ส่องศักยภาพไปรษณีย์ไทย จาก ‘อนาล็อก’ สู่ ‘ดิจิทัล’ เต็มตัว

ส่องศักยภาพไปรษณีย์ไทย จาก ‘อนาล็อก’ สู่ ‘ดิจิทัล’ เต็มตัว

แผนใน 3 ปีนี้ เริ่มปี 2560 ต้องเริ่มปรับแผนให้เป็นไปรษณีย์ยุคดิจิทัล ปี 2561 เริ่มการบริหารงาน และปี 2562 ต้องเห็นงานเป็นรูปธรรมว่ากรอบงานที่จะเดินเป็นอย่างไร

“เราจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่การบริหารงานแบบดิจิทัลเพื่อให้ไปรษณีย์ไทยเป็นเครือข่ายเพื่อชีวิตดิจิทัล แข่งขันได้ สอดรับความต้องการใช้งานของลูกค้า ต้องหาความต้องการของผู้ใช้บริการให้เจอ โดยแผนใน 3 ปีนี้ เริ่มปี 2560 ต้องเริ่มปรับแผนให้เป็นไปรษณีย์ยุคดิจิทัล ปี 2561 เริ่มการบริหารงาน และปี 2562 ต้องเห็นงานเป็นรูปธรรมว่ากรอบงานที่จะเดินเป็นอย่างไร” 


นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวพร้อมทั้งระบุว่า ที่ผ่านมาการทำงานของไปรษณีย์ไทยพยายามเตรียมพร้อมรองรับความต้องการของผู้ประกอบการยุคดิจิทัลและการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ด้วยบริการหลากหลายครบวงจร พร้อมตั้งเป้าสร้างนวัตกรรมด้านบริการตอบโจทย์ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยอย่างต่อเนื่อง

ไปรษณีย์ไทย เป็นหนึ่งในองค์กรในยุคดั้งเดิม ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีที่ไหลบ่าอย่างรวดเร็ว การสื่อสารที่ล้ำสมัยมากขึ้น ขณะที่เกิดคู่แข่งขนส่งในยุคดิจิทัลเพิ่มขึ้นมากมาย แต่ไปรษณีย์ไทย ก็ยังเป็นองค์กรที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการในแต่ละยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง

พัฒนาบริการรับยุคดิจิทัล
โดยล่าสุดได้เร่งพัฒนาระบบปฏิบัติการและการพัฒนาบริการตอบโจทย์ผู้ประกอบการยุคดิจิทัล เช่น แอพพลิเคชั่นพร้อมโพสต์ แอพพลิเคชั่นช่วยจัดเตรียมการฝากส่งล่วงหน้าทางไปรษณีย์ให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะ ซึ่งมาพร้อมกับ กล่องพร้อมส่ง กล่องเหมาจ่ายสุดสะดวก นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังได้ขยายเวลาเปิดให้บริการของที่ทำการไปรษณีย์ในย่านชุมชน

ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยหวังตอบโจทย์ผู้ประกอบการยุคใหม่ ด้วยบริการที่ครอบคลุมทุกความต้องการ และสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครบวงจร เช่น แอพพลิเคชั่นพร้อมโพสต์ ช่วยจัดเตรียมการฝากส่งล่วงหน้าทางไปรษณีย์ให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะ ซึ่งมาพร้อมกับกล่องพร้อมส่ง กล่องเหมาจ่ายสุดสะดวก ราคาเริ่มต้นที่ 30 บาท ลดขั้นตอนการชั่งน้ำหนักและคำนวณค่าบริการ ประหยัดเวลาและค่าฝากส่ง พร้อมทั้งขยายเวลาการให้บริการรับฝากที่ทำการไปรษณีย์จนถึง 20.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการมีเวลาในการฝากส่งสิ่งของทางไปรษณีย์มากขึ้น

