกข้อมูล พฤติกรรมลูกค้า แปลงนำข้อมูลมาพัฒนาเป็นกลยุทธ์ธุรกิจมีชัยเหนือคู่แข่ง
  2. พลังแพลตฟอร์มใหม่ (Ecosystem Power Plays) ธุรกิจจะหลอมรวมทำงานอย่างบูรณาการทั้งในและนอกกลุ่มธุรกิจ ในลักษณะ“พันธมิตรธุรกิจ” ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในแพลตฟอร์มใหม่ ปลดล็อกรูปแบบเดิมๆ ก้าวข้ามไปสู่คลื่นธุรกิจใหม่ที่มีวิวัฒนาการทางธุรกิจในอนาคต ทั้งแง่มุมการตลาด และผลิตภัณฑ์ ฯลฯ อย่างไร้ขีดจำกัด
  3. รูปแบบการทำงานและทักษะทีมงานจะเปลี่ยนไป (Workforce Marketplace) ทักษะของคนทำงานในภาคธุรกิจจะเปลี่ยนไป เพื่อรองรับกับรูปแบบธุรกิจใหม่ ที่มีผู้เชื่อมระบบดิจิทัลเป็นพื้นฐาน คอยผลักดันคนเข้ามาสร้างสรรค์นวัตกรรมในการทำงาน รูปแบบการทำงานแบบเก่าๆ จะกลืนหายถูกแทนที่ด้วยระบบการทำงานอัจฉริยะ ที่มีความยืดหยุ่นสูง คนจึงต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว
  4. การออกแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับพฤติกรรมมนุษย์ (Design For Humans) เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ในทุกๆด้าน ทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจึงต้องออกแบบเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับการใช้งานของคนอย่างไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะเป็นระบบการทำงานระหว่างคนกับเครื่องจักร ให้มีประสิทธิภาพ ไม่แทนที่กัน แต่จะทำงานประสานกันคนละด้าน โดยเทคโนโลยีที่ออกแบบมาจะต้องสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ
  5. เทรนด์ความไม่คุ้นเคยใหม่ๆ (Uncharted) ทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ และมาตรฐานใหม่ในยุคดิจิทัลกลายเป็นสิ่งคุ้นเคยในอนาคตจากเดิมที่เคยไม่เชื่อมั่นก็เริ่มยอมรับระบบนิเวศน์ดิจิทัล หรือเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่จะเริ่มมีมาตรฐานใหม่ๆ เข้ามาช่วยกำกับดูแล

นนทวัฒน์ ยังเล่าถึงวิสัยทัศน์ของทีม เอคเซนเชอร์ ในการหลอมรวมการพัฒนาระบบไอทีให้สอดคล้องกับธุรกิจยุคใหม่ และการบริหารจัดการองค์กรใน 3 ปีจากนี้ ว่าจะต้องแนวคิดเหล่านี้ให้เป็นแผนปฏิบัติการ การปรับเปลี่ยนองค์กรให้เปลี่ยนตัวเองได้ทัน เห็นถึงสัญญาณสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม มองหาสิ่งใหม่ การบริการใหม่ๆ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาที่จะตามมา

เขายังเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องไม่ง่าย ต้องเริ่มต้นจาก “วิสัยทัศน์ผู้นำ” ที่จะต้องบอกถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงให้กับพนักงานรับทราบและยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น เพื่อป้องกันแรงต้าน

“ไม่ใช่แค่บอกว่า องค์กรต้องเปลี่ยนแล้วจบ แต่ต้องอธิบายให้พวกเขาเข้าใจ ว่าจะได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลง เพื่อจูงใจให้พนักงานเปลี่ยนวิธีคิดพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น"

นนทวัฒน์ ย้ำว่า ผลจากการเข้าไปช่วยวางระบบ แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนผ่าน ยังทำให้ค้นพบว่า ทุกอุตสาหกรรมพูดถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลเป็นเรื่องหลัก ชื่อของ บิทคอยน์ (Bitcoin) สกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ฟินเทค (Fintech) รวมถึงพร้อมเพย์ (Promtpay) รวมถึงบล็อคเชน (Blockchain) คำที่ไม่คุ้นหูเหล่านี้จะกลายเป็นความคุ้นชินเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจ

สิ่งสำคัญจึงต้องออกแบบคนในองค์กรให้พร้อมทำงานควบคู่กับเทคโนโลยี สอดรับกับ 5 เทรนด์ที่กล่าวแล้ว

