เจาะลึก.. ‘ไฮยิลด์ บอนด์’

เจาะลึก.. "ไฮยิลด์ บอนด์" ความเสี่ยงที่มาคู่ผลตอบแทน

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” คำพูดประโยคนี้เชื่อว่าผู้ลงทุนทุกท่านคงคุ้นเคยกันดี แต่คำถามคือว่า แล้วเราในฐานะนักลงทุนได้นำไปปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดมากน้อยแค่ไหน

กองทุนรวมประเภท High Yield Bond ชื่อนี้เชื่อว่านักลงทุนหลายท่านคงได้ยินกันมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอดช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นประเด็นร้อนในแวดวงการลงทุนในกองทุนรวมอันเนื่องมาจากการผิดนัดชำระหนี้ในตั๋วแลกเงิน (บี/อี) ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งในที่มาของการที่เราเห็นเม็ดเงินไหลออกจากกลุ่มกองทุนประเภท High Yield ตลอดช่วงปลายปีที่แล้วต่อมาจนถึงต้นปีนี้อย่างต่อเนื่อง

จริงๆ แล้วนั้นกองทุนประเภท High Yield คืออะไร ทำไมถึงเป็นที่สนใจและมีเงินไหลเข้า/ออก กองทุนในกลุ่มดังกล่าวมากเป็นพิเศษ ก่อนอื่นต้องมาเริ่มต้นกันที่นิยามของกลุ่มกองทุนประเภท High Yield กันก่อนซึ่งโดยคร่าวๆ นั้นก็หมายถึงกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้/เงินฝาก ที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (non-investment grade) นั้นเองหรือในบางกรณีอาจจะลงทุนในตราสารที่ไม่ได้รับการจัดอันดับ (non-rated) ซึ่งถ้าตาม credit score ที่ออกจากบริษัทจัดอันดับตราสารหนี้ชื่อดังอย่าง S&P หรือ Moody นั้นก็คือตราสารจำพวกนี้จะได้รับ rating น้อยกว่า BBB- นั้นเอง

กองทุนรวมในประเทศไทยนี้เราสามารถจำแนกกองทุนในกลุ่ม High Yield ได้ออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ตาม กลุ่ม Morningstar Category คือ 1. กลุ่ม Global High Yield Bond Fix Term คือ กลุ่มที่เน้นลงทุนในตราสารประเภท High Yield ต่างประเทศ แบบกำหนดอายุ 2. กลุ่ม High Yield Bond Fix Term คือ กลุ่มที่เน้นลงทุนในตราสารประเภท High Yield ภายในประเทศ แบบกำหนดอายุ และโดยปกติแล้วนั้น

แล้วกองทุนรวมในกลุ่มประเภท High Yield นี้เค้านิยมไปลงทุนในตราสารประเภทไหน โดยปกติแล้ว กองทุนก็จะมีการกระจายการลงทุนผสมกันทั้งตราสารหนี้/เงินฝาก แบบ Investment grade และ non-investment grade แต่สัดส่วนจะมากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนแต่ละที่ บางกองทุนอาจจะลงทุน non-investment grade เพียง 20-30% ของพอร์ต

ในขณะที่บางกองทุนอาจจะลงทุนถึง 50-60% ของพอร์ตก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ซึ่งตรงจุดนี้เป็นเรื่องที่นักลงทุนจะต้องเข้ามาทำการศึกษาให้ดีก่อนการตัดสินใจลงทุนเพราะต้องบอกว่า กองทุนประเภทดังกล่าวนี้มีการให้ข้อมูลที่ละเอียดชัดเจนมากกว่ากองทุนประเภทอื่นๆ  ด้วยซ้ำไปเพราะทางกองทุนจะเปิดชื่อและอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารที่กองทุนจะลงทุนให้เราทราบก่อน

เมื่อดูถึง 5 บลจ. ที่มีเงินไหลออกมากที่สุดในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 นี้พบว่า การที่เงินไหลออกนั้นไม่ได้มาจากเรื่องดังกล่าวในทุกกรณี เพราะการที่เงินไหลออกนั้นอาจจะมาจากการที่กองทุนครบกำหนดอายุแล้วปิดกองไป หรือกองทุนนั้นๆ ทำผลตอบแทนได้ดีจนทำให้ผู้ลงทุนขายเพื่อทำกำไร

