ค้าปลีกไอทีไตรมาสแรก 'ฝืด' รายเล็กโอด 'อยู่ยาก'

ค้าปลีกไอทีไตรมาสแรก 'ฝืด' รายเล็กโอด 'อยู่ยาก'

ยุคที่ตลาดสมาร์ทโฟนเริ่มเติบโตแบบไม่หวือหวา พีซียังไม่ฟื้น ดีกรีการแข่งขันไม่เคยลดความรุนแรง กระทั่งรายใหญ่ยังต้องหืดจับ คอยปรับกลยุทธ์ช่วงชิงกำลังซื้อ แน่นอนว่าผู้ค้ารายเล็กๆ ยิ่งอยู่กันยาก...

ผู้ค้าโทรศัพท์มือถือและแกดเจ็ทประจำห้างสรรพสินค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ หรือ มาบุญครอง เผยว่า บรรยากาศการซื้อขายสมาร์ทโฟนและแกดเจ็ทไตรมาสที่ 1 ไม่ดีเลย สาเหตุหลักคาดว่า น่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความแน่นอน

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีในสมาร์ทโฟนดูอิ่มตัว สิ่งที่แบรนด์นำมาเป็นจุดขายมีแต่เครื่องสเปคแรงขึ้น เร็วขึ้น หรือไม่ก็กล้องเทพขึ้น จากทั้งหมดประเด็นที่เรียกความสนใจจากลูกค้าได้มากที่สุดขณะนี้คือ เรื่องกล้อง เช่น เลนส์ไลก้า ของหัวเว่ย

ส่วนกาแล็คซี่ เอส 8 และ เอส 8 พลัส ของซัมซุง ซึ่งสินค้าจะเข้าเอ็มบีเคหลังวางขายเป็นทางการไม่เกิน 5 วัน เบื้องต้นประเมินจากลูกค้าที่สอบถามเข้ามา มีแนวโน้มว่ายอดอาจไม่ได้วิ่งแรงมากนัก ด้านไอโฟนสีแดง ก็ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ที่จะเข้ามากระตุ้นตลาดได้

ที่ขายดีคือเครื่องระดับกลาง ราคาหมื่นต้นๆ แต่ปัจจุบันลูกค้ามักนำเครื่องเก่ามาซ่อม เพื่อใช้งานมากกว่า จนทางร้านต้องหันมาเน้นรับซ่อมเครื่องมากขึ้น จ้างช่างมาประจำ

นอกจากนี้ การปรับตัวต้องลดค่าใช้จ่ายจากเดิมมี 2 ตู้ ลดเหลือตู้เดียว และรอดูท่าที หลังเอ็มบีเคปรับปรุงห้าง ลูกค้าจะหนาแน่นหรือไม่ค่อยตัดสินใจอีกครั้ง

“จากที่ต้องเสียค่าเช่าเดือนละหลักแสน ผมว่าตัดออกครึ่งหนึ่งและเอาเงินไปบูทเพจบนเฟซบุ๊คน่าจะดีกว่า อีกอย่างขณะนี้ตลาดผันผวนมากขึ้น เสี่ยงมากขึ้นจากการที่มีคู่แข่งใหม่ๆ ที่เป็นผู้ค้าชาวต่างชาติเข้ามาเช่าช่วงต่อคนไทย”

ต่างชาติแย่งลูกค้า
ด้านผู้ค้าโทรศัพท์มือถืออีกราย กล่าวว่า เงียบมาตั้งหลายเดือนแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาก็จะเน้นพวกอุปกรณ์เสริมเล็กๆ น้อยๆ หรือ นำเครื่องมาซ่อม ที่พอขายได้ก็เป็นสมาร์ทโฟนระดับกลาง ทั้งได้รับผลกระทบจากผู้ค้าต่างชาติชาวเมียนมาที่มาเช่าตู้ต่อจากคนไทยและแย่งลูกค้าชาวต่างชาติไปหมด เช่น โซนที่ขายอยู่นี้จากทั้งหมดน่าจะมีอยู่เกิน 80%

