135ปีศาลยุติธรรม 'ประธานศาลฎีกา' มั่นใจดูแลปชช.ไร้แพะ

135ปีศาลยุติธรรม 'ประธานศาลฎีกา' มั่นใจดูแลปชช.ไร้แพะ

ครบรอบ 135 ปีศาลยุติธรรม "ประธานศาลฎีกา" เผยมั่นใจดูแลประชาชนไร้แพะ ทุกคดีเป็นธรรมทั้งจำเลย-ผู้เสียหาย-สังคม

ที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญา ชั้น 8 อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 19 เม.ย.60 เมื่อเวลา 10.15 น. นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานพิธีเปิดทำการ “ศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญา” โดยนายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม , นายสุภัทร์ สุทธิมนัส อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และคณะผู้บริหารศาล ข้าราชการ ร่วมพิธี

ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า กระบวนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญาโดยการให้ความรู้และการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับทุกฝ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงความเป็นธรรมอย่างแท้จริง เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับการอำนวยความยุติธรรม โดยยึดมั่นในหลักนิติธรรม

การดำเนินการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ของศาลอาญา นับเป็นการเสริมสร้างพัฒนาองค์ความรู้ กระบวนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถเป็นต้นแบบในการเป็นศูนย์ข้อมูลความรู้แก่ศาลอื่นด้วย

" หวังว่าการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้มีอรรถคดี และการดำเนินกระบวนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้ตรงตามวัตถุประสงค์อันแท้จริง สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป"

ขณะที่นายสุภัทร์ สุทธิมนัส อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวรายงานต่อประธานศาลฎีกา ว่า กระบวนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญา เป็นกระบวนการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา และอำนวยความสะดวกแก่คู่ความทุกฝ่ายในการเข้าถึงความเป็นธรรม แต่ในการปฏิบัติงานตามแนวคิดยังมีเสียงสะท้อนการทำงานที่ควรปรับปรุง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นไปในแนวทางเดียวกันตามคู่มือกระบวนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญา ศาลอาญาจึงได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ

โดยนำแนวความคิดที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะจำเลย แต่รวมถึงผู้เสียหาย พยาน และผู้มาติดต่อราชการ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทุกฝ่าย โดยยึดในหลักนิติธรรม

ภายเสร็จสิ้นพิธีเปิดศูนย์ฯ แล้ว ประธานศาลฎีกาและคณะ ได้ยังห้องพิจารณาคดีชั้น 9 เพื่อรับฟังการบรรยายและสาธิตการใช้ระบบบันทึกการสืบพยานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และไปยังห้องสมุด ชั้น 6 เพื่อรับฟังการบรรยายแนะนำระบบ E-Finding ซึ่งเป็นระบบการสืบค้นหาข้อมูลคดีผ่านระบบดิจิตอลสำหรับผู้พิพากษาและทนายความ และการบรรยายแนะนำระบบการฟ้องคดีโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเริ่มใช้แล้วสำหรับคดีแพ่ง

ทั้งนี้ นายวีระพล ประธานศาลฎีกา ระบุว่า แม้จะประสบพบปัญหาติดขัดบ้าง แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ซึ่งจะต้องนำไปพูดคุยกัน เปรียบเสมือนการสร้างสะพานโกลเดนเกตที่เริ่มทาสีไปแล้วด้านหนึ่ง แล้วก็ต้องไปเริ่มใหม่ทาเพิ่มอีกด้านหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ประธานศาลฎีกา ยังให้สัมภาษณ์ในวาระครบรอบ 135 ปีศาลยุติธรรมด้วยว่า วันที่ 21 เม.ย.ของทุกปี ถือเป็นวันศาลยุติธรรม ซึ่งเราอำนวยความยุติธรรมมาตลอด 135 ปี หลักนิติธรรมเราจะใช้อยู่ตลอด เราไม่ได้เน้นว่าคดีต้องเสร็จเร็วหรือช้า ถ้าคดีเสร็จเร็วก็เป็นความยุติธรรมอย่างหนึ่ง แต่การเสร็จเร็วโดยที่ความยุติธรรมถูกสงสัยจากสังคมก็ต้องดูว่ามันตรงตามหลักนิติธรรมหรือไม่

“การเปิดศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ในวันนี้ โดยเราจะอธิบายให้ฟังว่าสิทธิของผู้เสียหาย จำเลย พยาน เป็นอย่างไร ถ้าพยานมาเบิกความแล้วคุณเบิกความเท็จจะเกิดผลอย่างไร เราก็จะอธิบายให้เห็นว่าการเบิกความเป็นหน้าที่ของพลเมืองดี”

เมื่อถามว่า ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพิจารณาคดีในยุคประเทศไทย 4.0 อย่างไรบ้าง
ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า อย่างที่ได้มีการสาธิตไป ทั้งการฟ้องคดีแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างที่ท่านเห็น แต่เราจะเริ่มจากคดีแพ่งไปก่อน และเมื่อเราเริ่มต้นได้เราจะใช้ครอบคลุมทั่วประเทศ คิดว่าจะใช้เวลาไม่นานภายใน 1 ปี

เมื่อถามถึงช่วงหลังที่มีประเด็นเรื่องการขอรื้อฟื้นคดี และมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะกระทบความเชื่อมั่นต่อศาลยุติธรรมหรือไม่
ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า คดีทั่วประเทศ 1,700,000 เรื่อง ถ้าถามว่ามีโอกาสไหมที่จะผิดพลาด ขอตอบว่ามี แต่การผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่ศาลอย่างเดียว แต่อยู่ที่กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบว่าคุณเริ่มอย่างไร และกระแสของการพูดว่าแพะมันก็จะเริ่มมีมากขึ้น ถามว่าคำว่าแพะถ้ามี เราก็ดูแลแพะว่าจะดูแลอย่างไรให้เขาไม่เป็นแพะ

ฉะนั้นการรื้อฟื้นคดีตนว่าเป็นเรื่องที่เราจะรื้อฟื้นเฉพาะสิ่งที่เป็นหลักฐานจริงๆ เป็นหลักฐานใหม่ และเท่าที่ผ่านมาที่ตนทราบยังไม่เคยมีว่าคดีที่รื้อฟื้นแล้วศาลมีคำพิพากษากลับแต่อย่างใด อย่างคดีเชอร์รี่แอนก็ไม่ใช่เรื่องการรื้อฟื้นคดี เป็นเรื่องศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองศาล เพราะเป็นการสร้างหลักฐานเท็จ

“ผมให้ความมั่นใจว่าคดีทุกคดี ศาลยุติธรรมจะให้ความเป็นธรรมที่สุด และไม่ใช่เป็นธรรมเฉพาะจำเลย แต่เป็นธรรมทั้งผู้เสียหายและสังคมด้วย กับทุกฝ่าย” ประธานศาลฎีกา กล่าว