ขันน๊อต7รัฐวิสาหกิจเร่งแก้ตามแผนฟื้นฟู

ขันน๊อต7รัฐวิสาหกิจเร่งแก้ตามแผนฟื้นฟู

"คนร." เร่ง 7 รัฐวิสาหกิจทำตามแผนฟื้นฟู สั่ง "ทีโอที-กสท" เร่งตั้งบริษัทลูก เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน พร้อมเร่งขสมก.จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันในปีนี้

การประคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พบ.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วานนี้ (19 เม.ย.) ได้มีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งตามแผนฟื้นฟู

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า คนร.ได้ติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง โดยในส่วนของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) คนร. เห็นชอบในหลักการให้ บมจ. ทีโอที และบมจ. กสท จัดตั้งบริษัทลูก ได้แก่ บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (เอ็นบีเอ็น) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (เอ็นจีดีซี) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาของ ทีโอที และ กสท ให้มีศักยภาพการแข่งขันเพิ่มขึ้น และลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนระยะยาว

“บริษัทลูกที่ตั้งขึ้นใหม่นี้มีประสิทธิภาพในการบริหารงานเทียบเท่ากับบริษัทเอกชน เพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจในอนาคต ซึ่งหลักจากมีแผนตั้งบริษัทลูกที่ชัดเจนแล้วก็ให้ทั้ง ทีโอที และกสท ทำแผนฟื้นฟูให้สอดคล้องกับบริษัทลูก ซึ่งจะต้องเสนอแผนฟื้นฟูภายในเดือนพ.ค.นี้”

ส่วนผลการดำเนินงานโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน ของ ทีโอที คาดว่าจะดำเนินงานในช่วงแรกภายในเดือนพ.ค. 2560 และแล้วเสร็จทั้งหมด 2.5-3 พันหมู่บ้าน ภายในปีนี้ ซึ่ง ทีโอที สามารถประหยัดต้นทุนในโครงการได้ประมาณ 1 พันล้านบาท

เร่งขสมก.จัดหารถใหม่ภายในปีนี้

ด้านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คนร. ได้เร่งให้จัดซื้อรถโดยสารใหม่โดยเร็ว โดยในส่วนของรถโดยสารเอ็นจีวี ขสมก. จะจัดซื้อทั้งสิ้น 489 คัน ซึ่งภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย. จะได้ผู้ยื่นประมูล ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการภายในประเทศเข้าร่วมประมูลได้มากขึ้น คาดว่าภายในเดือนพ.ย. จะได้รถโดยสารเอ็นจีวี มาทดแทนรถโดยสารเก่าที่หมดอายุการใช้งาน

นอกจากนี้ จะมีการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 200 คัน โดยจะเร่งแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดินในเร็วๆนี้ เพราะตามมติ ครม. เดิม ได้กำหนดเพียงการสั่งซื้อรถโดยสารเอ็นจีวีเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องแก้ไขมติ ครม. เดิมก่อนจึงจะจัดทำทีโออาร์ ซื้อรถโดยสารไฟฟ้าได้ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะนำเข้ามาใช้ล็อตแรกได้ 50 คัน และจะทยอยส่งมอบให้ครบ 200 คันตามที่กำหนด

“การจัดซื้อรถโดยสารใหม่ของ ขสมก. เป็นหัวใจที่สำคัญมาก เพราะรถเก่าเสื่อมสภาพมีต้นทุนในการดำเนินงานสูง ทำให้ฟื้นฟูกิจการได้ยาก หากมีรถโดยสารใหม่เข้ามาทดแทน และปรับปรุงรถโดยสารเก่าได้ตามเป้าหมาย ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับขสมก. มากขึ้น”

แก้ปัญหา 2 แบงก์รัฐตามเป้า

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ธพว. มีความคืบหน้าและผลดำเนินงานดีที่สุด เป็นไปตามแผนทั้งการปล่อยสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย การบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งปีไม่ให้เกิน 1.66 หมื่นล้านบาท

"ขณะนี้ทำได้ตามเป้าหมายแล้ว ทำให้คาดว่าในการประชุม คนร.เดือน มิ.ย.นี้จะมีการเสนอให้ธพว.ออกจากแผนฟื้นฟู จากนั้นจะให้กระทรวงเจ้าสังกัดคือกระทรวงการคลังกำกับดูแล ธพว.ตามปกติ" 

ด้านธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) มีการดำเนินงานที่ล่าช้ากว่าแผนมาก ซึ่งคนร. มีความกังวล จึงได้กำชับให้เร่งปรับโครงสร้างทางการเงิน หรือการแยกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีเอฟ โอนไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ ไอเอเอ็ม บริหารเอ็นพีเอฟที่ไม่ใช่มุสลิมจำนวน 5 หมื่นล้านบาท ส่วนเอ็นพีเอฟที่เป็นชาวมุสลิม และหนี้ดี ให้ไอแบงก์บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้เร่งหาพันธมิตรแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ โดยกระทรวงการคลังจะทยอยเพิ่มทุนให้สอดคล้องกับแผน เพื่อให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส)เป็นไม่ติดลบ จะได้จูงใจพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมทุนกับไอแบงก์