สิ่งสำคัญในยุคหลังๆไม่ใช่เทคโนโลยี แต่คือการ สร้างคน” พร้อมกับการใช้เครื่องมือในยุคดิจิทัล

คนเป็นผู้นำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อการบริหารจัดการ รับผิดชอบและตัดสินใจได้รวดเร็ว เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน

องค์กรจึงต้องออกแบบหลักเกณฑ์การประเมินผลงานใหม่ (Key Performance Indicator -KPI) ให้คนพร้อมยอมรับความล้มเหลว (Fail) จากการประเมินผลงานการปฏิบัติการ (Performance Management)

การคิดเคพีไอของคนต้องให้โอกาสกับความล้มเหลวของคน เพราะแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน ไม่สามารถเอาไม้บรรทัดเดียวกันวัดได้ หลายองค์กรเปลี่ยนบริบทใหม่คุณถนัดอะไรให้ทำตรงนั้นให้ดี แล้วให้คนอื่นทำสิ่งที่คุณไม่ถนัดแทน” 

@SCB เข็นองค์กร111ปีสู่ถนนฟินเทค

ขณะที่ตัวอย่างการปรับตัวของธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล “กลุ่มธุรกิจธนาคาร” เป็น 1 ใน 4 กลุ่มธุรกิจที่ สีหนาท ล่ำซำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Payment and Disruptive Technology Office ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินว่า จะถูกเทคโนโลยีเข้ามาปั่นป่วนหนักนอกเหนือจากธุรกิจเทเลเคอม ธุรกิจสื่อ และธุรกิจค้าปลีก 

เขายังระบุว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ อยู่คู่สังคมไทยมากกว่า 111 ปี หลอมรวมคนทุกเจเนอเรชั่น มีวัฒนธรรมองค์กรยาวนาน เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาป่วน ทำให้พฤติกรรมผู้คนเปลี่ยนไป สาขาของธนาคารมีความหมายลดลงในการปฏิสัมพันธ์ทางการเงินกับลูกค้า เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นบนสมาร์ทโฟน

“อายุธนาคาร 111ปี โครงสร้างยังคิดเหมือนเดิม วันหนึ่งมีอีคอมเมิร์ซ เกิดธุรกิจตัวกลางทำหน้าที่เชื่อมต่อลูกค้าขณะที่ค่าธรรมเนียมถูกกว่าแบงก์ จากธุรกิจตัวกลางรายเล็กๆ ที่เราแทบมองไม่เห็นเหมือนมดตัวหนึ่ง จนสิบปีกลายเป็นบิ๊กไจแอนท์ ธนาคารจึงต้องปรับตัวให้ทัน”

นั่นจึงเป็นที่มาของการตั้งเป้าลงทุน 4 หมื่นล้านบาทใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อขยายธนาคารเข้าสู่ระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นการตั้ง Payment and Disruptive Technology Office และการเข้าไปลงทุนฟินเทคผ่านบริษัทดิจิทัล เวนเจอร์ส ทั้งในยุโรปและอเมริกา รวมถึงการร่วมทุนกับสตาร์ทอัพ เพื่อเข้าไปมองหาเครื่องมือใหม่ๆ จากสตาร์ทอัพ แล้วนำมาต่อยอดธุรกิจธนาคาร

“SCB เป็นองค์กรแรกๆที่มีฝ่ายดิจิทัล ทรานสฟอร์มฯ เพื่อสร้างโอกาสในธุรกิจดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาบริการใหม่ๆ โดยการบริการของ SCB จะตอบสนองความต้องการลูกค้าใน 2 กลุ่มคือ กลุ่มใช้เทคโนโลยีตั้งแต่เกิด (Native Digital) มีประสบการณ์การทำงานและธุรกรรมผ่านมือถือตั้งแต่เกิด ไม่กลัวการโอนเงินผ่านมือถือ และกลุ่มคนที่เพิ่งเรียนรู้กับเทคโนโลยี (Alien Digital) ตอนโต โดยเฉพาะกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ไม่กล้ารับความเสี่ยง ไม่ไว้ใจการโอนเงินผ่านมือถือ ทั้งสองกลุ่ม จะมีพฤติกรรมความไว้วางใจในการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน”

