Work&Life ทำ'ได้'ไม่ต้องเลือก

Work&Life ทำ'ได้'ไม่ต้องเลือก

เมื่องานโหลด ทำสังคมเข้าโหมดคุมกำเนิด ประชากรเกิดน้อย ช่วยกันหาวิธีการที่ทำให้ 'ชีวิต'กับ 'งาน' ก้าวไปได้พร้อมๆกัน

ว่ากันว่า…ในศตวรรษที่ 19 ซึ่งสังคมยังอยู่ในยุคเกษตรกรรม เรื่องของ Work (การงาน) กับ Life (ชีวิต) ยังเป็นเรื่องเดียวกัน

นั่นเพราะเมื่อฝ่ายชายออกไปทำไร่ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ซึ่งไม่ไกลจากบ้าน ด้านภรรยาก็เตรียมอาหาร เลี้ยงดูลูก แถมยังมีอีกบ่อยครั้งที่ทั้งครอบครัวออกไปชีวิตร่วมกันในชั่วโมงทำงาน พ่อทำ แม่ช่วย ลูกให้กำลังใจอยู่ข้างๆ

“จนเมื่อปฏิวัติอุตสาหกรรม ฝ่ายชายต้องย้ายที่ทำงานมาสู่โรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ Work-Life กลายเป็นคนล่ะเรื่อง นำมาสู่การเรียกร้องให้มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เรียกร้องขอเวลาอยู่กับครอบครัว และค่อยๆเปลี่ยนมาถึงยุคปัจจุบันที่ผู้หญิงซึ่งเป็นภรรยายังต้องเปลี่ยนจากแม่บ้าน มาช่วยสามีหาเงิน” ศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าย้อนไปถึงต้นทางในวันที่การงานกับชีวิตยังเป็นเรื่องเดียวกัน

ก่อนที่ 100 กว่าปีให้หลังมันจะกลายเป็นสิ่งคนละขั้ว จนนำไปสู่การเรียกร้องหาความพอดีที่แต่ละคนก็ยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

Work-Life ไม่ Balance

บทความวิชาการนิยามคนที่มีสภาวะบ้างาน หรือที่เรียกว่า Work holism ว่าคือผู้ที่ทำงานหนัก มีความทุ่มเทสูงในการทำงาน มีความต้องการทำงานเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถควบคุมการทำงานได้ ซึ่งข้อดีของคนกลุ่มนี้คือ สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วย มีจิตใจที่จดจ่อกับการทำงาน และจะประสบความสำเร็จในเรื่องหน้าที่การงานในที่สุด

ขณะที่ข้อเสียนั้น เป็นไปได้มากว่าคนกลุ่มนี้ต้องแลกด้วยอะไรหลายๆ อย่าง อาทิ สุขภาพ ครอบครัว ความอิสระ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ที่การทำงานหนักนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็น ปวดหัว ปวดหลัง ปวดไหล่ สายตาพร่ามัว แบบที่เรียกกันว่าโรคออฟฟิศซินโดรม ตามมาด้วยความเครียด ความดัน โรคหัวใจ ฯลฯ ส่งผลในด้านอารมณ์ ที่มักจะเกรี้ยวกราดทั้งกับเพื่อนร่วมงานและครอบครัว

พนักงานบริษัทหญิงคนหนึ่งยอมรับว่า ทุกคนรู้ดีถึงหลักการ Work-Life Balance แต่การแข่งขันในองค์กร ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การเลื่อนตำแหน่ง เงินเดือน ทำให้ต้องทำงานหนัก ยิ่งเฉพาะโลกนี้ไม่เคยมีของฟรี วิถีเช่นนี้เป็นเรื่องที่ใครๆ หลบเลี่ยงไม่ได้

“ถึงวันหยุดก็นอนเปื่อย ที่คิดไว้ว่าจะเจอเพื่อน หาแฟน ก็ไม่ได้ทำหรอก เกือบทุกคนก็เจอแบบนี้ทั้งหมด นอกจากคนที่บ้านรวยที่เขาเลือกได้” มนุษย์เงินเดือนอายุงานกว่า 10 ปีให้ความเห็นตรงๆ

มันอาจจะเป็นแค่ปัญหาระดับปัจเจก ถ้าวันนี้เรื่องของการทำงานหนักไม่ได้เชื่อมโยงกับภาวะของประเทศที่อยู่ในยุคเกิดน้อย-ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จนรัฐบาลต้องส่งเสริมการมีบุตร ดังเช่น แคมเปญสาวไทยแก้มแดงมีลูกเพื่อชาติตามที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้

ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ยอมรับว่า สังคมแบบอุดมคติที่ชีวิตสมดุลทุกด้านเป็นไปได้ยากจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงจำนวนมากมีบทบาทหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงชีพเคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ชาย เวลาเดียวกับที่สังคมส่วนหนึ่งยังคาดหวังบทบาทผู้หญิงกับการทำงานบ้าน ดังนั้นการแต่งงาน การสร้างครอบครัว การมีบุตรจึงกลายเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดของความก้าวหน้าในการทำงานของคนรุ่นใหม่

“จะบอกว่าการงานที่หนักแปรผันกับการเกิดของประชากรก็ว่าได้ อย่างปัจจุบันผู้หญิงไทยเลือกที่จะไม่มีบุตร ส่งผลให้จำนวนเด็กแรกเกิดมีแนวโน้มลดลงในแต่ละปี โดยขณะนี้จำนวนเด็กแรกเกิดมีจำนวนไม่ถึง 700,000 รายต่อปี และในอนาคตอีกราว 30 ปีข้างหน้า จำนวนการเกิดมีแนวโน้มจะลดลงอยู่ในราว 500,000 รายต่อปี ซึ่งหมายถึงประชากรที่จะเข้าสู่กำลังแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้จะมีจำนวนลดลง”

มันจึงเป็นภาวะที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายและการปรับตัวสู่สมดุลใหม่ ทั้งในระดับโครงสร้างและระดับครอบครัวเพื่อสร้างความพอดีให้กับชีวิตเสียใหม่

Work-Life สไตล์ CEOs

เคยตั้งคำถามไหมว่าชีวิตกับการทำงานที่สมดุลทั้งสองด้านคือเรื่องโลกสวยหรือไม่ ?

ถ้อยความจาก ฟอร์เวิร์ดเมล์ที่ถูกแชร์ต่อๆ กัน บอกเคล็ดลับถึงการปรับตัวให้ชีวิตไปได้ดีทั้งการงานและส่วนตัวว่า หากไม่อยากให้ชีวิตต้องรุมเร้านั้นคุณต้อง… 1. ปรับการทำงานและแบ่งเวลาให้ได้ 2. อย่าหมกงานให้มากเกินไปแล้วค่อยลงมือทำ 3.จัดตารางงาน ทำลิสต์ ปรับการทำงานให้เหมือนวันพักผ่อน 4.ใช้ชีวิตในวันเสาร์-อาทิตย์อย่างเต็มที่ เพื่อให้วันที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศคือวันคุณภาพของชีวิตและครอบครัว

ส่วนในเวทีเสวนา “Work-Life Balance สไตล์ CEOs” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ UNFPA เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกว่า การสร้างความสมดุลไม่ใช่เรื่องโลกสวย ดังนั้นเขาเห็นด้วยกับเรื่องการแบ่งเวลา เพราะถ้าทำไม่ได้นั่นหมายถึงจะไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย

“พอหมดเวลาทำงานก็ต้องเคลียร์สมองออกไป จะได้มีเวลาให้กับครอบครัวได้เต็มที่ ไม่ใช่ตอนอยู่กับครอบครัวจะต้องมากังวลเรื่องงานแบบนี้ไม่ดี เพราะถ้าปะปนกันทั้งสองอย่าง งานและครอบครัวก็จะแย่ลงทั้งคู่ ที่สำคัญคือเรื่องสุขภาพ การออกกำลังกาย การกินอาหาร หากร่างกายดี ประสิทธิภาพการงานก็จะดี” ตัวแทน CEOs ให้ความเห็น

ส่วน ดร.เดือนเด่น นิคมริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย บอกว่า นอกจากการฝึกสมาธิเพื่อให้การทำงานและชีวิตครอบครัวไปด้วยกันได้แล้ว คนยุคใหม่อาจต้องหาตัวช่วย เช่น ในกรณีของเธอซึ่งโชคดีที่มีคุณแม่ ทดแทนการเลี้ยงลูกในวันที่เธอและสามีต้องไปทำงาน จากนั้นเมื่อมีเวลาด้วยกันเธอจะพยายามสร้างระเบียบวินัย สร้างตัวอย่างให้ลูกเห็น

“ความสมดุลในครอบครัวสำหรับตัวเองคือจะไม่รับงานวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะเป็นเวลาที่ต้องให้กับครอบครัว ถ้าให้เลือกงานกับครอบครัวต้องเลือกครอบครัวก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าทิ้งงาน แต่ก็ไม่ได้ทุ่มให้งาน 100% การทำงานในวันธรรมดาก็จะทำงานเต็มที่”

ชีวิน โกสิยพงษ์ หรือ บอย โกสิยพงษ์ ผู้บริหาร บริษัท เลิฟ อิส จำกัด บอกว่า เขาพยายามสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน เพื่อให้พนักงานมีความสุข นั่นเพราะถ้าครอบครัวพนักงานพัง งานของบริษัทก็พังไปด้วย

