'ปส.' โต้กลุ่มหมอฟันปม 'พ.ร.บ.นิวเคลียร์ 2559'

'ปส.' โต้กลุ่มหมอฟันปม 'พ.ร.บ.นิวเคลียร์ 2559'

"สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ" ชี้แจงกลุ่มทันตแพทย์กรณีบทความ "พ.ร.บ.จับแมวใส่กรงเสือ...พ.ร.บ.นิวเคลียร์ 2559"

น.ส.วิไลวรรณ ตันจ้อย รองเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวชี้แจงกรณีบทความ "พ.ร.บ.จับแมวใส่กรงเสือ...พ.ร.บ.นิวเคลียร์ ๒๕๕๙" โดยระบุว่า

ประเด็นที่ ๑
พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ โดยมีวัตถุประสงค์ควบคุมดูแลอุปกรณ์นิวเคลียร์ กัมมันตรังสี และเครื่องกำเนิดรังสีขนาดใหญ่...

ข้อชี้แจง พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติฉบับเดิม คือ พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2508) ให้มีความทันสมัยเหมาะสมต่อสถานการณ์ ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับเดิมมีการควบคุมการใช้พลังงานจากเครื่องกำเนิดรังสีโดยต้องขอรับใบอนุญาต ไม่มีข้อยกเว้น และมีบทลงโทษเป็นหลักการเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ จะทำให้การควบคุมและการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และรังสีมีประสิทธิภาพ เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามมาตรฐานสากล ดังนั้นการควบคุมการใช้เครื่องกำเนิดรังสี จึงไม่ใช่เรื่องใหม่

ประเด็นที่ ๒
- ปส. อยู่ระหว่างการเขียนกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ขนาดเล็กที่ใช้เพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ ไม่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.นี้ ตามเจตนารมณ์ของ สนช. ผู้ผ่าน พ.ร.บ.นี้มา…
- ที่ผ่านมาทั้งนายกทันตแพทยสภา ภาคีสภาวิชาชีพสาธารณสุข และกรรมาธิการสาธารณสุข ของ สนช. ออกมาบอกเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ไม่ได้ต้องการรวมเครื่องเอกซเรย์ขนาดเล็กที่ใช้ในการวินิจฉัยทางการแพทย์...

ข้อชี้แจง ความเห็นดังกล่าว มีความคลาดเคลื่อนต่อเจตนารมณ์ของการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากเครื่องกำเนิดรังสีตามกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการกำกับเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรม จึงได้กำหนดให้มีการขอรับใบอนุญาตเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดรังสีตามมาตรา ๒๖ ไว้อย่างชัดเจนแล้ว

ประเด็นที่ ๓
มีเครื่องใช้ในครัวเรือนอีกหลายชนิดที่ต้องอยู่ใต้ พ.ร.บ.นี้ เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ เตาไมโครเวฟที่มีใช้ทุกบ้าน เครื่องกันไฟฟ้ากระชาก กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน รวมไปถึง Pace Maker ของผู้ป่วยโรคหัวใจ...

ข้อชี้แจง พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ไม่ได้ควบคุมการครอบครอง หรือใช้อุปกรณ์ในครัวเรือนดังกล่าว

ประเด็นที่ ๔
- เครื่องเอกซเรย์ฟันส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงและถือเป็นเครื่องมือแพทย์ ซึ่งต้องขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว แต่ทาง ปส. ก็ออกกฎหมายให้ไปขออนุญาตครอบครองหรือใช้เครื่องเอกซเรย์อีก อ้างว่าเพื่อความปลอดภัย ทั้ง ๆ ที่มันปลอดภัยอยู่แล้ว
- เครื่องเอกซเรย์ฟันไม่ใช่นิวเคลียร์ ไม่ใช่กัมมันตรังสี จะมีรังสีออกมาเฉพาะเวลากดปุ่มสั้นๆ เพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้นไม่มีอันตรายใด ๆ

ข้อชี้แจง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีหน้าที่ตรวจวิเคราะห์และประเมินความปลอดภัยของเครื่องกำเนิดรังสีที่ใช้ในทางการแพทย์ และสาธารณสุข ไม่มีหน้าที่อนุญาตครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีดังกล่าวตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าเครื่องเอกซเรย์ฟันจะมีขนาดเล็ก แต่เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงกับสิ่งมีชีวิต จึงมีความเสี่ยงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (No Risk-Free) และมีความจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลการใช้งานให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้มากที่สุด
คำว่า “ปลอดภัยอยู่แล้ว” เป็นความเห็นของแต่ละบุคคล ย่อมมีความแตกต่างกัน จึงต้องอาศัยกระบวนการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างความปลอดภัยที่ยอมรับได้ในสังคม

ประเด็นที่ ๕
ค่าตรวจเครื่องเอกซเรย์ที่แพงขึ้น ๒ เท่าจากหน่วยงานเดิมที่รับผิดชอบมาตลอด (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คิด ๑,๐๐๐ บาท)...

