'สุเทพ'แนะแก้พ.ร.ป.พรรคการเมือง-เพิ่มคนจดทะเบียนพรรค

'สุเทพ'แนะแก้พ.ร.ป.พรรคการเมือง-เพิ่มคนจดทะเบียนพรรค

"สุเทพ" แนะ "สนช." แก้พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพิ่มคนจดทะเบียนพรรคฯจาก 500 คน เป็น 5,000 คน - เพิ่มเงินค่าสมาชิกบำรุงพรรค

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.)ไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊ก "Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)" กล่าวถึงเจตนารมณ์ของกปปส.ต่อร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองตอนหนึ่งว่า วันนี้กำลังเริ่มกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้จัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตรงนี้เป็นเรื่องที่พวกเรามวลมหาชนจะต้องติดตามและแสดงออก เราคิดเราเห็นเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนแรกในร่างกฎหมายพรรคการเมือง ตรงหลักการและเหตุผลนั้นจำเป็นต้องเพิ่มเติม คือตนและมวลมหาประชาชนต้องการเห็นว่ามีระบุไว้ชัดในเหตุผลว่าที่เราต้องเขียนกฎหมายนี้ เพราะเราต้องการให้พรรคการเมืองเป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่ได้เป็นเช่นนั้น การเมืองในประเทศนี้ ก็จะไม่เป็นการเมืองของประชาชนในประเทศ ตรงนี้สมควรที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม

นายสุเทพต่อไปว่า การที่พรรคการเมืองจะเป็นพรรคการเมืองของประชาชนได้ ก็ต้องดูในมาตรา 9 ของร่างกฎหมายนี้ที่ กรธ. กำหนดไว้ว่า หากประชาชนที่มีอุดมการณ์ในทางการเมืองจำนวน 500 คน สามารถร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองได้นั้น ส่วนนี้ อยากบอกว่าน้อยเกินไป อย่างนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการ ที่จะให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ไม่ต้องดูอะไรมากเพราะจำนวน ส.ส. ในสภาตามรธน.ที่แบ่งเป็น ส.ส.จากเขตเลือกตั้ง 350 คน ส.ส.จาก ระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน รวมกันก็ 500 คนแล้ว หากเอาเฉพาะคนที่อยากเป็น ส.ส.500 คนเข้าชื่อกันก็ตั้งพรรคการเมืองได้แล้วอย่างนี้ประชาชนไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของร่วมหรือครอบครัวใหญ่ๆมีพี่น้องมากๆไม่กี่ครอบครัวก็ตั้งพรรคการเมืองได้ เจ้าของบริษัท เอาพนักงาน 500คนร่วมกันจดทะเบียนตั้งพรรคก็ได้ ตนจึงอยากเสนอต่อสนช. ว่า ข้อนี้ควรปรับปรุงเพิ่มจำนวน คิดว่าควรระบุว่า ประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกันจำนวน 5,000 คน ขึ้นไป จึงจะรวมตัวกันจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองได้ ซึ่งการแก้ไขมาตรานี้ ก็จะมีผลไปแก้ในมาตรา 10 ว่า ผู้ที่ขออนุญาตจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่อย่างน้อยมีจำนวนครึ่งหนึ่งคือไม่ต่ำกว่า 2,500 คน เพื่อที่จะเลือกหัวหน้าและกรรมการบริพรรคและอื่นๆเป็นขั้นตอนแรกของการจัดตั้งพรรคการเมือง

ในส่วนที่ 2 การที่จะแสดงว่าคนใดเป็นเจ้าของพรรคการเมืองที่แท้จริง ก็ต้องดูว่าใครเป็นคนออกเงินให้เป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองนั้น เมื่อก่อนเราเห็นอยู่แล้วว่าคนที่ออกเงินเป็นคนที่กำกับควบคุมพรรคการเมืองได้เบ็ดเสร็จ เพราะเขาเป็นเจ้าของเงิน วันนี้ต้องให้ประชาชนเป็นเจ้าเงินที่ใช้จ่ายในพรรคการเมือง ดูร่างกม.ที่กรธ.จัดทำในมาตรา 15(15) ที่ระบุว่า ให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องเสียค่าบำรุงพรรคเป็นรายปี ปีละ 100 บาท ตรงนี้ก็มีเสียงคนโวยวายว่าจะเป็นอุปสรรคทำให้ประชาชนไม่สามารถเป็นเจ้าของพรรคได้นั้นส่วนนี้ไม่จริง เพราะตนเชื่อว่าวันนี้พร้อมที่จะแสดงตัวเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ด้วยการบริจาคเงิน หรือจ่ายค่าบำรุงเป็นรายปี ส่วนตัวคิดว่า 100 บาท ยังน้อยไป อย่างน้อยที่สุดเราจะเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างสมศักดิ์ศรี ก็ควรเสียสละเงินวันละ 1 บาท หรือ ปีละ 365 บาท วันละ 1 บาทสำหรับการเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ที่จะทำงานเพื่อประเทศก็คุ้มค่าประชาชนส่วนหนึ่งเชื่อว่าพร้อมที่จะทำ ตรงนี้สำคัญมาก แต่ที่ ยกร่างเขียนไว้100บาท และไปกำหนดในบทเฉพาะกาลในช่วงแรกให้เสียค่าบำรุงได้ต่ำกว่า 100บาทก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า50 บาท ส่วนตัวว่าน้อยไป และอาจทำให้พรรคการเมืองต้องไปพึ่งแหล่งเงินอื่น คือ เจ้าของทุนที่ไม่ใช่ประชาชน ซึ่งจะมีผลให้เจ้าของเงินเข้ามาควบคุมพรรค ส่วนประชาชนก็เป็นแค่องค์ประกอบ

"เจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนนั้น ไม่ต้องการเห็นประชาชนเป็นเพียงส่วนประกอบของพรรคการเมือง แต่ต้องการให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริงและการแสดงความเห็นใน 2 เรื่องนี้ก็เพื่อที่จะให้ สนช.ได้ตระหนักว่าการที่จะทำพรรคการเมืองให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างน้อย 2 ส่วนต้องสำคัญคือ จำนวนคนที่จะเป็นเจ้าของพรรค และจำนวนเงินที่เจ้าของพรรคจะต้องบริจาคเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพรรคในแต่ละปี" นายสุเทพ กล่าว