'ต้นทุน' ต่างชาติถือหุ้นไทย1,550

'ต้นทุน' ต่างชาติถือหุ้นไทย1,550

ต้นทุน "ต่างชาติ" ถือหุ้นไทยดัชนี "1,550 จุด"

ท่ามกลางกระแสความกังวลต่อสถานการณ์ตึงเครียดคาบสมุทรเกาหลี และการโจมตีซีเรีย มีผลกระทบต่อกระแสเงินทุนไหลเข้าออกของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในช่วง 2-3 วันก่อนเมื่อมีสถานการณ์ความไม่ชัดเจนเกิดขึ้นทำให้นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยราว 2.3 พันล้านบาท ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่า ต่างชาติเริ่มทยอยขายหุ้นไทยเพื่อทำกำไรหลังจากที่ซื้อมาเกือบทุกวันในเดือนมี..2560

บล.ทิสโก้ ระบุว่าฝ่ายวิจัยได้ประเมิน ความเสี่ยงขาลงของดัชนีหุ้นไทยรอบนี้ไม่หลุด 1,550จุด ภายใต้กรณีไม่บานปลายเป็นสงคราม แม้ความกังวลจากสถานการณ์การเมืองในต่างประเทศจะกดดันตลาดหุ้นไทยอยู่ในขณะนี้แต่มองว่า ดัชนีหุ้นไทยปีนี้ปรับตัวขึ้นเพียง 2% จากปิดสิ้นปีที่แล้วที่ดัชนี1,542 เทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก (MSCI World Index) ที่ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยราว 6% ถือว่าไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากเลย ดังนั้นน่าจะมีความอ่อนไหวน้อยด้วยเช่นกัน

ขณะที่เงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่า โดยในปีนี้ (YTD) แข็งค่าขึ้น 4% ขณะที่ต่างชาติซื้อสุทธิปีนี้มียอดเพียง 6.3 พันล้านบาท แสดงนัยถึงแรงขายจากต่างชาติน่าจะมีจำกัดแล้ว ส่วนต้นทุนการซื้อของต่างชาติรอบล่าสุดเมื่อคำนึงถึงผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งแล้ว (นับตั้งแต่วันที่ 17 มี..2560 - ปัจจุบัน) จะคิดเป็นระดับดัชนีที่ประมาณ 1,550

นอกจากนี้ภาพรวมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยไตรมาสแรกปีนี้คาดจะออกมาดี โดยเพิ่มขึ้น ทั้งงวดเดียวกันปีก่อนและงวดไตรมาส4ปี2559 อิงจากประมาณการกำไรของตลาดโดยรวม ณ วันที่ 18 เม.ย. 2560 มีจำนวน 61 บริษัท คิดเป็น 52% ของมูลค่าตลาดรวม คาดจะมีกำไรสุทธิรวม 1.42 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน และ 16% จากไตรมา4/2559 น่าจะช่วยปลุกแรงซื้อเก็งกำไรได้ไม่ยาก โดยเฉพาะช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวลง

บล.ซีไอเอ็มบี มีความเห็นว่า เหตุการณ์ที่ยังต้องติดตามต่อไป ยังคงเป็นเหตุการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ว่าจะออกมาอย่างไร โดยประเด็นที่ตลาดยังกังวลคือ ทางเกาหลีเหนือจะกลับมาทดสอบขีปนาวุธอีกหรือไม่ เหตุการณ์ความตึงเครียดในเกาหลี ยังอาจจะต้องใช้เวลาให้ตลาดย่อยข้อมูลอีกสักพัก หากเหตุการณ์ยังนิ่งๆและไม่มีอะไรเพิ่มเติมเข้ามา ตลาดจะกลับมาให้ความสำคัญกับงบไตรมาสแรกของหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารที่งบออกมาดีทั้ง 2 ข้างหรือธนาคารที่งบออกมาน่าผิดหวัง

ประเด็นที่ต้องติดตามในเดือนหน้าที่ถือว่าสำคัญต่อตลาดหุ้นคือ การให้น้ำหนักการลงทุนของ MSCI ว่าสุดท้ายทาง MSCI จะมีการเพิ่มน้ำหนักหรือลดน้ำหนักหุ้นเล็กและหากผลดำเนินงานธนาคารออกมาหมด MSCI เกิดปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยหนุนดัชนี ส่วนน้ำหนักในกลุ่มที่ทาง MSCI เพิ่มมาโดยตลอดหรือทรงในสัดส่วนที่สูง อย่าง พลังงาน อาจจะยังทรงๆตัว หลังราคาน้ำมันยังนิ่งอยู่ที่ 55 ดอลลาร์ต่อบาเรลล์และมองว่าทาง OPEC อาจลดกำลังการผลิตลงไปอีกในการประชุมเดือน พ.ค. ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยง ยังคงเป็นกลุ่ม ค้าปลีก เครื่องดื่ม หลังมูลค่าการซื้อขายหดหายไปมาก

หากดัชนีหุ้นค่อยๆย่อตัวลงหลังจากนี้ มองว่าเป็นการย่อ เพื่อขึ้นใหม่ โดยมองโอกาสที่ดัชนีขึ้นสูงไปที่กรอบ 1,650 จุด น่าจะอยู่ช่วงต่อไตรมาส 2/2560 ถึงไตรมาส3/2560 (หากเหตุการณ์ในเกาหลีไม่มีอะไรและไม่มีการปรับฐานของตลาดหุ้นสหรัฐ) หลังอัตราการทำกำไรของตลาดในภูมิภาคปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับการไหลเข้าของเม็ดเงิน ที่สำคัญตลาดหุ้นไทย ยังปรับขึ้นไม่มาก