“ที่เห็นๆ นี่ไม่ใช่ลูกจ้างนะเป็นเจ้าของ ยอมรับว่าพวกเขาเก่ง ฉลาดกว่ากลุ่มที่มาขายแรงงาน พูดภาษาอังกฤษได้ แถมชอบขายของตัดราคา กำไรน้อยๆ 10-20 บาทก็เอา หรือถ้าไม่มีของก็วิ่งไปเอาให้ถึงที่เสือป่าก็มี คือลูกค้าอยากได้อะไรเขาหาให้ได้หมดหรือไม่ก็พาไปหาไม่มีเกี่ยง หวังว่าภาครัฐจะเข้ามาดูแลตรงนี้บ้าง ทุกวันนี้เราอยู่กันยากมากขึ้น คนไทยต้องจ่ายภาษีแต่พวกเขาไม่ต้อง ถ้าไม่เชื่อก็ไปเดินดูได้"

ยื้อต่อไม่ไหว
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการซื้อขายบริเวณชั้น 4 ฝั่งโตคิว หรือโซนขายโทรศัพท์มือถือ ภายในห้างสรรพสินค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ มีลูกค้ามาจับจ่ายค่อนข้างบางตา ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติมากกว่าคนไทย ในส่วนผู้ค้ายังเน้นสินค้าที่มีสีสันสดใส มีให้เลือกหลากหลาย โดยเฉพาะอุปกรณ์เสริมสำหรับมือถือ สายชาร์จ ปลั๊กไฟ แบตเตอรี่สำรอง เคส แท่นวางมือถือ ฯลฯ ทั้งมีการรับซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน สินค้ามือ 2 รวมถึงรับซ่อมเครื่อง

ส่วนประเด็นที่มีเสียงบ่นว่า มีผู้ค้าชาวต่างชาติเข้ามาจำนวนมากนั้น จากการเดินสำรวจตลอดทั้งชั้นพบว่าสอดคล้องตามคำบอกเล่าของผู้ค้าชาวไทย

อย่างไรก็ตาม เทียบกับช่วงไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมา เห็นได้อย่างชัดเจนด้วยว่ามีร้านค้า(ตู้) ว่างเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อสอบถามร้านข้างเคียงได้รับคำบอกเล่าว่าต่างสู้ค่าใช้จ่ายกันไม่ไหว และยังไม่มีวีแววว่าจะมีรายใหม่เข้ามาแทน

พันธ์ุทิพย์“หงอย” ผู้ค้าหั่นค่าใช้จ่าย
ด้านผู้ค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพ์ห้างสรรพสินค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า สาขาประตูน้ำ เผยว่า บรรยากาศการซื้อขายช่วงนี้เงียบเหงาอย่างมาก สาเหตุหลักน่าจะเกิดจากเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังฝืดๆ เท่าที่ถามเพื่อนๆ ที่ขายเสื้อผ้า สถานการณ์ก็ไม่ต่างกันมาก

ทุกวันนี้ ทางร้านจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด เมื่อค่าเช่าคุมไม่ได้ ก็ต้องไปคุมอย่างอื่น แต่ไม่ถึงกับไล่ลูกจ้างออก ทว่าหากมีคนลาออกก็จะไม่จ้างเพิ่ม จากนโยบายของทางห้างที่ต้องการให้แต่ละร้านตกแต่งใหม่ให้ดูทันสมัยก็ทำกันเอง ไม่ได้จ้างคนอื่น

นอกจากนี้ พยายามให้บริการลูกค้ามากขึ้น ทั้งต้องตามกระแสตลาดให้ทัน เช่นขายออนไลน์ จากแต่ก่อนหากสั่งแค่1-2 ชิ้นจะไม่ส่ง แต่ทุกวันนี้ต้องส่งและขอให้ลูกค้าช่วยออกค่าจัดส่ง รวมถึงนำสินค้าสำหรับเล่นเกมเข้ามาขายมากขึ้น หลักที่นำมาจะเน้นสินค้ามีแบรนด์ ราคามาตรฐาน เพื่อว่าลูกค้าจะได้ไม่ต่อรองราคามาก คุณภาพดีไม่เสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียง

“หน้าร้านเริ่มไม่ไหวแล้วจะขายได้ก็พวกของหายาก สินค้าพิเศษ หรือที่ตกรุ่น ก็ยังลุ้นอยู่ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป คือมันแย่ลงมาเรื่อยๆ เคยหวังว่าจะดีก็ไม่ดี ค่าเช่าก็ขึ้นทุกปี ก็ต้องประคองกันไป ชั่วโมงนี้ต้องประหยัดอย่างเดียว”

ไม่หวังหน้าร้าน
ขณะที่ผู้ค้าอุปกรณ์เสริมคอมพ์อีกรายบอกว่า เงียบเหงามาตั้งนานแล้วไม่ใช่แค่ช่วงนี้ ตั้งแต่มีวิกฤติการเมือง และระยะหลังๆ ห้างรีโนเวทใหม่และลูกค้าบางส่วนเข้าใจกันผิดว่าไม่เปิดให้บริการ

อย่างไรก็ดี ที่อยู่ได้เนื่องจากการขายส่งทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ไม่ได้คาดหวังจากคนที่เข้ามาเดิน ส่วนของทางร้านช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์จะดีกว่าเสาร์ อาทิตย์ ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มามีเป้าหมายชัดเจนเพื่อการใช้งานจริง

จากการสอบถามอีกหลายราย ต่างให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า “ขายไม่ดีเลย” หรือ “ไม่ค่อยได้เลย” และเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว

ด้านบรรยากาศโดยรวม โซนที่คึกคักคือ “ไอที จังชั่น” ซึ่งขายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริม ส่วนบริเวณอื่นๆ ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งของร้าน

จับตารายใหญ่-แบรนด์จีนแข่งดุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปี 2560 ตลาดสมาร์ทโฟนประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ที่อาจทำให้การขยายตัวไม่โดดเด่น คาดว่า จำนวนสมาร์ทโฟนที่ขายได้ในปี 2560 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 17.2-17.4 ล้านเครื่อง ขยายตัวในกรอบแคบราว 1.8-2.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวลดลงจากปี 2559 ที่คาดว่าจะขยายตัวสูงราว 8.3% จากปี 2558 ขณะที่มูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนไทยจะมีมูลค่าประมาณ 96,550 – 97,950 ล้านบาท ขยายตัว 3.0 – 4.5% จากปี 2559 ที่คาดว่าจะขยายตัวราว 5% จากปี 2558

อย่างไรก็ดี การแข่งขันทำการตลาดอย่างเข้มข้นของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนทั้งรายเก่าและรายใหม่ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคม นับว่าเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนตลาดสมาร์ทโฟนในไทยในปี 2560 ให้ยังมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมุ่งเน้นทำการตลาดอย่างจริงจังของกลุ่มผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจีน เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดสมาร์ทโฟนในไทยมากขึ้น

ด้านผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย น่าจะยังกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนรายเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับบนที่ยังคงมีกำลังซื้อ โดยเป็นการซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่เพื่อทดแทนเครื่องเดิมที่ไม่สามารถใช้งานได้

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานบางส่วนโดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบและติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ อาจซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เพราะต้องการใช้งานในเทคโนโลยีหรือฟังก์ชั่นใหม่ๆ โดยขายสมาร์ทโฟนเครื่องเดิมออกสู่ตลาดสมาร์ทโฟนมือสอง หรืออาจซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เพื่อใช้งานเป็นเครื่องที่สอง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดด้วยว่า ปี 2560 สมาร์ทโฟนจากจีนน่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสมาร์ทโฟนในไทยมากกว่า 30% ของจำนวนยอดขายสมาร์ทโฟนในไทยทั้งหมด