ส่วนเรื่องการดูแลลูกนั้นเขาเชื่อว่า เด็กมีพัฒนาการที่แตกต่างไปในแต่ละช่วงอายุ การมีลูกจึงไม่ได้หมายความว่าชีวิตการทำงานจะสูญเสียไปทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาที่ลูกต้องการพ่อแม่จะเริ่มตั้งแต่ 0-6 ปี ช่วงเวลานี้จึงเข้าใจได้ว่าต้องให้เวลากับลูกมากเป็นพิเศษ ช่วงอายุ 6-12 ปี ก็จะให้เวลาในอีกรูปแบบหนึ่ง และเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว การใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่จะลดน้อยลงไป ทำให้กลับมาสู่การทำงานได้อย่างเต็มที่

“ตอนผมจะมีครอบครัว ผมถามตัวเองว่าต้องการอะไร คำตอบที่ได้คือเราต้องการความรัก ต้องการชีวิตที่ดี ทำให้เรารู้ว่าควรต้องจัดสมดุลชีวิตอย่างไร ผมว่าความสุขในชีวิตเราสร้างได้ อย่างช่วงแรกๆ เราอาจต้องให้เวลากับครอบครัวมากหน่อย เพราะลูกต้องการพ่อแม่ แต่เมื่อเขาโตขึ้นเขาก็ต้องการเพื่อน ต้องการจะทำอะไรที่ตัวเองชอบ เราก็จะมีเวลามากขึ้น จากนั้นค่อยกลับมาทุ่มเทเรื่องงาน”

ชีวิต-งาน ไปด้วยกันได้

 ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ ผู้บริหาร บริษัท คลิ๊กฟอร์ เคลฟเวอร์ จำกัด บอกเคล็ดลับว่า การจะทำให้ชีวิตการงานและครอบครัวดีไปพร้อมๆ กันได้นั้น ต้องบริหารเวลาให้ได้

โดยเขาจะมีพี่เลี้ยงเพื่อช่วยดูแลลูกในเรื่องพื้นฐาน ส่วนตัวเองจะใช้เวลาว่างที่มีอยู่น้อยมาทำเป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ลูกๆ มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวและการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อเปิดประสบการณ์

“วันไหนที่ผมหยุด ผมจะไม่นอนเฉยๆ หรือแค่อยู่บ้านกับลูก แต่เราจะหาเกม หากิจกรรมทำร่วมกัน และใช้เวลาที่มีน้อยนิดเป็นเวลาที่มีคุณภาพ ทั้งพ่อ แม่ ลูก ผมจะไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไป” คุณพ่อน้องณัชชา บอก

อย่างไรก็ตาม ทุกคนลงความเห็นว่า การจะสร้างสมดุลให้กับชีวิตและการงานได้ ย่อมไม่ใช่เรื่องจำกัดเฉพาะครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเท่านั้น แต่รัฐเองก็ต้องมีนโยบาย กระตุ้นให้การเกิดความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว รวมไปถึงสภาพแวดล้อมพื้นฐานที่จำเป็นต่อการตัดสินใจมีครอบครัวและมีบุตรด้วย

อาทิเช่น องค์กรต่างๆ ต้องจัดพื้นที่การทำงานที่สมดุลต่อคุณภาพชีวิต การมีพื้นที่สำหรับเด็กที่สามารถทำให้พนักงานเต็มที่ไปกับการงานและการเลี้ยงดูลูกได้ นั่นเพราะการมีคุณภาพชีวิตและสมดุลชีวิตได้นั้นคือเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยให้วัยแรงงานที่เป็นคนรุ่นใหม่อยากมีลูกมากขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันมีผู้บริหารระดับสูงในภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนรุ่นใหม่ และอยู่ในวัยเจริญพันธุ์

“ระยะเวลา 20 ปีถัดไปจากนี้มีความสำคัญยิ่งต่อการกำหนดทิศทางและออกแบบสร้างแรงจูงใจให้แก่ประชาชน หากพ่อแม่มีปัจจัยทางการเงินและปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้สามารถประกอบอาชีพไปพร้อมๆ กับการมีบุตรได้ ไม่ใช่คิดว่าการมีครอบครัวคือจุดเปลี่ยนของอาชีพ”ดร.วาสนา บอกถึงความท้าทายของการสร้างสังคมที่ “ก้าว”ไปได้ทั้งการงานและชีวิตครอบครัว ซึ่งแปรผันไปกับปริมาณและคุณภาพประชากร

ไม่ต้องย้อนอดีตไปไกลถึงศตวรรษไหน เอาแค่ พ.ศ.นี้

Work กับ Life สมดุลได้ ไม่ใช่เรื่องโลกสวย