ข้อชี้แจง ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจเครื่องกำเนิดรังสี เครื่องละ ๑,๐๐๐ บาท (ระเบียบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าด้วยอัตราค่าบํารุงการตรวจวิเคราะห์และให้บริการ พ.ศ. ๒๕๕๘) ซึ่ง ปส. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเก็บค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด

ประเด็นที่ ๖
ให้ตรวจทุก ๒ ปี แทนที่จะตรวจทุก ๕ ปีตามข้อกำหนดของ IAEA (ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ)

ข้อชี้แจง การตรวจสอบแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. การตรวจสอบความปลอดภัย (inspection) โดยหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) แนะนำไว้ว่า ควรมีความถี่ในการตรวจสอบเครื่องเอกซเรย์ทาง ทันตกรรมอย่างน้อย ๑ ครั้งในช่วงเวลา ๕ ปี
๒. การตรวจสอบคุณภาพของเครื่องกำเนิดรังสี (Quality Assurance Program) โดยหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจาก ปส. ซึ่งแนะนำให้มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอตามประเภทของเครื่อง

ประเด็นที่ ๗
- การบังคับให้ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) ดูแลเครื่องตลอดเวลา…
- IAEA กำหนดไว้ว่า แพทย์ ทันตแพทย์ เป็น Radiological Medical Practitioner (RMP) โดยวิชาชีพอยู่แล้ว สามารถใช้เครื่องกำเนิดรังสีได้โดยอิสระภายใต้ความควบคุมของสภาวิชาชีพ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตเป็น RSO หรือต้องมี RSO มาควบคุมดูแลการใช้งาน…
- มาตรา ๑๒๓ จึงกำหนดให้ต้องมี RSO เฝ้าอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นมีโทษจำคุก ๕ ปี ปรับ ๕๐๐,๐๐๐บาท หากเป็นอุปกรณ์นิวเคลียร์ก็ดูสมเหตุผล แต่เมื่อจับเครื่องเอกซเรย์ฟันเข้าไปอยู่ใต้มาตรานี้ แปลว่า คลินิกทำฟันทุกแห่งต้องมี RSO เฝ้าอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นมีโทษราวกับรับของโจร โทษรุนแรงกว่า ผู้ที่ไม่ใช่ทันตแพทย์มาประกอบอาชีพเป็นทันตแพทย์ (หมอเถื่อน) อีก...

ข้อชี้แจง
๑. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) ได้ปรากฏเป็นข้อกำหนดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 แล้ว (ที่มา : ประกาศคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เรื่อง มาตรฐานการรับรองเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีออกตามความพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ พ.ศ. ๒๕๔๙)
๒. การกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มี RSO อยู่ตลอดระยะเวลาที่เปิดทำการนั้น เป็นการกำหนดตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. ... ในการพิจารณาชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มี RSO อยู่ตลอดระยะเวลาที่เปิดทำการดังกล่าว เป็นการกำหนดที่สอดคล้องกับกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพและจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล พ.ศ. 2558
“ข้อ 3 คลินิกดังต่อไปนี้ต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติงานตลอดเวลาที่เปิดทำการตามรายชื่อในหนังสือแสดงความจำนงเป็นผู้ปฏิบัติงานในคลินิกของผู้รับอนุญาตกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จำนวนอย่างน้อย 1 คน
... (2) คลินิกทันตกรรม ต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม”
ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวออกตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 เป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลด้วย(ที่มา : กฎหมายจาก พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 18 (๔) ประกอบ ข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพและจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล พ.ศ. 2558)
๓. (ร่าง) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ได้กำหนดให้เป็น RSO โดยการเทียบวุฒิการศึกษาได้ ๕ สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เทคนิคการแพทย์ (เทคนิครังสี) และฟิสิกส์การแพทย์ (สอดคล้องกับแนวทางมาตรฐานความปลอดภัยของ IAEA ซึ่งถือว่าสถานพยาบาลขนาดเล็กที่มีบุคลากรน้อย แพทย์จะเป็น RSO เองเพราะได้เรียนรู้ความปลอดภัยมาแล้วตามหลักสูตร)(ที่มา : IAEA: Radiation Protection and Safety in Medical Uses of Ionizing Radiation หน้า 31)

ประเด็นที่ ๘
ผู้ได้รับประโยชน์เป็นเม็ดเงินจากค่าใบอนุญาตต่าง ๆ มีเพียงสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส) เพียงผู้เดียว...
ข้อชี้แจง ค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตทุกประเภทของ ปส. ถือเป็นรายได้แผ่นดิน เช่นเดียวกับ ค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานราชการอื่น ๆ ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อประชาชนเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป

ประเด็นที่ ๙
ประโยชน์ต่อประชาชนแต่การที่กำหนดโทษรุนแรงโดยไม่สมเหตุผลเช่นนี้ เป็นการเปิดช่องให้มีการข่มขู่ และเรียกเก็บผลประโยชน์โดยมิชอบจากทันตแพทย์ได้...

