ทรีตเมนท์ตังค์ หลังสงกรานต์

ทรีตเมนท์ตังค์ หลังสงกรานต์

เพราะเงินทองไม่มีครีมหรือเซรั่มสำหรับฟื้นบำรุง หลังจากความร้อนแรงและเปียกชุ่มของสงกรานต์ได้พรากความกระจ่างใสของเงินในกระเป๋าอย่างโหดร้ายทารุณ มาคิดกันดีกว่าว่าจะเอาไงต่อดี

ด้วยความที่คนไทยส่วนมากเป็นกลุ่มชนที่ค่อนข้าง Work hard, play hard ทั้งการงานและการสังสรรค์ โดยเฉพาะเรื่องสังสรรค์ขอให้บอก พี่ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก บ้านนี้เมืองนี้จึงมีเทศกาลรวมถึงงานรื่นเริงแบบพหุวัฒนธรรม จะเทศกาลของชาติใดไทยเรารับมาหมด ยิ่งเป็นเทศกาลระดับมงกุฎแพลตตินั่มฝังเพชรอย่าง ‘สงกรานต์’ รับรองว่า ‘จัดเต็ม!’
หลายคนใช้เวลาวันหยุดยาวเพื่อกลับภูมิลำเนา บางคนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ อีกจำนวนมากนี่คือห้วงเวลาแห่งปาร์ตี้ แต่หลังจากอิ่มเอมใจไปกับชีวิตสุดเหวี่ยง โดยลืมนึกถึงความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการณ์ในกระเป๋าสตางค์ ทำให้บางคนต้องกุมขมับกับชีวิตที่เหลือแบบเงินแทบไม่เหลือ

  • น้ำแห้ง...กระเป๋าก็แห้ง

มิน (นามสมมติ) พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง จากบ้านที่จังหวัดจันทบุรีมาทำงานในเมืองกรุงด้วยหวังว่าจะส่งเงินกลับไปบ้าน มีกินมีใช้ตามสมควร และบางส่วนคือความใฝ่ฝันที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศไต้หวันในเดือนพฤศจิกายนนี้
เธอก็เหมือนอีกหลายคนที่อาศัยช่วงสงกรานต์เพื่อกลับบ้านไปรดน้ำขอพรพ่อแม่ แต่ใช่ว่าชีวิตจะเรียบง่ายแค่นั้น การกลับบ้านแต่ละทีมีเรื่องให้ต้องจ่ายไปกับสิ่งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจมากมาย เธอเล่าว่าก่อนกลับบ้านวางแผนไว้อย่างดีว่าจะใช้เงินไม่เกิน 3,000 บาทรวมค่าเดินทาง เพราะนี่คือเงินที่เจียดมาจากกองเงินเดือนและเงินเก็บแล้ว

“คิดไว้แล้วว่าหยุดแค่ไม่กี่วันก็คงใช้เงินไม่เกินนี้ ก็คงมีแค่ค่ารถ ค่ากินข้าวปกติ กินแบบดีบ้างสักนิดหน่อย เพราะปกติก็ไม่ได้ไปเที่ยวไหนนอกจากอยู่บ้าน”

แต่พอกลับมาถึงกรุงเทพฯ เธอมานั่งทบทวนพลางนับเงินในกระเป๋า ปรากฏว่าสงกรานต์คราวนี้ดึงเงินไปจากกระเป๋าร่วมสองเท่าจากงบที่ตั้งไว้ มินบอกว่าเทศกาลทั้งทีก็อยากเลี้ยงพ่อแม่ ซื้ออาหารทะเลมาทำกิน พออีกวันก็อยากเลี้ยงอีก เป็นแบบนี้จนครบวันหยุด สำหรับบางคนเงินจำนวนนี้อาจไม่มากมาย แต่อย่าลืมว่าที่เกินงบนั้นคือส่วนที่ถูกดึงมาจากกองทุนสานฝันไปเที่ยวไต้หวันของพนักงานสาวคนหนึ่ง

