DTAC - ซื้อ

DTAC - ซื้อ

จุดประกายความหวังครั้งใหม่สำหรับดีลพันธมิตรคลื่น 2.3 กิกะเฮิร์ซ

ประเด็นการลงทุน

ผลประกอบการไตรมาส 1/60 ของ DTAC ยืนยันหลายปัจจัยบวก ซึ่งได้แก่การฟื้นตัวของรายได้บริการและกำไรหลัก QoQ การควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลขาดทุนปกติของธุรกิจขายเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลง QoQ (ซึ่งเป็นผลจากเงินอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์สำหรับลูกค้าพรีเพดที่ลดลง) และเนื่องจากคุณภาพโครงข่าย มุมมองต่อแบรนด์ดีแทคที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงโปรโมชั่นที่เน้นความคุ้มค่ากับเงินที่ลูกค้าจ่ายไปเริ่มส่งสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น เราจึงคาดว่ารายได้บริการมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องภายในปี 2560 ในขณะเดียวกันทีโอทีคาดว่าจะได้รับรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกสำหรับดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกมากกว่า 1 รายภายในช่วงสิ้นเดือน เม.ย.นี้ เราเชื่อว่ายังคงมีความหวังเช่นกันที่ DTAC จะได้รับการคัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบแรกสำหรับดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซ ถึงแม้ว่า ภายใต้สมมติฐานกรณีที่เลวร้ายที่สุดได้แก่ ถ้า DTAC ไม่ได้รับการคัดเลือก ให้เป็นพันธมิตรสำหรับดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซของทีโอที ในที่สุด DTAC ก็ยังคงมีแผนสำรองสำหรับการเข้าครอบครองคลื่นความถี่ใหม่จากการเปิดประมูลคลื่นความถี่ของกสทช.ในปี 2561 เรายังคง คำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น DTAC จากเหตุผลของความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ ในระยะยาวที่จะลดลงจากการเปิดประมูลคลื่นความถี่ใหม่ในอนาคต และ การฟื้นตัวของผลการดำเนินงานหลัก


สรุปผลประกอบการไตรมาส 1/60 – กำไรหลักสูงกว่าคาด

DTAC รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/60 ที่ 229 ล้านบาท ลดลง 82% YoY แต่เพิ่มขึ้น 661% QoQ ถ้าไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน กำไรหลักไตรมาสนี้อยู่ที่ 213 ล้านบาท ลดลง 82% YoY แต่เพิ่มขึ้น 26% QoQ กำไรสุทธิและกำไรหลักสูงกว่าคาดคิดเป็น 128% และ 125% ตามลำดับ เนื่องจากรายได้บริการที่สูงกว่าคาด และต้นทุนบริการ (ซึ่งได้แก่ ต้นทุนค่าตัดจำหน่าย ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายด้านโครงข่าย) ที่ต่ำกว่าคาด เราเห็นการฟื้นตัวของกำไรหลัก QoQ จากการฟื้นตัวของรายได้บริการ ผลขาดทุนปกติจากธุรกิจขายเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลง และการควบคุมค่าใช้จ่ายจากการขายและบริหารที่ดีขึ้น รายได้บริการ (ที่ไม่รวมไอซี) ลดลง 1.3% YoY (แต่เพิ่มขึ้น 1.3% QoQ ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้โพสต์
เพดและรายได้บริการข้อมูลที่เติบโตแข็งแกร่ง) รายได้บริการพรีเพดเฉลี่ยรายวันเริ่มทรงตัวมากขึ้น หรือทรงตัว QoQ ผลขาดทุนปกติของธุรกิจขายเครื่องโทรศัพท์ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 723 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลง 13% QoQ (ดูรายละเอียดได้ในหน้าที่ 4)


รายได้บริการฟื้นตัว QoQ ซึ่งผิดไปจากช่วงฤดูกาลปกติของไตรมาสแรกที่ลดลง

บริษัทยังคงเป้าผลการดำเนินงานปี 2560 ไว้เท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งได้แก่ รายได้บริการ (ที่ไม่รวมไอซี) ทรงตัว EBITDA อย่างน้อยเท่ากับปีก่อนหน้า และงบลงทุนที่ 1.7-2 หมื่นล้านบาท เราเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของรายได้บริการ QoQ ในไตรมาส 1/60 (ซึ่งถือว่าผิดไปจากช่วงฤดูกาลปกติของไตรมาสแรกที่มักจะลดลง QoQ) เราเชื่อว่ามุมมองของผู้ใช้บริการด้านโครงข่ายและแบรนด์ดิ้งของ DTAC ที่ปรับตัวดีขึ้น และการโปรโมชั่นการตลาดที่เน้นความคุ้มค่ากับเงินที่ลูกค้าจ่ายไปจะนำไปสู่รายได้บริการที่ทรงตัวในปี 2560 เราคาดว่ารายได้บริการโพสต์เพดของ DTAC มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแข็งแกร่ง ในขณะที่รายได้บริการพรีเพดมีแนวโน้มทรงตัวในปี 2560 และเนื่องจากงบลงทุนใหม่สำหรับสินทรัพย์สัมปทานที่มีแนวโน้มลดลงไปอีก (เนื่องจากสัมปทานปัจจุบันของ DTAC จะสิ้นสุดลงในเดือนก.ย.ปี 2561) เราจึงคาดว่าต้นทุนค่าตัดจำหน่ายมีแนวโน้มลดลง ถึงแม้ว่าภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมโดยรวมจะยังคงรุนแรงต่อเนื่อง แต่เราก็ยังคาดว่าจะเห็นเงินอุดหนุนเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลงไปอีก เนื่องจากการเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าที่ให้เงินอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์ จากกลุ่มลูกค้าพรีเพดในวงกว้างไปสู่กลุ่มลูกค้าโพสต์เพดในวงจำกัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อรายในระดับสูง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับไตรมาส 1/60 ที่มีผลขาดทุนจากธุรกิจขายเครื่องโทรศัพท์ลดลง QoQ

ความหวังที่มีต่อดีลพันธมิตรคลื่น 2.3 กิกะเฮิร์ซของทีโอทีกลับมาใหม่

นายมนต์ชัย หนูสูง กรรมการผู้จัดการใหญ่ของทีโอที กล่าวว่าทีโอทียังไม่ได้รับรายชื่อที่ได้รับการคัดเลือกรอบแรกสำหรับดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซของทีโอทีจากที่ปรึกษาทั้งสองราย ซึ่งได้แก่ บริษัทดีเทคอน เอเชีย แปซิฟิก จำกัดและบริษัทไพร์มสตรีท แอ๊ดไวซอรี่ จำกัด แต่อย่างใด ซึ่งคาดว่าจะประกาศรายชื่อรอบแรกได้ภายในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ รายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกจะมีมากกว่าหนึ่งราย และรายชื่อผู้ชนะคาดว่าจะประกาศได้ในช่วงปลายเดือนพ.ค. หลังจากการเจรจากับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกเสร็จสิ้น เราประเมินว่าข่าวข้างต้นจะปลุกความหวังของ DTAC ให้กลับมาใหม่อีกครั้งว่า DTAC มีแนวโน้มได้รับการคัดเลือกให้เป็นพันธมิตรสำหรับคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซของทีโอที เราเชื่อว่าการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ของกสทช.ในปี 2561 ซึ่งได้แก่ คลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซ คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ซ และคลื่นความถี่ 2.6 กิกะเฮิร์ซ จะนำไปสู่การลดความเสี่ยงด้านการดำเนินธุรกิจระยะยาวของ DTAC และการปลดล็อกการประเมินมูลค่าหุ้นของ DTAC