เรือสำรวจของจีน7ลำถึงไทย พร้อมสำรวจน้ำโขงพรุ่งนี้

เรือสำรวจของจีน7ลำถึงไทย พร้อมสำรวจน้ำโขงพรุ่งนี้

เชียงราย วันที่ 19 เม.ย.ได้มีเรือสำรวจแม่น้ำโขงจากบริษัท CCCC Second Habor Consultant จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาจากมณฑลยูนนาน

 ประเทศจีน ได้เดินทางจากบ้านมอม แขวงบ่อแก้ว ส.ป.ป.ลาว เข้าสู่น่านน้ำไทยในแม่น้ำโขง และเทียบท่าที่เรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ภายในเขตเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ตามโครงการความร่วมมือในการสำรวจร่องแม่น้ำโขงในเขตแดนไทย-สปป.ลาว ด้านที่ติดกับ จ.เชียงราย โดยมีเรือสำรวจลำใหญ่ 3 ชั้นขนาดระวางน้ำหนัก 450 ตัน เดินทางเข้ามารวมจำนวน 3 ลำ และมีเรือเล็กที่เคยเข้ามาบริเวณสามเหลี่ยมทองคำก่อนแล้วเดินทางร่วมมาด้วยจำนวน 4 ลำ โดยมีนายหลิว เจี้ยน เป็นหัวหน้าคณะและมีลูกเรือชาวจีนเดินมากับเรือทั้งหมดรวมจำนวน 60 คน

โดย น.อ.ชลทัย รัตนเรือง ผบ.หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย นายสุรนาท ศิริโชค รักษาการ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา จ.เชียงราย นายจุมพล แรงกสิกร นายด่านศุลกากรเชียงแสน ตัวแทนจาก พ.ต.อ.ณัชธฤต ปิ่นปัก ผกก.ตม.เชียงแสน และด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ให้การต้อนรับคณะจากประเทศจีนดังกล่าว จากนั้นได้มีการนำหัวหน้าคณะและตัวแทนเข้าร่วมประชุมหารือในการดำเนินการ สำรวจแม่น้ำโขงในเขตประเทศไทย

นายหลิวเจี้ยน แจ้งว่าการสำนวจครั้งนี้เป็นไปตามโครงการสำรวจร่องแม่น้ำโขงโดยมีกำหนดจะดำเนินการเฉพาะร่องน้ำที่ติดกับชายแดนไทย-ส.ป.ป.ลาว ด้าน จ.เชียงราย จำนวน 15 จุด โดยมีการใช้เรือใหญ่ 3 ลำชื่อว่าเรือจาฟู่ 3 เรือฉีตง 9 และเรือเฉินไท่ 198 เป็นเรือหลักในการดำเนินการส่วนเรือเล็กอีก 4 ลำให้การสนับสนุน โดยเรือใหญ่ทั้ง 3 ลำจะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในลำที่ 1 จำนวน 14 คน ลำที่ 2 จำนวน 13 คน และเรือลำที่ 3 เป็นเรือกายภาพจำนวน 13 คน ที่เหลือเป็นกัปตันและลูกเรือ การดำเนินการจะเริ่มหลังการทำเรื่องเข้าเมืองและตรวจสอบรายละเอียดตามกฎหมายไทยทั้งหมดแล้วเสร็จ โดยเริ่มตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ไปจนถึงสุดเขตแดนไทยที่ อ.เวียงแก่น โดยใช้ระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ 55 วัน

น.อ.ชลทัย กล่าวว่า ทางหน่วยทหารมีหน้าที่ร่วมกับกรมเจ้าท่า นำเจ้าหน้าที่ออกติดตามไปพร้อมกับเรือสำรวจของจีนดังกล่าว ตั้งแต่เริ่มต้นที่ดำเนินการตลอดแนวและตลอดระยะเวลาทั้งหมดดังกล่าว โดยเบื้องต้นได้มีการจัดมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยจำนวน 4 ชุดให้ร่วมเดินทางไปกับคาราวานเรือสำรวนดังกล่าวด้วยเป็นประจำทุกวัน และเรือสำรวจนี้จะต้องดำเนินการตามข้อตกลง ที่ได้ยื่นต่อทางฝ่ายไทยโดยจะไม่ดำเนินการนอกแผนงานดังกล่าว

นายสุรนาท กล่าวว่า คณะจากจีนที่เข้าสำรวจครั้งนี้ประกอบด้วย 4 ด้านคือด้านชลศาสตร์คือร่องน้ำ ความเร็วน้ำ ความลึกของแม่น้ำโขง การไหลของทางน้ำ ด้านธรณีศาสตร์ สำรวจชั้นหิน เกาะแก่ง ด้านสภาพภูมิประเทศคือต้นไม้ ป่าไม้ โขดหิน และด้านวิศวกรรม ซึ่งผลการสำรวจทั้งหมดมีการนำผลไปศึกษา และจัดทำเป็นรายงานสรุปผลพร้อมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ โดยทางการจีนจะต้องนำเสนอต่อรัฐบาลไทยเพื่อนำไปพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป จากนั้นยังมีขั้นตอนในการจัดคณะทำงานร่วมด้านอีไอเอลงพื้นที่สำรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งด้วย เช่น ดูเรื่องตลิ่งพัง วิถีชีวิต การประมง

นายสุรนาท กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ทางกรมเจ้าท่าจึงร่วมกับฝ่ายปคกรองและหน่วยงานความมั่นคง จัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยให้ข้อมูลว่าคณะที่เข้ามาสำรวจดังกล่าวเป็นชุดที่แค่เข้ามาสำรวจ ไม่ได้มีการเตรียมหรือจะเข้ามาดำเนินการต่อแม่น้ำโขง เช่น ระเบิด หรือเสนอให้มีการระเบิดเกาะแก่ง แต่อย่างใด