“เดือนพฤศจิกายนตั้งใจไว้ว่าจะไปเที่ยวไต้หวัน เป็นความใฝ่ฝันเลยที่จะได้ไปที่นั่นสักครั้งในชีวิต ก็เลยเก็บเงินแล้วตั้งงบไว้ว่าค่าตั๋วเครื่องบินโปรโมชั่นถูกๆ ที่พักธรรมดา ค่ากิน ค่าชอปปิงเล็กๆ น้อยๆ และเราไปแค่ 4 วัน น่าจะต้องมีสัก 30,000 บาท เพิ่งเริ่มเก็บเงินเดือนนี้ (เมษายน) ก็เหลืออีก 6-7 เดือน เฉลี่ยต้องเก็บได้เดือนละประมาณ 4,000 กว่าบาท แต่ตอนนี้เงินของเดือนแรกก็แหว่งไปแล้ว ในเดือนต่อไปก็ต้องประหยัดส่วนอื่นมาชดเชย”

‘ส่วนอื่น’ ที่ว่ามินอธิบายว่าคือส่วนของเงินที่ต้องกินใช้ยามปกติ และเงินเก็บจริงๆ ที่ต้องมีเผื่อฉุกเฉินในอนาคต แปลว่า การนำเงินส่วนอื่นมาโปะจะทำให้เงินส่วนอื่นแหว่งแทน เป็นงูกินหาง

และที่เป็นปัจจุบันคืออีกครึ่งเดือนที่เหลือก่อนเงินเดือนรอบใหม่จะเข้ากระเป๋า ตอนนี้เธอเหลือเงินที่ใช้ได้จริงๆ 2,000 บาทถ้วน แต่ต้องรับมือกับค่าเดินทางไปกลับที่ทำงาน ค่าอาหารวันละ 2-3 มื้อ ซึ่งเธอยอมรับว่า “ไม่พอแน่นอน”

ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ใด ด้วยปรารถนาดีหรือแค่เพื่อบันเทิง การเฉลิมฉลองเกินคำว่า ‘พอดี’ มักจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ชวนปวดหัวอยู่แล้ว ยิ่งสงกรานต์เป็นเทศกาลใหญ่มีปีละหน อาการ ‘มือเติบ’ จึงแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

“เทศกาลเป็นช่วงพิเศษ ที่คนจะใช้เงินเป็นก้อน และใช้เพลินๆ อีกอย่างคนมักจะมีข้ออ้างว่าก็ทำงานมาหนัก ก็ต้องเที่ยว ก็ต้องให้รางวัลตัวเอง หลังๆ จะมีคำพูดประมาณว่า “ชีวิตเรา...ใช้ซะ” ซึ่งนั่นคือการมองระยะสั้น ถ้ามองระยะยาวเขาอาจจะไม่คิดแบบนี้ เพราะชีวิตคนไม่ได้อยู่แค่เทศกาล ความสุขจริงๆ มีได้ทุกวัน โดยที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะ หรือถ้าจะเที่ยวก็วางแผนล่วงหน้า จะไม่กระทบกระเทือนมาก” ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน กล่าว

ด้วยความเป็นไทยๆ บวกกับชัยภูมิของบ้านเราที่อุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ คนไทยจึงไม่ต้องคิดอะไรมากเรื่องปากท้อง สำนวนที่ว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ สะท้อนภาพอดีตที่พอหิวก็ไปเด็ดผัก จับปลา ตำน้ำพริก เรียกว่าเป็นวิถีสโลว์ไลฟ์ (slow life) ขนานแท้

เมื่อไม่ต้องคิดมากก็ไม่ค่อยวางแผน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินบอกว่าทุกวันนี้บ้านเราไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ต้องคิดมากขึ้นและวางแผนมากขึ้น

