หนุนปลูกเมล่อนหวาน แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์

หนุนปลูกเมล่อนหวาน แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์

หนุนปลูกเมล่อนหวาน แตงโมไร้เมล็ด ส่งเสริมออร์แกนิคฟาร์ม เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์

ดร.จำลอง พรมสวัสดิ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนม่วงสามสิบ ออร์แกนิค ฟาร์ม อยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ที่ 12 ต.ม่วงสามสิบ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า เป็นชาวอำเภอม่วงสามสิบโดยกำเนิด เป็นลูกชาวนา ได้เข้าไปเรียนต่อที่กรุงเทพจนจบปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์ และทำธุรกิจกับครอบครัวจนประสบความสำเร็จ จึงคิดถึงบ้านเกิดต้องการกลับมาทำประโยชน์ให้กับชุมชนของชาวบ้านอำเภอม่วงสามสิบ

ช่วงแรกเริ่มปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ก็ล้มเหลว ต่อมาก็หันมาปลูกดอกดาวเรือง แต่พอผลผลิตเข้าสู่ตลาดราคาถูกมาก จึงคิดว่าถ้าทำแบบนี้จะทำให้เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไม่ได้ ต่อมาก็เข้าโครงการรัฐบาลปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้นข้าวโพดงามมากแต่ไม่มีฝัก ก็ต้องทิ้งไปอีก และที่สูญเสียมากก็คือปลูกถั่วลิสง ผลผลิตออกมางามและเขียว แต่เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่มีเมล็ดตัวหนอนเจาะกินหมด ลองถูก ลองผิดมาตลอด ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในที่สุดได้ศึกษาการปลูกเมล่อน ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ปรึกษาและได้รับการแนะนำพันธ์เมล่อนมาศึกษาดู

ดร.จำลอง พรมสวัสดิ์ เล่าว่า จากการศึกษาจากผู้รู้พบว่า เมล่อนมีประโยชน์มาก มีสารต้านอนุมูลอิสระ คือสารที่ช่วยป้องกันหรือช่วยชะลอการแก่เร็ว ริ้วรอยมากขึ้น ป่วยง่าย และลดขบวนการเคมีของร่างกายมนุษย์ ทำให้ลดความเครียด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก นอกจากตัวเมล่อนก็จะมีวิตามินซี และวิตามินเอ เบต้าแคโรทีนและธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส ซึ่งก็มีผลทำให้ลดความอ้วนได้ มีแคเรอรี่ต่ำ เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาภูมิประเทศ สภาพอากาศของพื้นที่ ของ อ.ม่วงสามสิบ มีความเหมาะสมมากกับการปลูกเมล่อน เพราะเมล่อน ชอบอุณหภูมิสูง น้ำจืด น้ำใต้ผิวดินจืด ค่าอชไม่เกิน 6.5 ชอบอากาศร้อน

 “เมื่อเห็นผลผลิตออกมารู้สึกดีใจ เมล่อนเป็นพืชใช้น้ำน้อย ใช้พื้นที่ไม่มาก 1 โรงเรือนสามารถปลูกได้ 450 ต้น ปัจจุบันมีโรงเรือน 40 โรงเรือน ใหญ่ที่สุดในอีสานใต้ บนเนื้อที่เพราะปลูกเมล่อน 10 ไร่ จากเนื้อที่ทั้งหมด 120 ไร่โดยแบ่งเนื้อที่เหลือแบ่งเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ ม่วงสามสิบ ออร์แกนิค ฟาร์ม ไม่ใช้สารเคมี เป็นฟาร์มที่เน้นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งตรงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาการดำรงชีวิต ของในหลวง รัชกาลที่ 9 หลังจากประสบผลสำเร็จในการปลูกเมล่อน จึงได้สร้างศูนย์เรียนรู้ขึ้นมา เพื่อให้เกษตรกรได้มาเรียนรู้ โดยทางฟาร์มมีวิทยากรอบรมให้คำปรึกษา ในเรื่องต่างๆเช่นเมล็ดพันธ์ ปุ๋ย ซึ่งหลังจากที่เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวข้าวจากการทำนาแล้ว สามารถหันมาปลูกเมล่อน เพื่อสร้างรายได้ ทางฟาร์มยินดีสนับสนุนให้กับเกษตรกรของจังหวัดอุบลฯและจังหวัดใกล้เคียง นอกจากเมล่อนแล้วก็ยังมีแตงโมไร้เมล็ด และกำลังขยายไปเป็นมะเขือเทศราชินี ซึ่งทุกอย่างจะเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด ผลผลิตปัจจุบันผลิต 4 ตันต่อเดือนขายหน้าฟาร์มหมด ซึ่งอนาคตจะขยายตลาดมากขึ้น”ดร.จำลอง กล่าว

ดร.จำลอง พรมสวัสดิ์ เล่าว่า ต้องการสร้างม่วงสามสิบ ออร์แกนิค ฟาร์ม เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ เพราะต้องการให้เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวในอำเภอม่วงสามสิบ ของจังหวัดอุบลราชธานี และต้องการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ให้การไหลเวียนของเงินต่างๆมากขึ้น สร้างคน สร้างรายได้