9 แบงก์ไตรมาสแรก 'กำไรโต7.7%'

9 แบงก์ไตรมาสแรก 'กำไรโต7.7%'

9 แบงก์ไตรมาส1กำไรโต7.7% “ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย”โดดเด่น ซีไอเอ็มบีไทยกำไรทรุด 63%  หลังเร่งตั้งสำรองเพิ่มรับมือเอ็นพีแอล

9 แบงก์พาณิชย์กวาดกำไรไตรมาสแรก 4.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7%จากช่วงเดียวกันปีก่อน “ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย”ทำกำไรสูงสุดเกินหมื่นล้านบาท ส่วนทิสโก้และธนชาตมีอัตราการเพิ่มขึ้นของกำไรสูงสุด คือ 18%และ 15%ตามลำดับ พบส่วนใหญ่ยังคงตั้งสำรองหนี้เสียในระดับสูง

จากการรวบรวมผลประกอบการไตรมาส 1 ปี2560 ของธนาคารพาณิชย์9 แห่ง พบว่ามีกำไรสุทธิ 4.64 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3 พันล้านบาท หรือ 7.7%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยธนาคารไทยพาณิชย์มีกำไรสูงที่สุด คือ 1.19 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือธนาคารกสิกรไทย มีกำไร 1.01 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4%

อย่างไรก็ตามทิสโก้ มีอัตราการเพิ่มขึ้นของกำไรสูงที่สุด โดยมีกำไร 1.49 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 18%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือธนชาต มีกำไร 3.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%และธนาคารกรุงไทย มีกำไร 8.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.1%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มีกำไรลดลดลง โดยมีกำไร 121 ล้านบาท ลดลง 62.9% เช่นเดียวกับธนาคารกรุงเทพ ที่มีกำไร 8.3 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อย หรือ 0.14%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า กำไรที่เพิ่มขึ้นมาเกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน888ล้านบาท หรือ4%โดยส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ สุทธิ (NIM)อยู่ที่ระดับ3.41%อย่างไรก็ตาม รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง11.59%ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย และรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่ลดลง รวมถึงการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามภาวะเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาส 4/2559 ) กำไรปรับลดลง 0.71% จากตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ 

สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (เอ็นพีแอล)  อยู่ที่ระดับ3.31% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ้นปี2559อยู่ที่ระดับ3.32%อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ระดับ134.94%

ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลประกอบการของไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ในระดับที่ดีเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ รวมถึงการลดลงของค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม อยู่ที่2.70% เพิ่มขึ้น 0.06%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและจาก 2.67% เมื่อสิ้นปี2559  ส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อเคหะและสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 

ทั้งนี้ธนาคารมีสินเชื่อเติบโต 0.7%จากสิ้นปี 2559 ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 4.1%จากช่วงเดียวกันปีก่อนและรายได้มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 33.2%ตามการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ดีขึ้นจากการลดลงของค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย

สำหรับไตรมาสแรกปีนี้ ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน5,010ล้านบาท หรือ1.03% ของสินเชื่อรวมส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น133.4%

ในไตรมาสแรกปีนี้ มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)อยู่ที่3.21%ลดลงจาก3.24%ในช่วงเดียวกันปีก่อนและ3.33%ในไตรมาสก่อนหน้า

ด้านธนาคารกรุงเทพ รายงานว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปีนี้ มีกำไร 8.3 พันล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ปีก่อน โดยธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 1.92 ล้านล้านบาท ลดลง 0.9% จากสิ้นปี 2559 โดยเป็นการลดลงของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายปลีก สินเชื่อลูกค้าบุคคล และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ

สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 7.7 หมื่นล้านบาท หรือ 3.5%ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิดและตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส1ปีนี้ มีการตั้งสำรองจำนวน 5.8พันล้านบาท ทำให้เงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัย จะสูญของธนาคารอยู่ที่ 124,446ล้านบาท หรือ 6.5%ของเงินให้สินเชื่อ

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย ว่ากลุ่มธนาคารมีกำไรสุทธิ121.2 ล้านบาท ลดลง63%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนสาเหตุหลักเกิดจากสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 7% เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล โดยมีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 1.12 หมื่นล้านบาท หรือ5.3%ของสินเชื่อรวม ลดลงเมื่อเทียบช่วงสิ้นปีที่อยู่ระดับ 6.1%จากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ และบริหารจัดการความเสี่ยงที่ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้ จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่