นายเอกนิติ กล่าวว่า ความเสียหายของไอแบงก์ได้เกิดขึ้นไปแล้ว ทำให้ต้องมีการแก้ไข โดยเฉพาะการแยกหนี้ดีกับหนี้เสียออกจากกัน และเตรียมโอนหนี้เสียให้ไอเอเอ็มบริหารแล้ว ซึ่งจะมีการสรรหาผู้บริหารมาทำหน้าที่ตรงนี้ และไอแบงก์ก็ต้องเร่งหาพันธมิตร เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เช่น การลดสาขา และเปิดบูธในธนาคารอื่นอย่างธนาคารออมสิน ส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่อาจทำให้เพิ่มขึ้นได้จากโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีนี้มีจำนวนมาก

สั่งร.ฟ.ท.เร่งตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์

ขณะที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้กำชับให้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรายได้เพิ่มเติมโดยทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้น และควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ส่วน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คนร. ได้ให้ ร.ฟ.ท. ดำเนินโครงการต่างๆให้เป็นไปตามกำหนดการ ผลักดันให้มีการบริหารสินทรัพย์ ที่ดิน ของ ร.ฟ.ท. ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้คงค้างทั้งหมด

“หัวใจของการแก้ไขปัญหา ร.ฟ.ท. ก็คือการบริหารสินทรัพย์ โดย ร.ฟ.ท. จะต้องตั้งบริษัทลูกบริหารทรัพย์สินที่ดิน เนื่องจากขณะนี้ ร.ฟ.ท. ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ หากมีการบริหารจัดการโดยมืออาชีพ ก็จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับ ร.ฟ.ท. อีกมากส่วนที่ดินมักกะสันนั้นมีแผนที่จะให้เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในด้านคมนาคม”

ขสมก.เปิดประมูลเอ็นจีวีรอบใหม่ มิ.ย.

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าคนร.เห็นชอบแผนการจัดหารถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (รถเมล์เอ็นจีวี) จำนวน 489 คัน และรถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้รถเมล์ใหม่และการบริการที่ดีขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะนำเรื่องดังกล่าวรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการขสมก.รับทราบในวันที่ 21 เม.ย.นี้

สำหรับรถเมล์เอ็นจีวีจะเปิดประมูลรอบใหม่ได้ในเดือน มิ.ย.นี้ คาดว่าการเปิดประมูลใหม่และได้ผู้ชนะการประมูลในเดือน มิ.ย. ลงนามสัญญาในเดือน ก.ค. และบริษัทที่ชนะประมูลจะต้องส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีภายใน 90 วัน จึงคาดว่าจะได้รถเมล์ใหม่ในเดือน ต.ค.-พ.ย. นี้

อย่างไรก็ตาม ขสมก. ต้องการให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมประมูลรถเมล์เอ็นจีวีเพิ่มขึ้น หลังจากการเปิดประมูลครั้งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมเพียงรายเดียวและไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามที่ ขสมก. กำหนด

คาดส่งมอบรถไฟฟ้าล็อตแรกต้นปีหน้า

ส่วนโครงการจัดหารถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 200 คันนั้น ก่อนหน้านี้ได้รับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 1 ครั้ง และเตรียมรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 ในเดือน เม.ย. นี้ จากนั้นจะเปิดประมูลและคาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย. นี้ ซึ่งตามเงื่อนไขการประมูล (TOR) กำหนดว่าจะต้องทยอยส่งมอบรถล็อตแรกในเดือน ธ.ค. นี้จำนวน 50 คัน, ล็อตที่ 2 จำนวน 50 คัน ในเดือน ก.พ. 2561, ล็อตที่ 3 จำนวน 50 คัน ในเดือน เม.ย. 2561 และล็อตที่ 4 จำนวน 50 คัน ในเดือน มิ.ย. 2561

ตามแผนฟื้นฟูระยะ 5 ปีของ ขสมก. ระบุว่าต้องจัดหาเมล์จำนวน 3,450 คัน แบ่งเป็นการจัดหาเอ็นจีวีและรถเมล์ไฟฟ้า 689 คันในปีนี้ จากนั้นปี 2561 ต้องจัดหารถเมล์ 700 คัน, ปี 2562 ต้องจัดหา 600 คัน, ปี 2563 จำนวน 700 คัน และปี 2564 จำนวน 761 คัน ซึ่งรถเมล์ที่จัดหาในปี 2562-2564 ยังไม่ได้เลือกเทคโนโลยี เพราะยังมีเวลาในการศึกษารายละเอียด ส่วนรถเมล์เก่าที่ต้องปลดระวางในปี 2560 จำนวน 107 คัน, ปี 2561 จำนวน 501 คัน, ปี 2562 จำนวน 624 คัน, ปี 2563 จำนวน 669 คัน และปี 2564 จำนวน 852 คัน

“การจัดซื้อรถดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูการบริหารงานของ ขสมก.ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าเพื่อรองรับการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางใหม่ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จำนวน 138 เส้นทาง ซึ่งจะใช้รถโดยสารประจำทางใหม่ทั้งหมด 3,450 คัน ซึ่งปัจจุบัน ขสมก. มีรถเมล์ให้บริการทั้งหมด 2,735 คัน” นายสมศักดิ์ กล่าว