ส่องเทรนด์‘ความงาม’หนุนไทยบุกอาเซียน

ส่องเทรนด์‘ความงาม’หนุนไทยบุกอาเซียน

ธุรกิจความงามเป็นดาวรุ่งที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจ ด้วยมูลค่าตลาดความงามในไทย 2.5 แสนล้านบาท

ทั้งรายเก่าและหน้าใหม่กว่า 1,800 ราย ต่างงัดสารพัดกลยุทธ์ช่วงชิงตลาด โดยเฉพาะเพื่อนบ้านในอาเซียน นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะได้เปรียบเรื่องต้นทุนการขนส่งแล้ว มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมในอาเซียนยังมากถึง 5 แสนล้านบาท

อนุชนา วิชเวช ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดงาน อาเซียนบิวตี้ 2017 งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี นวัตกรรมความงามและการเจรจาธุรกิจด้านอุตสาหกรรมความงาม กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องสำอางทั่วประเทศกว่า 1,800 ราย ในจำนวนนี้เป็นเอสเอ็มอี 90% แบ่งสัดส่วนตามพื้นที่กรุงเทพฯ 53.5% ภาคกลาง 27.5% และภาคเหนือ 6.2% มีแนวโน้มการเติบโตและขยายตลาดต่อเนื่องทั้งไทยและอาเซียน 

จากข้อศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ธุรกิจความงามในไทยที่แข่งขันดุเดือด ผู้ประกอบการต้องมองหาโอกาสทางตลาดใหม่เพื่อสร้างยอดขาย ขยายกลุ่มลูกค้า ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เริ่มจาก ฟิลิปปินส์ (The Value Considerations) ฟิลิปปินส์นำเข้าสินค้าความงามจากไทย 33% มากอันดับ 1 จากอินโดนีเซียเป็นลำดับที่ 2 ชาวฟิลิปปินส์มักมองหาแบรนด์ที่ควบรวมหลากคุณสมบัติการบำรุงในหนึ่งเดียว เพราะหมายถึงคุ้มค่าที่จะจ่าย ทำให้สินค้าความงามที่ช่วยลดเลือนริ้วรอย ขาวกระจ่างใส และป้องกันแสงแดดในหลอดเดียว ได้รับความนิยม ตลาดความงามในฟิลิปปินส์เติบโต 4.2% มีมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์ โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Shower and Hair Care ได้รับความนิยมมากที่สุด

เมียนมา (Plenty of Potential) ตลาดความงามมีมูลค่า 318 ล้านดอลลาร์ เติบโตเฉลี่ย 14% ต่อปี  โดยยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมขยายตัว 97.5% รองลงมาคือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า 70.25% กลุ่มดูแลและบำรุงผิวกายเติบโต 63% ผลสำรวจยังพบว่า ผู้ที่มีรายได้ระดับกลางและระดับสูงนิยมเลือกใช้บริการสถานเสริมความงามและบริการทางการแพทย์ในไทยและสิงคโปร์ อัตราการใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-2 แสนบาทต่อครั้ง 

กัมพูชา (Import Over-Reliant) แม้ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อไม่สูง การตัดสินใจซื้อแต่ละครั้งเน้นพิจารณาประโยชน์และราคา แต่กำลังขยับฐานะสู่ชนชั้นกลาง ความนิยมสินค้าฟุ่มเฟือยและสิ่งอำนวยความสะดวกจึงเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ตลาดความงามของกัมพูชาพึ่งพาการนำเข้า ปี 2557 กลุ่มเครื่องสำอางและบำรุงผิวนำเข้าเพิ่มขึ้นกว่า 400% 

ลาว (Rising Demand for Beauty Product)  มีแรงซื้อเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรวัยทำงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การคืบคลานเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกผ่านสื่อต่างๆ กระตุ้นให้เครื่องสำอางจากต่างประเทศ และเครื่องสำอางของไทยได้รับความสนใจ อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับไทย ความชื่นชอบในสื่อโทรทัศน์วิทยุและดารานักแสดงไทย เป็นโอกาสให้เครื่องสำอางแบรนด์ไทยเข้าถึงประชากรลาวได้มากขึ้น 

เวียดนาม (Up From a Low Base) ยอดขายเครื่องสำอางที่เพิ่มขึ้น 12% ในปี 2558 มูลค่าตลาด 1,200 ล้านบาท ปีที่ผ่านมาเติบโต 4%  ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดความงามในเวียดนามเติบโต คือ การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากรในเวียดนาม การเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร้านค้าออนไลน์ ประชาชนในเขตชนบทซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น และประชากรกว่า 20 ล้านคน หรือ 40 % ในเวียดนามเป็นผู้หญิง อายุ 15-29 ปี แต่กว่า 90% ของตลาดความงามในเวียดนามถูกครอบครองโดยนักลงทุนต่างชาติ แบ่งเป็น เกาหลี 30% ยุโรป 23% ญี่ปุ่น 17% ไทย 13% สหรัฐ 10% อื่นๆ 7%  

อินโดนีเซีย (Coming of Men's Grooming)  มูลค่าตลาดความงามของอินโดนีเซียอยู่ที่ 3,600 ล้านดอลลาร์ ยูโรมอนิเตอร์คาดการณ์ว่าตลาดจะเติบโตต่อเนื่อง 17% ต่อปี โดยการเติบโตของอีคอมเมิร์ซที่อินโดนีเซียผลักดันตลาดความงามขยายตัว โดยผลสำรวจของนีลเส็นพบว่ายอดขายเครื่องสำอางในตัวเมืองของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 9.4%  ยอดขายต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 27.5% โดยตลาดต่างจังหวัดเน้นขายสินค้าในกลุ่มสกินแคร์พื้นฐานและเครื่องสำอางที่ติดทน การทำตลาดในเมืองเน้นสินค้าไฮเอนด์ เพราะประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้สินค้าฮาลาลเติบโตอย่างน่าจับตามอง รวมถึงผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Men Grooming โดยสินค้าความงามของผู้ชายที่ได้รับความนิยมได้แก่ โฟมล้างหน้า ครีมบำรุง และลดเลือนริ้วรอย

มาเลเซีย (Image Conscious)  ตลาดความงามมีมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์ เติบโต 5.7% ต่อปี มาเลเซียเป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางฮาลาลรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยตลาดความงามฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในมาเลเซีย คือ เครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า แต่งตา และลิปสติก ขณะที่ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยจะมองหาแบรนด์ทางเลือกที่ราคาย่อมเยาลงมา แต่ยังคงสีสันและคุณภาพใกล้เคียงแบรนด์ชั้นนำ เช่น Silky Girl ของมาเลเซีย

สิงคโปร์ (Only The Best) ตลาดความงามคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 278 ล้านดอลลาร์ หรือ 9,840 ล้านบาทภายในปี 2563 สูงสุดในอาเซียน อัตราการเติบโตจึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.5 % ต่อปี คนสิงคโปร์มีการศึกษาดี รายได้สูง จึงมีกำลังซื้อสูง นิยมสินค้าแบรนด์เนม ได้รับอิทธิพลเรื่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิตจากตะวันตกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะวัยรุ่น ติดตามกระแสนิยมและแฟชั่นในตลาดโลกและมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ สินค้าความงามที่ได้รับความนิยมมักเป็นสินค้าราคาสูง