เกษตรกรโคราช พลิกไร่มันสำปะหลัง ปลูกทุเรียนได้ผลดี 

เกษตรกรโคราช พลิกไร่มันสำปะหลัง ปลูกทุเรียนได้ผลดี 

นครราชสีมา เกษตรกรโคราช พลิกไร่มันสำปะหลัง ปลูกทุเรียนประสบความสำเร็จ ลูกดก รายได้ดี

เกษตรกรชาวอำเภอครบุรี จ.นครราชสีมา ต้องประสบกับปัญหาในเรื่องของราคามันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักกำลังตกต่ำอย่างมาก เกษตรกรหลายรายต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด หันมาปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ อย่างเช่นนายธวัชชัย ผิวแดง เกษตรกรบ้านราษฎร์สุขสันต์ หมู่ที่6 ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ตัดสินใจเลิกปลูกมันสำปะหลัง และหันมาปลูกทุเรียนบนเนื้อที่ 10 ไร่แทน ผ่านมานาน 5 ปี ล่าสุดประสบความสำเร็จทุเรียนกำลังให้ผลผลิตเตรียมจำหน่ายเต็มสวน

นายธวัชชัย ผิวแดง เกษตรกรชาวบ้านราษฎร์สุขสันต์ กล่าวว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตนเองตัดสินใจสั่งซื้อพันธุ์ทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรีมาปลูกแทนมันสำปะหลังบนเนื้อที่จำนวน 10 ไร่ หลังจากที่มันสำปะหลังมีแนวโน้มราคาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าศึกษาวิธีการเพาะปลูกและดูแลจากทางสำนักงานเกษตรอำเภอและผู้ที่มีความรู้จากหลายๆ แห่ง ลองผิดลองถูกกระทั่งเข้าปีที่ 4 ทุเรียนเริ่มให้ผลผลิตแต่ยังไม่มากนัก มาปีที่เข้าปีที่5 ปรากฏว่าทุเรียนให้ผลผลิตเต็มสวน และยังมีอีกส่วนหนึ่งกำลังทยอยติดดอกออกผลตามมาเป็นส่วนๆ สร้างความดีใจให้กับตัวเองและครอบครัวเป็นอย่างมากเฉพาะในชุดแรกคาดว่าจะมีทุเรียนให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 400 ผล น่าจะสร้างรายได้ให้กับครอบครัวจำนวนมาก เพราะเริ่มมีผู้คนสนใจติดต่อขอซื้อเข้ามาบ้างแล้ว

สำหรับการดูแลนั้นใช้วิธีดึงน้ำใต้ดินมาใช้ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนน้ำ แต่ต้องเฝ้าระวังเรื่องโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อรา อย่างเช่น โรคโคนรากเน่า ต้นแตกจากเชื้อรา และหนอนเจาะลำต้น แต่ก็ได้รับคำแนะนำในการดูรักษาด้วยดีจากทางเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ และผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จดังกล่าว

ทางด้านนายสวัสดิ์ ศักดิ์กระโทก เกษตรอำเภอครบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอครบุรี เริ่มหันมาสนใจปลูกพืชสวนหลากหลายชนิด แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างมันสำปะหลังและอ้อย ทำให้มีความหลากหลายทางผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น ในส่วนของทุเรียนมีเกษตรกรเริ่มต้นเพาะปลูกไปแล้วมากกว่า 50 ราย มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 200 ไร่ ซึ่งถือว่าสัญญาณที่ดีที่เกษตรกรเริ่มรู้จักปรับเปลี่ยนและยกระดับวิถีชีวิตของตนเอง อันจะนำมาสู่การพัฒนาต่อยอดให้การเกษตรของไทยมีคุณภาพและสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างยั่งยืน.