สำหรับหน่วยงานใหม่ด้าน Disruptive ที่ตั้งขึ้นมาใหม่มีหน้าที่เป็น “หัวขบวน” ที่แยกอิสระจากธนาคารเพื่อไปเสาะแสวงหาเทคโนโลยีการทำงานด้านการเงินแบบใหม่ๆ ในฟินเทคและสตาร์ทอัพ เพื่อนำกลับมาใช้ให้ลูกค้าทั้งสองกลุ่ม โดยธุรกิจใหม่นี้ จะต้องมี mindset ที่พร้อมล้มเหลว แต่ลุกให้เร็ว แล้วรีบทำใหม่

“ในอดีตคนในธนาคารจะเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ (Perfectman) ปิดความเสี่ยง อาจทำให้ไม่กล้าตัดสินใจ เช่น กว่าจะอนุมัติสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีรายหนึ่งต้องส่งไปถึงผู้จัดการและรอนานถึง 6 เดือน"

ดังนั้นจะต้องออกแบบเทคโนโลยีมาปิดความเสี่ยงเพื่อให้เร็วขึ้น ด้วยพัฒนาเครื่องมือสร้างกระบวนการวิเคราะห์สินเชื่อ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เข้ามาประเมินความเสี่ยงแทนคน

ขณะเดียวกันยังเข้าไปเรียนรู้วิธีการทำงานและเทคโนโลยีของกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อนำกลับมาใช้พัฒนาการกับคน SCB ให้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในองค์กร

@“อินเตอร์ลิงค์พลิกสายLAN สู่ดาตาเซ็นเตอร์

ด้านณัฐนัย อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการ บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ที่พาธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่อายุ 28 ปี เขาคือคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่เข้ามาพัฒนาธุรกิจนำเข้าสายLANของ ILINK ธุรกิจของพ่อ สมบัติ อนันตราพร ผู้เริ่มต้นธุรกิจจากนำเข้าสายสัญญาณคอมพิวเตอร์ (UTP) หรือ สายLAN จากสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2535 จนเป็นผู้นำเข้ารายเดียว ที่ขยายธุรกิจไปนำเข้าสายแบรนด์ LINK สอดรับกับยุคที่เมืองไทยกำลังขยายการวางโครงข่ายสายLAN เชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจบริษัท อินเตอร์ลิงค์ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทแม่ ขยายธุรกิจเป็น 3 ด้านคือ บริษัท 1.บมจ.อินเตอร์ลิงค์คอมมิวนิเคชั่น จำจัดหน่ายสายLAN มีลูกค้ากว่า 15,000รายกำลังขยายไปประเทศเพื่อนบ้านCLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) 2.บริษัท อินเตอร์ลิงค์ พาวเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์ยี่ ธุรกิจออกแบบก่อสร้างและติดตั้งโรงงานสายไฟต่างๆ ตั้งแต่โครงการสายเคเบิ้ลใต้น้ำ (Submarine Cable) และสายส่งไฟฟ้า (Transmission line) 

และ3. บมจ. บริษัท อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม พัฒนาโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง( Fiber optic) และพัฒนาไปสู่การบริการ ดาต้าเซ็นเตอร์ ธุรกิจบริการสำรองข้อมูล (Data Center) รองรับยุคสื่อสารใหม่คลาวด์คอมพิวติ้ง(Cloud Computing) รวมถึง อินเตอร์เน็เทเพื่อทุกสิ่ง (Internet of Things)

ธุรกิจอินเตอร์ลิงค์เปลี่ยนผ่านตัวเองเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆตลอดเวลา ตั้งแต่ เป็นผู้นำเข้าสายLANเพียงรายเดียวในประเทศ จนมีคู่แข่ง ก็พัฒนาธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม ไปสู่ธุรกิจเทเลคอมซึ่งบริหารงานโดยรุ่นลูก

รวมรายได้ 3ธุรกิจหลักมูลค่า 2,600 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาและปีนี้คาดว่าเติบโต 3,000 ล้านบาท

โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก เมื่อณัฐดนัย ลูกชายคนกลางจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจมาจากบอสตัน สหรัฐอเมริกา จึงต่อยอดจากธุรกิจไฟเบอร์ ออฟติค มองหาการวางโครงข่ายพื้นฐานระบบสื่อสารความเร็วสูง จึงกระโดดเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมในปี 2554 กระทั่งเป็นผู้ได้รับสัญญาสัมปทานจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)โครงข่ายสื่อสารตามเส้นทางรถไฟความยาว 35,000 กิโลเมตร 15 ปี