มีอินโฟกราฟิก (infographic) ภาพหนึ่งที่ ดร.อัจฉรา นำมาใช้ประกอบการบรรยายบ่อยครั้ง เป็นภาพต้นเดือน, กลางเดือน, ปลายเดือน และสิ้นเดือน ตอนต้นเดือนคือภาพกินอาหารญี่ปุ่นเกาหลี กลางเดือนเป็นข้าวราดแกง ปลายเดือนเป็นไข่เจียวปลากับกระป๋อง สิ้นเดือนคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เหมือนเป็นภาพสะท้อนความจริงแบบขำๆ แต่จริงๆ ไม่ขำ เพราะคนมักเชื่อว่านี่คือการจัดสรรเงินว่ามีเยอะใช้เยอะ มีน้อยใช้น้อย แต่อันที่จริงการวางแผนการเงินคือต้อง ‘สบายวันนี้และสบายวันหน้า’ ด้วยสมดุลทางการเงิน

  • ทำอย่างไรให้ I will survive

“ปัญหาคือคนไทยไม่วางแผนการเงิน แม้แต่จะไปเที่ยวก็จะวางแค่คร่าวๆ สมมติอยากไปต่างประเทศใกล้ๆ ใช้เงินก้อนเท่านี้ หรือจะกลับบ้านสงกรานต์ต้องเตรียมเงินก้อนเท่านี้ และคนไทยส่วนมากจะนำเงินที่มีกลับไปใช้ตอนกลับบ้าน เพราะสงกรานต์เป็นเทศกาลใหญ่ จึงต้องใช้เงินเยอะมาก” ดร.อัจฉรา สะท้อนต้นตอของปัญหาอย่างคร่าวๆ ซึ่งคำสำคัญน่าจะอยู่ที่ ‘การวางแผนการเงิน’

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินคนนี้เล่าว่าช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้สังเกตได้ว่ามีคนเที่ยวเยอะมาก และเป็นเที่ยวต่างประเทศด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่ต่างประเทศใกล้ๆ แต่เป็นทวีปยุโรป อเมริกา ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าต้องใช้เงินเยอะมาก หากนั่นเป็นเงินเหลือๆ ของผู้มีอันจะกินก็คงไม่เป็นไร แต่หลายคนคือชนชั้นกลาง มนุษย์เงินเดือน ที่กำลังตกอยู่สภาวะเดียวกันกับคนกลับบ้านไปใช้เงิน ถ้าเปรียบเงินของพวกเขาตอนนี้คงคล้ายผิวที่ไหม้แดด หรือปราศจากความชุ่มชื้น คำถามคือจะมีทางใดที่จะช่วยฟื้นบำรุงได้

“กลับมาต้องทบทวน นั่งเงียบๆ สักสองชั่วโมง นั่งคิดจริงจังว่า จริงๆ แล้วเราใช้เงินไปเท่าไร อย่างคนซื้อทัวร์ไปญี่ปุ่น เกาหลี อาจใช้เงินก้อนหนึ่ง 4-5 หมื่น แต่มันไม่ใช่แค่นั้น ทัวร์หลักหมื่นบางทีชอปปิงหลักแสน เพราะชอปปิงไม่ใช่แค่ซื้อของ แต่มีเสื้อผ้า ชุดโอเวอร์โค้ท (overcoat) กระเป๋า รองเท้า พวกพร็อพ (prop) ทั้งหลายที่ต้องเตรียมไป ตรงนี้ค่าใช้จ่ายสูงมาก ถ้าไม่คิดทบทวนดีๆ อาจจะไม่รู้ พอไม่รู้อาจจะไม่ช็อก ธรรมชาติของคนถ้าไม่รู้รายละเอียดจริงๆ ก็จะไม่ตกใจ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน”