และเมื่อลงลึกไปในรายละเอียดแล้วนั้นจะเห็นได้ว่าเม็ดเงินที่ไหลออกสุทธินั้นมาจากหลายกลุ่มการลงทุน อาทิเช่น กลุ่ม High Yield Bond Fix Term กลุ่ม Global High Yield Bond Fix Term กลุ่มหุ้นไทย (Equity Large Cap) ตราสารหนี้ไทย (Short Term Bond) หุ้นต่างประเทศ (Japan Equity) และอื่นๆ

ซึ่งบาง บลจ. การลงทุนใน กลุ่ม Global High Yield Bond Fix Term หรือ กลุ่ม High Yield Bond Fix Term หรือทั้ง 2 กลุ่ม

ท้ายนี้เหมือนที่ทุกๆ หน่วยงานพยายามย้ำอยู่เสมอว่า การศึกษาหาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ลงทุนจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงและนโยบายการลงทุนของกองทุนที่เรากำลังสนใจจะลงทุนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน

กสิกรย้ำคัดตราสารชั้นดีลงทุน

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า การลงทุนในตราสารหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการในตราสารหนี้ในฐานะเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงนอกเหนือจากการลงทุนในหุ้น และในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน บลจ.กสิกรไทยจึงยังคงคัดเลือกตราสารหนี้ที่น่าสนใจมานำเสนอผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง

“เราเลือกลงทุนในตราสารที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วว่ามีผลตอบแทนที่เหมาะสมกับปัจจัยด้านความเสี่ยงของตราสารหนี้ที่ลงทุน”

ส่วนกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภทกำหนดอายุโครงการ (Fixed Term Fund) ที่มีการลงทุนบางส่วนในตราสารหนี้ประเภทที่ให้ผลตอบแทนสูงหรือไฮยิลด์บอนด์ บริษัทได้หยุดการเสนอขายมาตั้งแต่เดือนต.ค. 2559 ด้วยเหตุผลด้านแรงจูงใจในการให้ผลตอบแทนที่มีความน่าสนใจน้อยลงเมื่อเทียบกับความเสี่ยง ทำให้ปัจจุบันบลจ.กสิกรไทยมีการเปิดเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภทกำหนดอายุโครงการ เฉพาะกองทุนที่ตราสารทั้งหมดที่ลงทุน เป็นตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้เท่านั้น (Investment grade)

นอกจากนี้ตราสารส่วนใหญ่ยังมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่สูงด้วย ทำให้กองทุนประเภท Fixed Term Fund ของบลจ.กสิกรไทยยังคงได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี 2560-ณ วันที่ 31 มี.ค. 2560 กองทุนกลุ่ม Fixed Term Fund มีเงินไหลเข้าสุทธิแล้วเป็นมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท

ด้านกองทุนตราสารหนี้ในประเทศของบลจ.กสิกรไทย ตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัทก็ยังไม่เคยมีการไปลงทุนในตราสารประเภทไฮยิลด์บอนด์ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นบลจ.กสิกรไทยจึงไม่เคยได้รับผลกระทบด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุน ถึงแม้จะมีกรณีปัญหาเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบีอีหรือตราสารประเภทไฮยิลด์บอนด์ที่เกิดขึ้นในตลาดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ด้าน บลจ.ซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล จำกัด ชี้แจงว่า การปรับลดของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมาจาก 3 สาเหตุ 1. เกิดจากการปรับพอร์ตของลูกค้าสถาบันเพื่อบริหารสภาพคล่อง 2. การจ่ายเงินปันผล และ3. กองทุนประเภท Fix Term ครบกำหนด โดยในช่วงไตรมาสแรก CIMB-Principal ไม่มีนโยบายออกกองทุน Fix Term มาทดแทนกองทุนที่ครบกำหนด ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้เกิดจากการไถ่ถอนของลูกค้าแต่อย่างใด

ในขณะเดียวกัน CIMB-Principal มุ่งเน้นการแนะนำลงทุนด้วยธีมระยะยาว ด้วยการออกกองทุน CIMB Principal Global REITS ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์คุณภาพดีทั่วโลก ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีมาก และเพียงระยะเวลา 1.5 เดือน ก็ได้ผลตอบแทน +3.8%