จ่อประกาศเพิ่มเขตศก.พิเศษ ท่าเรือ‘มาบตาพุด-แหลมฉบัง’

จ่อประกาศเพิ่มเขตศก.พิเศษ ท่าเรือ‘มาบตาพุด-แหลมฉบัง’

ชงบอร์ดอีอีซี อนุมัติเพิ่มพื้นที่ "ท่าเรือมาบตาพุด-ท่าเรือแหลมฉบัง" เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้าน "อุตตม" เตรียมลงพื้นที่ต้นเดือน พ.ค.นี้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (คนพ.)ครั้งต่อไป จะเสนอตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษขึ้นอีก 2 แห่ง ได้แก่ ในพื้นที่ท่าเรือมาบตาพุด กับท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะมีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การสร้างเมืองใหม่ และพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่อีอีซี

ก่อนหน้านี้ คนพ.มีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ประกาศให้ประกาศพื้นที่ 6,500 ไร่ ของสนามบินอู่ตะเภาเป็นเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือเป็น "เมืองการบินภาคตะวันออก" 

นายอุตตม กล่าวอีกว่าการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อีอีซีนั้น นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) สร้างความรับรู้ในวงกว้างในการใช้พื้นที่ อีอีซี ให้กับประชาชนทั้งประเทศรับทราบ ทั้งในเรื่องวัตถุประสงค์ ผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับ และการดูแลประชาชนในพื้นที่โดยรอบ และหากเกิดปัญหาจะมีวิธีเยียวยาแก้ไขอย่างไร

ในช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้คณะกรรมการบริหาร อีอีซี จะลงพื้นที่ อีอีซี ทั้ง 3 จังหวัด เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนต่างๆในพื้นที่อีอีซี และสร้างความรับรู้ถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้จากโครงการพัฒนาอีอีซี โดยจะนำข้อกังวลของชาวบ้านมาวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆขึ้น

แจงเช่าที่ดินแบบมีเงื่อนไขลงทุน

นายอุตตม กล่าวว่าในเรื่องของการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาเช่าที่ดินได้สูงสุด 50 ปี และสามารถเช่าต่อได้อีก 49 ปี จะมีข้อกำหนดที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องเป็นการลงทุนในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น และจะต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล และการอนุมัติการใช้ที่ดินจะต้องรับฟังเสียงของประชาชนโดยรอบ เปิดเผยผลการศึกษา และร่างผังเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษให้ประชาชนรับทราบ และเสนอข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา

หากเช่าที่ดินครบ 50 ปี และอยากจะเช่าเพิ่ม จะต้องทำแผนเสนอให้กับรัฐบาลว่าจะขยายการลงทุนอะไรเพิ่ม และประเทศชาติจะได้รับประโยชน์อะไร จากนั้นก็จะพิจารณาเป็นรายๆว่าจะเพิ่มให้อีกกี่ปี แต่ไม่เกิน 49 ปี

"การประกาศเขตส่งเสริมพิเศษจะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับและผลกระทบต่างๆที่จะมีต่อชุมชน ซึ่งหากพบว่าจะมีผลกระทบจะต้องมีแผนชัดเจนว่าจะเยียวยาอย่างไร ซึ่งในพ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ก็มีการระบุอย่างชัดเจนให้มีการตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการบริหารฯจะลงรายละเอียดอีกครั้งว่าจะเก็บเงินจากผู้ประกอบการเท่าไร"

หวังแข่งเพื่อนบ้านดึงนักลงทุน

นายอุตตม กล่าวว่าการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเช่าที่ดินระยะยาวได้มีมานานแล้ว ซึ่งตาม พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 กำหนดระยะเวลาเช่าไม่เกิน 50 ปี และสามารถต่ออายุการเช่าออกไปอีกไม่เกิน 50 ปี

นอกจากนี้ การเช่าที่ดินในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน กำหนดให้กรมธนารักษ์จัดให้หน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์หรือจัดให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือเอกชน เช่าพื้นที่พัฒนา ระยะเวลาการเช่าต้องไม่น้อยกว่าคราวละ 50 ปี และอาจจะต่อสัญญาได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ส่วนกฎหมายของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็เปิดให้นักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมซื้อที่ดินได้เลย

"ในขณะนี้หลายประเทศกำหนดให้มีการเช่าที่ดินในระยะยาวได้ เช่น สิงคโปร์ กำหนดระยะเวลาเช่าขั้นต้น 30 ปี และขยายเวลาได้อีก 60 ปี มาเลเซียให้เช่าที่ดินได้ 99 ปี เวียดนามเช่าได้ 70 ปี ส่วนฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเมียนมา เช่าที่ดินได้ 50 ปี ซึ่งแนวทางการเช่าที่ดินระยะยาวนี้เป็นมาตรการที่ประเทศต่างๆใช้ในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ"

เผย "ซาบ" สนลงทุนอุตฯอากาศยาน

นายอุตตม กล่าวว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่อู่ตะเภา และเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (คนพ.)ก็ทำให้ต่างชาติมั่นใจในการเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ล่าสุด บริษัท ซาบ ผู้ผลิตอากาศยานจากประเทศสวีเดน แสดงความสนใจเข้ามาตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในไทย ซึ่งจะเข้ามาหารือในรายละเอียดในวันที่ 19 เม.ย. นี้ นอกจากนี้ก็มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เตรียมที่จะมาเข้าพบเพื่อหารือการลงทุนในโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน

แจงสิทธิเช่าที่ดินตามกฎหมายเดิม

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเรื่องให้สิทธิ์เช่าที่ดินในพื้นที่อีอีซีแก่ชาวต่างชาติเป็นระยะเวลา 99 ปีว่าในเรื่องดังกล่าวมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงเนื่องจากการให้สิทธิ์เช่าที่ดินในระยะเวลาดังกล่าวไม่ได้เป็นการให้สิทธิ์ประโยชน์เพิ่มเติมแก่นักลงทุน แต่เป็นข้อกำหนดที่ยกมาจาก พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม.พ.ศ.2542

ตามกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้การเช่าที่ดินของอสังหาริมทรัพย์ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม สามารถทำได้ในระยะเวลา 50 ปี และต่อระยะเวลาได้อีก 49 ปี โดยการต่ออายุต้องมีการรับรองจากนายทะเบียนและออกเป็นใบอนุญาตที่ถูกต้อง

"การให้สิทธิ์ในการเช่าที่ดินได้สูงสุด 99 ปี ไม่ได้เป็นการให้สิทธิประโยชน์ใหม่กับนักลงทุนต่างชาติ แต่เป็นการนำข้อกำหนดในกฎหมายฉบับเดิมในปี 2542 ซึ่งมีการแก้ไขมาจากกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ฉบับเดิมในมาตรา 540 ที่กำหนดให้เช่าที่ดินได้เพียง 30 ปี ซึ่งการแก้ไขให้เช่าที่ดินได้สูงสุดตั้ง 99 ปีตั้งแต่ปี 2542 ก็เป็นการแก้ไขระยะเวลาเช่าให้เหมาะสมและจูงใจให้เกิดการลงทุน โดยในร่าง พ.ร.บ.อีอีซีก็นำสาระสำคัญดังกล่าวมาเขียนไว้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนำไปปฏิบัติโดยไม่ใช่การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในเรื่องนี้ให้กับนักลงทุนต่างชาติแต่อย่างไร" นายกอบศักดิ์ กล่าว