หุ่นละครยังไม่ตาย การปรับตัวให้ร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน

หุ่นละครยังไม่ตาย การปรับตัวให้ร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน

ปัจจุบันหุ่นกระบอก หุ่นเชิดถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ทั้งมีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีไทยให้คงอยู่ต่อไป

“วิวัฒนาการศิลปะหุ่นอาเซียนจากศิลปะดั้งเดิมสู่หุ่นร่วมสมัย” เป็นงานเสวนาในงานมหกรรมศิลปะการแสดงหุ่นร่วมสมัยไทย-อาเซียน ที่ได้เหล่าวิทยากรผู้มีความรู้ด้านนี้มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง

นายนิมิตร พิพิธกุล ศิลปินดีเด่นรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปการแสดง เล่าถึงวิวัฒนาการของหุ่นไทยและอาเซียน

“เรื่องของศิลปะหุ่นร่วมสมัยของไทยเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2557 มีการบันทึกประวัติหุ่นใหม่ เพราะที่ผ่านมาเราเสียโอกาสได้เห็นหุ่นท้องถิ่น รวมทั้งขาดวิถีการดูแลสนับสนุน เพราะการสนับสนุนเงินทุนหรือผู้ชมมันทำให้เกิดการพัฒนา ยิ่งมีคนดูมากขึ้นยิ่งทำให้เค้าอยากจะสร้างสรรค์ ยิ่งมีการแลกเปลี่ยนมากขึ้นยิ่งทำให้เค้าอยากทดลองทำสิ่งใหม่ๆ และการเกิดเทศกาลหุ่นมีส่วนทำให้หุ่นเกิดการแลกเปลี่ยน แข่งขันจนสร้างแนวทางใหม่ๆ ขึ้นมา”

“และเราเชื่อว่าคนดูต้องการดูศิลปะในฐานะเอนเตอร์เทนมากขึ้น เห็นว่าอาเซียนเริ่มมีหุ่นประเภทสตรีท เปิดเพลงเต้นระบำร้องเพลง ซึ่งดูเหมือนว่าถูกอกถูกใจผู้ชมเพราะเค้าต้องการดูแค่นั้น ไม่ได้ต้องการดูหุ่นแบบมีเรื่องราวหรือในแนวอนุรักษ์สักเท่าไหร่” นิมิตร กล่าวปิดท้าย

นายรัตน์ เพื่อนรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นไทยร่วมสมัย เชื่อว่าหุ่นยังเป็นสื่อการเรียนรู้ และเด็กๆ มีส่วนสำคัญในการสืบทอดเรื่องราวเหล่านี้

“หุ่นไม่ได้เป็นแค่สื่อกลางอย่างเดียวยังเป็นการเรียนรู้ได้ด้วย เช่น เด็ก ๆ ได้เรียนรู้กระบวนการทำหุ่น การเชิดหุ่น ให้เค้าได้คิดวิธีการเชิดของเค้าเอง และผมเชื่อว่าเด็กจะพัฒนาหุ่น แต่ในขณะเดียวกันหุ่นที่เด็กทำมันพัฒนาตัวเด็กตลอด“

การเสวนาครั้งนี้สิ้นสุดลงพร้อมกับตะกอนความคิดของผู้เข้าฟังทุกคนว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนควรจะให้ความสำคัญและเล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงของหุ่นละครและหุ่นกระบอกให้พร้อมมอบความบันเทิงแก่คนทุกรุ่นทุกวัย