ข้อชี้แจง การกระทำที่กล่าวอ้าง ถือเป็นการประพฤติมิชอบ มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๘

ประเด็นที่ ๑๐
ให้ ปส. ออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่อง แต่ ปส. ก็ยังเพิกเฉย ทั้ง ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนว่า ข้อกำหนดให้ปฏิบัตินั้นไม่ได้คุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากรังสีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด...

ข้อชี้แจง การยกเว้นสามารถทำได้ตามมาตรา ๒๕ ประกอบมาตรา ๑๘ แต่จะต้องคำนึงถึงระดับกัมมันตภาพ หรือลักษณะการครอบครอง หรือการใช้หากเห็นว่าเครื่องกำเนิดรังสีนั้น มีความปลอดภัยและไม่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน ผู้ใช้ สิ่งแวดล้อมได้อย่างแน่นอน

การยกร่างฯ มาตรา ๒๕ ปส. คำนึงความปลอดภัยต่อประชาชน และผู้ใช้เครื่องกำเนิดรังสีเป็นหลัก และอ้างอิงตามมาตรฐาน IAEA : GSR Part 3 หน้า ๑๐๕ – ๑๐๖ โดยกำหนดให้ยกเว้นเครื่องกำเนิดรังสีที่มีพลังงานสูงสุดไม่เกิด ๕ keV (เครื่องกำเนิดรังสีที่ใช้ทางทันตกรรม มีค่าพลังงานสูงสุดในช่วง ๕๐ – ๑๒๐ keV)

ประเด็นที่ ๑๑
ค่าใช้จ่ายที่ ปส. เรียกเก็บ…
1. ค่าใบอนุญาตครอบครองหรือใช้เครื่อง มีเพดานที่ 50,000 บาท ต่อ 5 ปี (ครั้งแรกนี้คิด 1,000 บาท)

ข้อชี้แจง อัตราค่าธรรมเนียมเป็นไปตามความเหมาะสม และเรียกเก็บเป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท ต่อ ๕ ปี ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจสอบสภาพการใช้งาน หรือสภาวะต่าง ๆ ประกอบการขออนุญาตครอบครองหรือใช้เครื่องต่อไป ซึ่งไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ท้ายพระราชบัญญัติฯ

2. ค่าตรวจเครื่องเอกซเรย์ทุก 2 ปี ครั้งละ 2 พันกว่าบาท (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจตาม IAEA กำหนดทุก 5 ปี ครั้งละ 1,000 บาท)

ข้อชี้แจง ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องตรวจสอบคุณภาพเครื่องเป็นประจำ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางรังสีอยู่แล้ว โดยมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานตรวจ และมีค่าบำรุงการตรวจ 1,000 บาท ต่อ 1 เครื่อง (ระเบียบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าด้วยอัตราค่าบํารุงการตรวจวิเคราะห์และให้บริการ พ.ศ. ๒๕๕๘)

3. RSO ทุกคนต้องขอใบอนุญาตกับ ปส. มีเพดานที่ 5,000 บาท ต่ออายุทุก 3 ปี ครั้งแรกนี้คิด 300 บาท

ข้อชี้แจง อัตราค่าธรรมเนียมเป็นไปตามความเหมาะสม และเรียกเก็บเป็นเงิน ๓๐๐ บาท ต่อ ๓ ปี ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการทดสอบสมรรถนะหรือถ่ายทอดความรู้ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลการใช้เครื่องกำเนิดรังสีให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ท้ายพระราชบัญญัติฯ

4. ในการเป็น RSO ต้องสอบ ค่าสอบ 500 บาท แต่หากสอบไม่ได้ มีติวให้ ค่าติว 3,500 บาท

ข้อชี้แจง อัตราค่าธรรมเนียมเป็นไปตามความเหมาะสม ส่วนการจัดติวไม่ใช่ภารกิจของ ปส.

5. RSO ต้องมีแผ่นวัดรังสีประจำตัว (OSL) ราคาแผ่นละ 1,000 บาท และส่งตรวจคิดค่าตรวจ 1,000 บาท

ข้อชี้แจง ผู้ปฏิบัติงานทางรังสีที่ไม่ใช่ RSO ต้องมีเครื่องวัดรังสีประจำบุคคล ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางรังสี ซึ่งมีราคา 1,000 บาท (รวมค่าส่งตรวจแล้ว) และดำเนินการโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ระเบียบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าด้วยอัตราค่าบํารุงการตรวจวิเคราะห์และให้บริการ พ.ศ. ๒๕๕๘)

6. RSO ต้องมีเครื่อง Rad Alert ราคา ประมาณ 24,000 บาท

ข้อชี้แจง ปส. ไม่เคยกำหนดให้ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์เฝ้าตรวจกัมมันตภาพรังสีสำหรับการใช้งานเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรม
ปส. ขอยืนยันว่า การดำเนินงานในทุกขั้นตอนได้ให้ความสำคัญ และตระหนักถึงความปลอดภัยต่อประชาชน ผู้ปฏิบัติงาน และสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรก และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ www.oap.go.th