ณัฐดนัย เล่าย้อนถึงยุคที่เขาเข้ามาต่อยอดธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตยั่งยืนด้วยการเชื่อมโยงธุรกิจใกล้ตัวว่า เขามองเห็นชัดเจนว่าเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลภายในประเทศ จะเกิดการเติบโตและเปลี่ยนแปลงมหาศาล รวมถึงกลุ่มธุรกิจเขาก็เช่นกัน

“เราเติบโตมาจากการขายอุปกรณ์ไอที สายLAN จึงหาทางผลักดันตัวเองจากผู้จำหน่ายมาเป็นผู้ให้บริการ โดยใช้เทคโนโลยีมาต่อยอด ตอบโจทย์ในยุคปัจจุบัน เช่น การบริการข้อมูล อดีตจะต้องมีการเดินบันทึกการส่งน้ำหมดไปกี่ขวดและส่งกี่ขวด แต่ปัจจุบันมีระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่รับรู้ได้ไปส่งไปยังโรงงานผลิต และพร้อมส่งทันที “ เขาเล่าถึงความโชคดีที่ผันตัวเองมาพัฒนาด้านอินฟาสตรัคเจอร์ เป็นหัวใจสำคัญผู้ดิสรัปตลาดเทคโนโลยี

เขาบอกว่า การต่อยอดธุรกิจมาสู่ดาตาเซ็นเตอร์ เพื่อบริการข้อมูลที่กระจัดกระจายมาเก็บในศูนย์ข้อมูล เพื่อทำการวิเคราะห์ ค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดประโยชน์กับธุรกิจ องค์กร และการสื่อสารกับลูกค้า ที่จะไปออกแบบกลยุทธ์การเพิ่มยอดขาย ข้อมูลจึงถือเป็น กุญแจดอกสำคัญในธุรกิจยุคดิจิทัล ที่สำคัญกับทุกกลุ่ม

สำหรับเมืองไทยรอเพียงการเร่งวางโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลให้ครอบคลุมผู้ใช้งานภายในประเทศ ซึ่งเชื่อว่าคนในกรุงเทพ และคนส่วนใหญ่พร้อมแล้ว ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ขาดก็เพียงการพัฒนาโครงสร้างจากภาครัฐ

ปัญหาช่องว่างระหว่างเจเนอเรชั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ในการเปลี่ยนผ่าน หากมีการผสมผสานองค์ความรู้ของคนยุคก่อนกับคนยุคปัจจุบันได้อย่างสอดประสานกัน ใช้จุดแข็งและประสบการณ์ของคนแต่ละเจนมาเชื่อมกันอย่างไร้รอยต่อ โดยอาศัยเครื่องมือเทคโนโลยีมาเป็นตัวเสริม

“เจนใหม่แม้จะเก่งด้านเทคโนโลยีแต่ไม่สามารถผลักดันมาใช้ได้หากไม่มีแรงสนับสนุนจากคนยุคก่อน เด็กรุ่นใหม่มักมีความผิดพลาดจากความคิดใช้เทคโนโลยีจนเออร์ เช่น หากเราพัฒนาโลกการค้าที่ไม่มีการต่อรอง ปล่อยให้ค่าเงินวิ่งขึ้นวิ่งลงก็เสี่ยง หรือ หากไม่มีบล็อคเชน (Blockchain) ตัวกลางเข้ามาตรวจสอบฐานข้อมูลผู้ซื้อ ผู้ชาย อาจจะมีมิจฉาชีพแฝงตัวมา นั้นจึงเป็นข้อคิดที่ต้องมีการตรวจสอบ และจูนความรู้ระหว่างช่องว่างของเจนเก่ากับเจนใหม่ จนใหม่ต้องฟังเจนเก่าจึงใช้ประโยชน์จากความผิดพลาดมาต่อยอดและไม่ทำซ้ำ”

เขาสรุปบทเรียนว่า เทคโนโลยีมีทั้งมุมดีและไม่ดี ก่อนประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเจนเอ็กซ์ วาย หรือ แซด รวมถึงเบบี้บูมเมอร์ ต้องเข้าใจเทคโนโลยีก่อน ใช้เพื่อตอบโจทย์อะไร จึงเกิดประสิทธิภาพ