สิ่งที่ต้องทำเมื่อกลับมาคือ ต้องลิสต์ (list) ว่าใช้อะไรไปเท่าไรอย่างละเอียด อย่าดูแค่คร่าวๆ ต่อด้วย ไตร่ตรอง ว่าเงินที่ใช้ไปก้อนนี้จะสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองหรือไม่ จะกระทบแผนการในอนาคตหรือไม่ ซึ่งในทางทฤษฎี สินทรัพย์ของคนต้องมี 3 ส่วน คือ สินทรัพย์เพื่อสภาพคล่องประมาณหนึ่ง, สินทรัพย์เพื่อความสะดวกสบายประมาณหนึ่ง และสินทรัพย์เพื่ออนาคตประมาณหนึ่ง แต่คนไทยส่วนมากนิยมใช้สินทรัพย์ไปกับความสะดวกสบายในปัจจุบัน ผลคือ กลับจากสงกรานต์หรือท่องเที่ยว คนกลุ่มหนึ่งจะกระเทือนเรื่องสภาพคล่อง จะช็อตไปในระยะสั้นๆ ยิ่งถ้ารายได้ไม่มากพอก็จะกระทบในระยะยาว

เมื่อรู้จำนวนเงินและผลที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องมาคิดแล้วว่าจะทำอย่างไร?

“ต้องคิดแล้วว่ารายได้เราจริงๆ เท่าไร มีค่าใช้จ่ายปกติเท่าไร ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเท่าไร เราต้องจัดการกับตัวเองเพื่อลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากเทศกาล แล้วพอปีหน้ามีเทศกาลหรือท่องเที่ยวอะไรอีก ควรจะต้องวางแผนล่วงหน้านานและชัดเจน”

ดร.อัจฉรา แนะนำว่าเมื่อทำครบทั้งสามข้อแล้วให้มองไปถึงเทศกาลครั้งต่อไปว่าต้องวางแผนล่วงหน้าให้ชัด 100 เปอร์เซ็นต์ยิ่งกว่าระบบ 4K แล้วเที่ยวให้อยู่ในงบให้ได้ นอกจากจะช่วยให้ไม่เดือดร้อนภายหลัง ยังสร้างสีสันของการเที่ยวอีกด้วย ท้าทายมากว่ามีเท่านี้จะเที่ยวอย่างไรให้ไม่เกินงบนี้ ดีกว่าเที่ยวไปเรื่อย ใช้ไปเรื่อย แล้วกลับมาโอดครวญทีหลัง เพราะ “เที่ยวต้องสนุก แต่กลับมาต้องไม่ทุกข์สาหัส”

“ถามว่าเทศกาลควรใช้เงินเท่าไร ไม่มีตัวเลขที่แน่นอน แต่จะทำได้โดยการที่เรารู้ข้อมูลทางการเงินของเราทั้งหมด รู้รายรับ รายจ่าย แล้วเราจะกำหนดได้ จริงๆ ต้องทำเป้าหมายกระปุกหนึ่ง กระปุกนี้เก็บไว้เที่ยว อย่างอาจารย์เองก็มีตัดเงินส่วนหนึ่งอัตโนมัติเข้าบัญชีออมทรัพย์พิเศษของสหกรณ์ ทุกเดือนตัดเท่านี้ๆ พอเป็นก้อนก็เที่ยวได้แล้ว”

สำหรับคนที่ยังนึกไม่ออกว่าจะเจียดเงินส่วนไหนมาออมไว้เที่ยว ผู้เชี่ยวชาญฯ แนะนำว่าแค่วันละ 50 บาท หรือเท่ากับลดละชากาแฟวันละแก้ว หนึ่งปีมีเงินส่วนนี้ราว 20,000 บาท ซึ่งเป็นแค่เงินต้นไม่นับดอกเบี้ยจากการนำไปต่อยอด แค่นี้ก็เที่ยวใกล้ๆ ได้แล้ว ถ้าถวิลหาที่เที่ยวไกลหรือแพงกว่านี้ ก็เติมเงินเก็บก้อนนี้ไป การลดรายจ่ายจะเพิ่มรายได้ที่ทำให้ได้เที่ยวอย่างคาดไม่ถึง (หรือไม่เคยคาดคิด) เช่น วันละ 50 บาท เก็บ 3 ปี จะมีเงินไปเที่ยวยุโรปได้เลย

