'พาณิชย์'ตั้งทีมเฉพาะกิจจับตา 4 ธุรกิจเสี่ยง

'พาณิชย์'ตั้งทีมเฉพาะกิจจับตา 4 ธุรกิจเสี่ยง

"กระทรวงพาณิชย์" ตั้งทีมเฉพาะกิจจับตาธุรกิจ "ขายตรง-ท่องเที่ยว-อีคอมเมิร์ซ-อาหารเสริม" ที่เสี่ยงหลอกลวงประชนชน พร้อมเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ประชุมร่วมกับ 12 หน่วยงานภาครัฐ เพื่อกำหนดมาตรการ แนวทาง และวิธีป้องปรามเพื่อแก้ปัญหาบุคคลที่ประกอบธุรกิจในลักษณะสุ่มเสี่ยงไปในทางหลอกลวงประชาชน เบื้องต้นที่ประชุมให้ตั้งคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจ เพื่อตรวจสอบเชิงลึก ด้วยการกำหนดให้เชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคล หรือบุคคลที่ต้องติดตามเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเน้นธุรกิจ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจขายตรงหรือ การตลาดแบบตรง ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และธุรกิจจำหน่ายอาหารเสริม เนื่องจากทั้ง 4 ประเภทนี้ มีประชาชนร้องเรียนมากที่สุด รวมทั้งเป็นการนำร่องเริ่มต้นบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยดูจากข้อร้องเรียนของประชาชนเป็นหลัก  เพื่อป้องกันการหลอกลวงประชาชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

"นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง เร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรับรู้ว่าปัจจุบัน ประชาชน ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่  ข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการนำเที่ยวภายใต้พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ. ศ. 2551จากกรมการท่องเที่ยว และรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ. ศ. 2545 จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ การตรวจสอบข้อมูลล่วงหน้าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งว่า ธุรกิจดังกล่าวมีตัวตนและได้รับการอนุญาตถูกต้อง"

ขณะเดียวกัน ได้เสนอให้พิจารณาจัดตั้งศูนย์เพื่อรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนจากการถูกฉ้อโกงหรือหลอกลวง โดยก่อนส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิด และจะมีการวางระบบการตรวจสอบทั้งนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาที่เข้าข่ายการหลอกลวง ฉ้อโกงประชาชนอย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างแหล่งที่พึ่งให้แก่ประชาชนในกรณีที่เกิดเหตุขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้ มีธุรกิจขายตรงที่จดทะเบียนกับกรมฯ 1,150 ราย  ขณะที่ สคบ.รายงานว่ามีการจดทะเบียน 789 ราย ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาส่วนธุรกิจท่องเที่ยวที่จดทะเบียน 7,114 ราย ขณะที่กรมการท่องเที่ยว รายงานว่ามีการจดทะเบียน 12,400 ด้านอาหารเสริม มีการจดทะเบียนนิติบุคคล 4,900 ราย และธุรกิจ อี-คอมเมิร์ชที่จดทะเบียนนิติบุคคลมี 3,564 ราย