-------------------- 

EA 10ปีขยายสินทรัพย์ 

จาก 500 เป็น5หมื่นล้าน

อีกหนึ่งธุรกิจที่จะเปลี่ยนตัวเองจากพลังงานทางเลือกที่สัดส่วนเพียงเล็กน้อยในกลุ่มการใช้พลังงานที่มีสัดส่วนขยายตัวและมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี จนทำให้กลุ่มธุรกิจเติบโตจนเริ่มรับรู้รายได้ภายในปีนี้

ออมสิน ศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือEA เล่าถึงกลุ่มธุรกิจที่เป็นบริษัทน้องใหม่ในตลาดในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาเริ่มต้นจากสินทรัพย์มูลค่า 500 ล้านบาท ในปัจจุบันมูลค่าเกือบ5 หมื่นล้านบาท มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 404 เมกะวัตต์ ครอบคลุมพลังงานทางเลือก ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานลม3 โครงการ รวมกำลังการผลิต 126เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิต 278 เมกะวัตต์ ยังไม่รวมโรงไฟฟ้าที่จังหวัดชัยภูมิที่กำลังจะเปิดภายในปีนี้

นั่นเกิดจากวิสัยทัศน์ที่มองการไกลของผู้บริหาร ที่มองว่าพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และมองย้อนกลับมาที่ฐานรากของสังคมไทย เติบโตมาจากเกษตรกรรม แต่กลับนำเข้าพลังงานมหาศาล นั่นจึงเป็นที่มาของการเข้าไปซื้อกิจการโรงงาน น้ำมันปาล์มดิบ และพัฒนาต่อยอดจากน้ำมันบรรจุขวดมาสู่ ไบโอดีเซล

ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ ก็พัฒนาในพื้นที่แดดมีเพียงพอ รวมถึงพลังงานลม ก็มีการเก็บข้อมูลค้นหาพื้นที่ที่ปริมาณลมดีที่สุด จนกระทั่งได้จุดที่เหมาะสม

ปัจจุบันธุรกิจมีแผนกำลังขยายไปสู่การพัฒนาแบตเตอรี่ที่กำลังศึกษาร่วมทุนผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าจากจีนคือบริษัท ShenzenGrowatt New Energy Technology และ ผู้ผลิตแบตจากไต้หวัน บริษัท Amita Technologies ด้วยมูลค่าการลงทุน 1 แสนล้านบาท พัฒนาโครงการแบตเตอรี่สำรองไฟขนาด 50GWh ใหญ่ที่สุดในโลก ในนิคมอุตสาหกรรม New S-Curve บริเวณระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

การลงทุนแบตเตอรี่ จะเป็นการลดการพึ่งพิงการนำเข้าได้และช่วยให้โรงงานโซลาร์ฟาร์ม เก็บพลังงานในช่วงผลิตเกินความจำเป็น ที่ขอยื่นคำขอกับการไฟฟ้าฯไว้ที่การผลิตไฟฟ้าเพื่อขายได้ 10 ชม.ต่อวัน

“การพัฒนาแบตเตอรี่ในยุคที่ถึงจุดที่คุ้มทุน สามารถเก็บพลังงานไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหรือช่วงพีค โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านโรงไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่

ออมสิน เล่าถึงการเปลี่ยนผ่านคนรองรับการเปลี่ยนแปลงในทุกรอยต่อของการพัฒนาธุรกิจใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควรตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ ปาล์มน้ำมันสู่ไบโอดีเซล เริ่มต้นคน 80-90% เป็นพนักงานในสายการผลิต เมื่อพัฒนาสู่โซลาร์ฟาร์ม และพลังงานลม แต่ละสเต็ปมีความต้องการทักษะของคนที่เปลี่ยนแปลงไป

“จากสเต็ปหนึ่งไปสเต็ปที่สองคนทำแทนกันไมได้และขึ้นไปทำไม่ได้ แต่เรายังเก็บคนไว้เพราะเรามองว่าคนในช่วงเริ่มต้นมีจุดแข็งคนละแบบ แต่จุดแข็งของคนยุคเริ่มก่อตั้งธุรกิจคอมีความจงรักภักดีกับองค์กร ซื่อสัตย์ จริงใจและอยู่ในอาณาจักรหากข้ามไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆไม่ได้ ก็ปล่อยให้อยู่ที่เดิมภายใต้จุดแข็งที่พวกเขามี”

บทสรุปที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านองค์กรจึงไม่ใช่แค่เทคโนโลยีต้องดี แต่ต้องเห็นคุณค่าและความสำคัญของคนที่อยู่ร่วมกันได้กับเทคโนโลยีอย่างสมประโยชน์