นางสมร กล่าวว่า นอกจากบริการใหม่ที่ตอบโจทย์กลุ่มอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจสตาร์ทอัพแล้ว ยังมีบริการไปรษณีย์ขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้บริการได้ตามความต้องการ เช่น บริการไปรษณีย์แบบลงทะเบียน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยอัตราค่าบริการเริ่มต้น 18 บาท บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (อีเอ็มเอส) เน้นความสะดวกรวดเร็ว ส่งถึงผู้รับใน 1-3 วันทำการ บริการอีเอ็มเอสซูเปอร์ สปีด ส่งด่วนถึงผู้รับในประเทศภายใน 24 ชั่วโมง การประกันสิ่งของเพิ่มเติม สำหรับสิ่งของที่มีมูลค่าสูงสร้างความอุ่นใจให้กับลูกค้าแทร็คแอนด์เทรซ (Track & Trace) ระบบตรวจสอบสถานะสิ่งของที่สามารถใช้บริการผ่านสมาร์ทโฟนได้ทุกที่ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง

มุ่งเป้าสู่เครือข่ายเพื่อชีวิต
โดยในปี 2560 ไปรษณีย์ไทยมุ่งสู่การเป็น “เครือข่ายเพื่อชีวิตดิจิทัล” รองรับการเติบโตของผู้ประกอบการยุคใหม่ ตามนโยบาย “POST Excellence” ภายใต้แนวทาง “5ดี & 2 เอส” ได้แก่ ดี1 ดิจิทัล โปรดักส์ แอนด์ เซอร์วิส พัฒนาสินค้าและบริการรองรับยุคดิจิทัล ดี2 ดิจิทัล โอเปอเรชั่น ยกระดับระบบปฏิบัติการสู่ระบบดิจิทัล ดี3 ดิจิทัล อินฟราสตรัคเจอร์ พัฒนาระบบฐานข้อมูล เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัล ดี4 ดิจิทัล คอมมูนิเคชั่น แอนด์ เอ็กซ์พรีเรียน พัฒนาระบบการสื่อสารให้เข้ากับยุคดิจิทัล ดี5 ดิจิทัล พีเพิล พัฒนาบุคลากรพร้อมรับมือยุคดิจิทัล เอส1 เซอร์วิส ทัช พอยท์ เน้นสร้างความประทับใจผู้ใช้บริการ และ เอส 2 ความรับผิดชอบต่อสังคม

สำหรับปีนี้ รายได้คาดว่า จะอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท และประมาณการผลกำไรสุทธิที่ 3,300 ล้านบาท ทิศทางดำเนินงานปีนี้มุ่งเน้น ไปรษณีย์ไทย เครือข่ายเพื่อชีวิตดิจิทัล เพื่อให้บริการมีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากลมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งรองรับการเติบโตของธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ และกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ปัจจุบันมีการเติบโตค่อนข้างสูง และจะพัฒนายกระดับมาตรฐานคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่องในปีนี้ จะช่วยให้การเติบโตได้ตามเป้าหมาย พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจไปรษณีย์และโลจิสติกส์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่ ผลประกอบการปี 2559 ไปรษณีย์ไทย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 24,300 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,000 ล้านบาท โตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 22.6% การเติบโตส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของธุรกิจขนส่ง และโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนรายถึง 42% ขณะที่ธุรกิจบริการไปรษณีย์ภัณฑ์ มีสัดส่วนรายได้ 37% ธุรกิจบริการระหว่างประเทศมีรายได้ 14% และธุรกิจค้าปลีกและการเงินอยู่ที่ 6%

ต่อยอด3แกนหลักดันธุรกิจ
นางสมร กล่าวว่า สำหรับแผนธุรกิจของปณทจากนี้จะเดินหน้าปรับปรุงพัฒนาระบบปฏิบัติงานเพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเพื่อให้เข้ากับระบบงานไปรษณีย์ทุกขั้นตอน ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และการขยายตัวของกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ (สตาร์ทอัพ) โดยจะกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานของไปรษณีย์ไทยในระยะ 3-5 ปี

ในแง่โครงสร้างองค์กรจะเน้นใน 3 แกนหลัก คือ 1.ธุรกิจเมล เซอร์วิส การส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ ซึ่งรู้ดีว่าการแข่งขันรุนแรงมาก แต่จะพยายามพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าและคงสัดส่วนรายได้ให้ไม่น้อยลงกว่าเดิม 2.บริการส่งด่วน อีเอ็มเอสต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 3.บริการระหว่างประเทศ จะมีการประสานความร่วมมือกับไปรษณีย์ต่างประเทศ และกรมศุลกากรให้มากขึ้น เพื่อลดขั้นตอนการทำงานด้านการขนส่ง