“คนที่ไม่เข้าใกล้การวางแผนการเงินจะไม่รู้รายละเอียดของเงินพวกนี้ รู้ไหมว่าเงินที่ใช้สูบบุหรี่วันละซอง ครึ่งปีซื้ออิฐบล็อกสร้างบ้านได้หนึ่งหลัง แค่เขาไม่คิดไง”

รู้วิธี ‘ห้ามเลือด’ กันแล้ว ต่อไปคือวิธี ‘สมานแผล’ เราต่างรู้กันดีว่าเทศกาลจะวนมาอีกทีเมื่อไร และแนวโน้มคราวหน้าจะมีค่าใช้จ่ายอะไร เมื่อมี ‘แผน’ ก็ต้องมี ‘เผื่อ’ วิธีการสำรองเงินไว้ล่วงหน้าจะช่วยได้ ส่วนตอนนี้คนที่แพ้ก็ต้องดูแลตัวเอง

“ตอนนี้ต้องคิดกันว่าอีกครึ่งเดือนจะอยู่กันอย่างไร มีเงินอีกเท่าไร แต่คนที่กลับต่างจังหวัดมักจะมีเสบียงกลับมาด้วย ก็ต้องอยู่ให้ได้ด้วยเสบียงเหล่านี้ คนไทยถนัดเรื่อง crisis management (การจัดการความเสี่ยง) เมื่อพลาดไปแล้วก็ต้องลงโทษตัวเองที่ไม่รู้จักวางแผนให้ดี จนเงินหมด ก็ต้องรับสภาพ ผ่านมันไปให้ได้ คราวหน้าอย่าทำอีก”

มีตัวอย่างหนึ่งที่ ดร.อัจฉรา เคยช่วยวางแผนให้แก้หนี้ คนๆ นี้ทำงานอยู่ย่านสีลมซึ่งรู้กันดีว่าเป็นย่านที่ค่าครองชีพแพงระยับ แต่ถ้าจะแก้หนี้ให้ได้ ต้องใช้เงินแค่วันละ 150 บาท ขาดได้แต่ไม่เกิน เช้าก็ต้องหิ้วข้าวกล่องตลาดนัดขึ้นไปเลย เที่ยงไม่ลงมาซื้อเพิ่ม ดื่มกาแฟของที่ทำงาน เพราะเงินต้องไปหมดกับค่าเดินทาง จากเดิมกินข้าวเย็นตามร้านก็ต้องกลับไปกินข้าวที่บ้าน ทำไป 45 วัน เขาบอกว่าแรกๆ รู้สึกฝืน แต่ทำไปถึงจุดหนึ่งกลับกลายเป็นนิสัยใหม่ พอไม่ลงมาตอนกลางวันก็ไม่ต้องชอปปิงตามตลาดนัด สถานะทางการเงินก็ดีขึ้น เป็นตัวอย่างการหักดิบเพื่อไปเคลียหนี้เก่า เป็นเวรกรรมที่ทำไว้เองทั้งสิ้น กรรมคือการกระทำ การแก้กรรมก็ต้องนั่งสำนึกก่อนว่าทำกรรมอะไรไว้ ผลจากกรรมกระทบความมั่งคั่งอย่างไร และหลังจากนี้ต้องทำอะไรเพื่อแก้กรรมให้อนาคตดีขึ้น

นับจากนี้ไปอีกประมาณแปดเดือนก็จะถึงปีใหม่เทศกาลใหญ่อีกหน หวังว่าจะไม่ต้องวนมาคุยกันเรื่องสิ้นเนื้อประดาตัวแบบนี้อีก แต่จะได้เห็นประชาชนสุขสันต์ ‘หน้าใส’ มีเงินเก็บมีเงินใช้ ด้วยสูตรฟื้นบำรุงสูตรนี้