'มีชัย' แจงยิบ! หลังกรธ.ส่งร่างพรป.พรรคฯ-กกต.ให้สนช.แล้ว

'มีชัย' แจงยิบ! หลังกรธ.ส่งร่างพรป.พรรคฯ-กกต.ให้สนช.แล้ว

"กรธ." ส่งร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง-กกต.ให้ "สนช." แล้ว ด้าน "มีชัย" เตรียมนำทีมแจงพร้อมย้ำรายละเอียดกม.ลูก ถอดโจทย์จากรธน.

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ลงนามหนังสือเพื่อส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พร้อมแนบเอกสารประกอบ ได้แก่ รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อส่งให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ กรธ. ไปมอบให้กับ สนช. ผ่านฝ่ายธุรการของสนช.

ทั้งนี้นายมีชัย กล่าวว่าในการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับที่สนช.จะพิจารณาในสัปดาห์นี้ ตนจะไปชี้แจงถึงสาระและเนื้อหาสำคัญของร่างพ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับซึ่งตามรายละเอียดของการจัดทำนั้นเป็นไปตามที่ผ่านการรับฟังความเห็นของฝ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งกรธ.ได้จัดเวทีและรับฟังข้อเสนอแนะผ่านทางเว็ปไซต์ของกรธ.ทั้งนี้ในสาระของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ตามที่มีประเด็นเป็นข้อเห็นแย้ง เช่น ในประเด็นของร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองที่ถูกโต้แย้งเรื่องการชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองที่อาจทำให้เกิดภาระกับสมาชิกพรรคจนเกินไปนั้น ตามเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ ต้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในกิจการของพรรคการเมือง

ดังนั้นแนวทางที่กำหนดให้สมาชิกพรรคต้องชำระค่าบำรุงพรรค เพื่อแสดงถึงสิทธิต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการของพรรคที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของนายทุนเท่านั้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอของพรรคการเมืองและประชาชนที่กรธ. จัดเวทีรับฟังความเห็น

“ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดให้พรรคต้องไปออกข้อบังคับพรรคการเมือง ซึ่งจะกำหนดการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคต่อการพิจารณาส่งบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้ง มีส่วนร่วมในกิจกรรม รวมถึงกำหนดบุคคลที่เป็นตัวแทนของพรรคเพื่อดำรงตำแหน่งนายกฯ ประเด็นนี้คือการขยายความที่เพิ่มเติมจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หากสนช. จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติต่อประเด็นนี้ ต้องมีคำตอบด้วยว่าจะปรับอย่างไรเพื่อให้มีการมีส่วนร่วมของสมาชิกในพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้จริง ดังนั้นหากสนช. มีแนวทางที่ดีกว่าผมจะยกมือขึ้นสาธุให้” นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวด้วยว่าส่วนเนื้อหาของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต.ซึ่งกรธ.กำหนดกลไกให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ทำหน้าที่แทน กกต.ประจำจังหวัด นั้น เพราะเชื่อว่าจะเป็นกลไกที่ทำให้การทำงานของกกต. ซึ่งตรวจสอบการเลือกตั้งในระดับพื้นที่ทำได้ดีกว่าที่ผ่านมาและจะไม่มีปัญหา ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าควรคงให้มีกกต.ประจำจังหวัดไว้แบบเดิมนั้น เป็นมุมมองที่สนช.ต้องพิจารณาและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ ขณะที่ประเด็นที่ กกต.ชุดปัจจุบันตั้งข้อสังเกตของการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของกกต.ที่ขาดคุณสมบัติทันทีหลังคณะกรรมการสรรหามีคำวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งว่าจะเกิดปัญหานั้น ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ คือ เมื่อร่าง พ.ร.ป.กกต. มีผลบังคับใช้ ภายใน 15 วันกรรมการสรรหาต้องประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวทันที เพื่อทำให้การสรรหา กกต. อีก 2 คนที่เพิ่มเขามาใหม่ สามารถทำไปได้ในคราวเดียว โดยระหว่างที่กรรมการสรรหายังไม่มีคำวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติ กกต.ชุดปัจจุบัน ยังให้สิทธิปฏิบัติหน้าที่ต่อ

“ประเด็นเรื่องจำนวนกกต.ที่ต้องอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่สำคัญนั้น กำหนดให้สามารถทำหน้าที่ได้เพียงบางเรื่องเท่านั้น ซึ่งคงไม่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งได้นั้นต้องให้การเตรียมพร้อมของกกต. และพรรคการเมืองแล้วเสร็จก่อน ดังนั้นเรื่องนี้จะไม่ทำให้การกำหนดเลือกตั้งสะดุด”นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวด้วยว่าส่วนบทบัญญัติของร่าง พ.ร.ป.กกต. ที่กำหนดให้ กกต.รับเงินบำเหน็จหลังจากพ้นวาระนั้น มีเจตนารมณ์เพื่อให้กกต. ได้รับค่าตอบแทนหลังจากที่พ้นวาระไปแล้ว เพราะระหว่างดำรงตำแหน่ง กกต.ไม่สามารถรับเงิน หรือหาผลประโยชน์อื่นใดได้ อย่างไรก็ตามในระเบียบกกต. ปัจจุบันได้กำหนดให้กกต.สามารถรับเงินพิเศษได้ ปีละ 1 เดือนอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความชัดเจนต่อการตีความต่อการจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับจากที่กฎหมายลูก 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ นายมีชัยกล่าวว่า ในระยะ 150 วันคือการกำหนดให้จัดการเลือกตั้ง แต่หากกกต. ประเมินความพร้อมแล้วเห็นว่า ภายหลังกฎหมายลูกที่ใช้เลือกตั้งมีผลบังคับใช้ เพียง 10 วันกกต.จะประกาศให้มีการเลือกตั้ง ก็สามารถทำได้ แต่ระยะเวลาดังกล่าวจะไม่นับรวมกลไกการทำงานของกกต. หลังจากนั้น เช่น การตรวจสอบการเลือกตั้ง, การประกาศผลเลือกตั้งให้ได้ร้อยละ 95 , การจัดเลือกตั้งใหม่ในบางเขตที่มีปัญหา เพราะหากนับรวมเวลาทำงานตามกลไกปกติของกกต. รวมในเวลา 150 วันอาจทำให้มีปัญหาว่า กกต. ทำเกินเวลาที่กำหนดได้ และจะเป็นประเด็นฆ่าตัวตายของกกต. ได้.