‘อูเบอร์’ ลุยปรับทัพใหม่ ตั้ง ‘คันทรี่ แมเนเจอร์’ คนไทย

‘อูเบอร์’ ลุยปรับทัพใหม่ ตั้ง ‘คันทรี่ แมเนเจอร์’ คนไทย

‘อูเบอร์’ ดันคนไทยนั่ง ‘คันทรี่ แมเนเจอร์’ บุกตลาดแอพไรด์แชริ่งในไทยต่อ แถลงทางการ 25 เม.ย.นี้ ท่ามกลางปัญหาด้านกฏหมายในไทยที่ยังไม่จบ ขณะที่ในตลาดโลกอูเบอร์ ยังเผชิญปัญหารุมเร้า ล่าสุดประกาศขาดทุนมากกว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อูเบอร์ แอพไรด์แชร์ริ่งชื่อดังของโลกที่เข้ามาบุกตลาดในไทย ได้แต่งตั้งคนไทยขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทยเป็นครั้งแรกโดยจะเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการวันที่ 25 เม.ย.นี้ ท่ามกลางบริการที่ยังมีปัญหาติดข้อกฏหมายในไทย ซึ่งอูเบอร์ไม่ได้เผชิญปัญหาลักษณะนี้ในไทยประเทศเดียว แต่ติดปัญหาเรื่องข้อกฏหมายในหลายๆ ประเทศที่เข้าไปให้บริการ 

อย่างไรก็ตาม บางประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รองรับการบริการรูปแบบไรด์แชร์ริ่งเป็นทางการแล้ว คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
อูเบอร์ เปิดให้บริการมากกว่า 450 เมืองใน 74 ประเทศทั่วโลก บริการรับส่งผู้โดยสารครบ 2 พันล้านเที่ยวในเดือน มิ.ย.2559 รับ-ส่งผู้โดยสารเฉลี่ยมากกว่า 5 ล้านเที่ยวต่อวันทั่วโลก มีผู้โดยสารทั่วโลกมากกว่า 40 ล้านคนต่อเดือน ขณะที่ มีพาร์ทเนอร์อูเบอร์ทั่วโลก(คนขับ)มากกว่า 1.5 ล้านคน

สำหรับในไทย กรุงเทพมหานคร ถือเป็นตลาดใหญ่ ข้อมูลระบุว่า คนกรุงเทพฯ เดินทางกับอูเบอร์เป็นระยะทางรวมแล้วกว่า 56 ล้านกิโลเมตร และมีสถิติที่น่าสนใจว่า ในประเทศไทยมีผู้ร่วมขับที่เป็นผู้หญิงราว 12% สูงสุดในเอเชีย

ส่วนความเคลื่อนไหวในระดับโลกนั้น สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ปี 2559 อูเบอร์ขาดทุนมากกว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ เป็นตัวเลขขาดทุนที่เกิดขึ้นบนยอดเงินที่อูเบอร์เรียกเก็บได้มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ไม่นับรวมกิจการในจีน รายได้รวมที่บริษัทรวบรวมจากบริการรถร่วมเดินทางมีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 2558 มากกว่า 2 เท่าตัว เมื่อหักค่าใช้จ่าย และส่วนแบ่งให้กับผู้ขับ อูเบอร์มีรายได้สุทธิ 6.5 พันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม รายได้ของอูเบอร์ ยังคงน้อยกว่ารายจ่ายส่งผลให้การขาดทุนของอูเบอร์ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 พันล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะในไตรมาส 4 แม้อูเบอร์จะเพิ่มจำนวนเที่ยวบริการจนทำเงินได้มากขึ้นเป็น 6.9 พันล้านดอลลาร์ แต่ก็ไม่เพียงพอกับรายจ่ายทำให้ขาดทุนมากกว่า 991 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาส4 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อูเบอร์ มีรายได้รวม 2.9 พันล้านดอลลาร์

บลูมเบิร์ก รายงานด้วยว่า รายจ่ายของอูเบอร์ปีที่แล้วหมดไปกับการลงทุนอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก รวมถึงค่าใช้จ่ายเรื่องการซื้อรถสำหรับโครงการพัฒนารถไร้คนขับ และค่าใช้จ่ายเรื่องส่วนแบ่งหุ้นให้พนักงาน

ขณะที่ ก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคมไทย ได้เปิดโต๊ะหารือกับอูเบอร์ ถึงประเด็นข้อกฏหมาย การหารือครั้งนั้นสรุปว่า ให้ศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการใช้ระบบบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ของอูเบอร์ในไทย เนื่องจากไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับระบบดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาทำศึกษาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี จึงสามารถสรุปผลได้ เพราะต้องหางบประมาณและบุคคลที่ 3 ทำการศึกษา ขณะที่ ที่อูเบอร์ ยังคงยืนยันในการให้บริการในไทยต่อ

อูเบอร์ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ต้องเผชิญปัญหาการตกเป็นเป้าโจมตีจากทั่วโลก ในฐานะที่ถูกมองว่าเข้าไปแย่งรายได้ที่เคยได้เป็นกอบเป็นกำของธุรกิจแท็กซี่แบบดั้งเดิมในประเทศต่างๆ และมีปัญหาขาดแคลนผู้บริหารเก่งๆ เข้ามาร่วมบริหารองค์กรและสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ โดยยังปรากฏข่าวการลาออกอย่างต่อเนื่องของบรรดาผู้บริหารอูเบอร์ นับคร่าวๆ รวมแล้วเจ็ดคน ภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือน สะท้อนถึงความระส่ำระสายภายในองค์กร ท่ามกลางเรื่องอื้อฉาวที่โหมกระหน่ำเข้าใส่ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของอูเบอร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้บริการเรียกรถสาธารณะผ่านแอพพลิเคชันรุ่นบุกเบิกรายแรกของโลก