กสทช.เอ็มโอยู‘รัสเซีย’สกัดภัยไซเบอร์ 1 มิ.ย นี้

กสทช.เอ็มโอยู‘รัสเซีย’สกัดภัยไซเบอร์ 1 มิ.ย นี้

“ฐากร” เผยร่วมมือ 3 ด้าน ป้องภัยออนไลน์-ลดค่าโรมมิ่ง-สกัดฉ้อโกงอีเพย์เม้นท์

“ฐากร”เตรียมบินรัสเซีย 1 มิ.ย.เซ็นเอ็มโอยูลงนามบันทึกความเข้าใจในระดับประเทศเพื่อสร้างความร่วมมือป้องกันภัยคุกคามออนไลน์ ร่วมกันของบริการโทรคมนาคมและเนื้อหาระบบทีวีดิจิทัลระหว่างสองประเทศ ระบุหวังเรียนรู้จัดการชำระเงินผ่านมือถืออีเพย์เม้นท์เต็มรูปแบบ รวมถึงป้องกันเนื้อหาที่ผิดกฏหมายผ่านเว็บไซต์ 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงานกสทช.ได้รับเชิญจากนายนิโคไรน์ นิกิฟอรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และสื่อสารมวลชนแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ให้คณะกรรมการ กสทช. ผ่านสถานทูตสหพันธรัฐรัสเซียในราชอาณาจักรไทย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) วันที่ 1 มิ.ย.นี้ ซึ่งผลการหารือดังกล่าว เกิดขึ้นหลังการประชุมครั้งก่อนนี้ระหว่างคณะกรรมการกสทช. และรัฐมนตรีช่วยว่าการรัสเซียนายอเล็กซี่ โวลิน เมื่อในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือดังกล่าวรัฐบาลรัสเซียและไทยจะร่วมมือกันใน 3 ด้าน คือ การเรียนรู้ความรู้เชิงกลยุทธ์เพื่อความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ อำนวยความสะดวกในการลดค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติระหว่างประเทศทั้งสองประเทศ ความร่วมมือในด้านเนื้อหาข้อมูลของภาคกระจายเสียง ทั้งนี้ สำนักงานกสทช.จะเชิญตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานรักษาความมั่นคงแห่งชาติ

“เป้าหมาย กสทช.คือ ต้องการสร้างสังคมที่เดินหน้าด้วยดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ในปัจจุบันการทำธุรกิจออนไลน์อีคอมเมิร์ซ เข้ามามีบทบาทอย่างมาก แต่การเตรียมรับมือเรื่อง ภัยคุกคามด้านข้อมูล และความเป็นส่วนบุคคลยังอาจมีช่องโหว่อยู่ การหารือกับรัสเซียเป้าหมายจะนำมาพัฒนาร่วมกับแบงก์ชาติ และหน่วยงานรักษาความมั่นคงแห่งชาติ จะเป็นประโยชน์สำหรับความรู้ที่มากขึ้นในการดำเนินการมาตรการควบคุมการโอนเงินผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งมาตรการด้านการป้องกันการฉ้อโกงและผิดกฎหมาย”

เลขาธิการ กสทช.ระบุอีกว่า สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ราว 120 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นผู้ใช้งานในระบบ 3จี 70% 4จี 25% และอีก 5% เป็นผู้ใช้งานในระบบ 2จีที่คงเหลือราว 1 ล้านเลขหมาย และได้มอบหมายให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 รายไปกำหนดวันร่วมกันให้ได้ว่า จะยุติการให้บริการ 2จี เมื่อใด ขณะที่สำนักงาน กสทช.ได้จัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมออกไปแล้วทั้งสิ้น 170 ล้านเลขหมาย

ดังนั้น จากอัตราผู้ใช้งาน 3จีและ 4จีที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความนิยมการชำระเงินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มีเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการทุจริตและคดีผิดกฎหมาย และมีเรื่องร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช.

นอกจากนี้ การหารือร่วมกับกับรัสเซียจะพิจารณาเรื่องความร่วมมือลดค่าธรรมเนียมบริการโรมมิ่งระหว่างประเทศสำหรับทั้งข้อมูล และเสียง คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยวทั้งสองประเทศ และมีแนวโน้มพัฒนาความร่วมมือในการพัฒนาเนื้อหาและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ระบบดิจิทัลจะช่วยให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศไทยเป็นไปในระยะยาว

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ผ่านมา สำนักงานกสทช.ได้การลงนามบันทึกความเข้าใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่นเพื่อประสานความร่วมมือใน 2 ด้าน คือ อำนวยความสะดวกในการลดค่าโดยสารข้ามแดนอัตโนมัติระหว่างประเทศ และความร่วมมือด้านการแพร่ภาพกระจายเสียง การลดค่าธรรมเนียมการให้บริการโรมมิ่งระหว่างประเทศระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยกับญี่ปุ่น มีเป้าหมายเพื่อขยายการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ต่อมาเป็นลงนามข้อตกลงกับประเทศภูฏาน ในเรื่องการประสานความร่วมมือเกี่ยวกับบทบาทที่กสทช. ตกลงให้แนวทางและการสนับสนุนความรู้ด้านไอซีที และการพัฒนากฎระเบียบเพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในภูฏาน จนมาถึงความร่วมมือกับรัสเซียที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 มิ.ย.นี้