สื่อสารแบรนด์ทุก‘สกรีน’เจาะผู้บริโภคยุคดิจิทัล

สื่อสารแบรนด์ทุก‘สกรีน’เจาะผู้บริโภคยุคดิจิทัล

ปัจจุบันประชากรไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 44 ล้านคน ส่วนใหญ่ใช้งานผ่าน “โมบาย อินเทอร์เน็ต” โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่มแมสทั่วประเทศ ที่มีพฤติกรรมเสพคอนเทนท์และใช้งานสื่อดิจิทัลเพื่อความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าจากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มแมสทั่วประเทศต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าทุกวัยใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการเสพคอนเทนท์ สื่อโซเชียล รวมทั้งการใช้งานในชีวิตประจำวัน ปีที่ผ่านมากลุ่มแมสเริ่มใช้งานเสิร์ช การโอนเงินผ่านมือถือ ปีนี้กลุ่มแมสจะมีความเชี่ยวชาญการใช้สมาร์ทโฟนและสื่อดิจิทัลด้านต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น

ปัจจุบันสื่อดิจิทัลเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศกลุ่มแมส ไม่ต่างจากสื่ออื่นๆ การสื่อสารแบรนด์วันนี้ ไม่สามารถแยกการสื่อสารระหว่างสื่อเทรดดิชั่นนอลและสื่อดิจิทัลได้อีกต่อไป”

ปีนี้สมาคมโฆษณาดิจิทัลประเทศไทย (DAAT) คาดการณ์งบโฆษาสื่อดิจิทัลเติบโต 24% มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท ครองเม็ดเงินอันดับ 2 ด้วยสัดส่วนกว่า 10% ของอุตสาหกรรมโฆษณามูลค่า “แสนล้านบาท” รองจากสื่อทีวี และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากจำนวนผู้บริโภคที่ใช้เวลากับสื่อดิจิทัลมากขึ้น

ส่งผลให้กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดในอุตสาหกรรมโฆษณา จัดสรรงบประมาณผ่านสื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้น ปีนี้คาดการณ์ว่า สินค้าสกินแคร์ จะเป็นกลุ่มที่ใช้งบโฆษณาดิจิทัลสูงสุด มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับกลุ่มเครื่องดื่มนอน แอลกอฮอล์ ที่อยู่อันดับ 3 มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มสื่อสารและรถยนต์ ที่อยู่ในท็อปไฟว์ เริ่มใช้งบประมาณคงที่ ในสื่อดิจิทัล

การเติบโตของทั้งจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและการกระจายตัวของสื่อดิจิทัลปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเสพสื่อหลากหลายแพลตฟอร์มและหลายสกรีน ดังนั้นนักการตลาดและแบรนด์มีหน้าที่ต้องสื่อสารกับผู้บริโภคใน“ทุกสกรีน” ที่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภค โดยไม่ต้องสนใจว่าจะเป็นสื่อดิจิทัล หรือเทรดดิชั่นนอล มีเดีย แต่เป็นรูปแบบการสื่อสารที่ผสมผสานมีเดีย เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมความสนใจผู้บริโภค

การใช้งานสื่อดิจิทัลของผู้บริโภคปัจจุบัน ทำให้เกิด “ข้อมูล”ที่ผู้บริโภคสนใจจำนวนมาก ซึ่งนักการตลาดและผู้บริโภคสามารถนำ“ดาต้า” มาวิเคราะห์ เพื่อวางแผนสื่อสารผ่าน “มีเดีย” ต่างๆ ตาม”สกรีน” ที่อยู่ในสนใจและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภค

ทิศทางการสื่อสารและทำตลาดของนักการตลาดปีนี้ ต้องให้ความสำคัญด้านการ “วิเคราะห์ดาต้า” ที่แม่นยำในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกันนั้นต้องพัฒนาแพลตฟอร์ม “อีคอมเมิร์ซ” สำหรับปิดการขาย เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้ธุรกิจ

อาสา ผิวขำ ผู้อำนวยการฝ่ายนิว มีเดีย บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ทำให้ “ผู้ผลิตคอนเทนท์” ต้องปรับตัวตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค ที่มีไลฟ์สไตล์เสพสื่อและคอนเทนท์หลายช่องทาง

สำหรับสื่อในเครืออมรินทร์ วางตำแหน่งเป็น “ผู้นำไลฟ์สไตล์ คอนเทนท์” ที่มุ่งสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายทุกแพลตฟอร์มทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ด้วยการผสานคอนเทนท์ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี เชื่อมโยง“นิว มีเดีย” ทุกแพลตฟอร์ม ปัจจุบันคอนเทนท์นิว มีเดีย ของอมรินทร์ มีผู้ใช้งาน 4.5 ล้านรายต่อเดือน มียอดอ่าน 17 ล้านคอนเทนท์ต่อเดือน รวมทั้งมีผู้ติดตามสื่อโซเชียลกว่า 7.1 ล้านราย

การพัฒนาคอนเทนท์ในเครืออมรินทร์ มุ่งไปที่ฟังก์ชันของสื่อภายใต้ 3 กลยุทธ์ คือ Proud สื่อที่สร้างความภูมิใจ เช่น การเก็บสะสมนิตยสารฉบับพิเศษ , Passion สื่อที่สร้างแรงบันดาลใจ และ Purchase การนำผู้บริโภคไปสู่การซื้อสินค้า ทั้งร้านค้าของแบรนด์ อีคอนเมิร์ซ รวมทั้งงานแฟร์

โชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจออนไลน์ บริษัทบีอีซี -เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลต้องการความรวดเร็วในการเสพข้อมูลข่าวสาร ทำให้ธุรกิจสื่อต้องปรับตัวตอบไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล ปัจจุบันคอนเทนท์ของบีอีซี เทโรฯ ดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ “อินทิเกรเต็ด มีเดีย คอมมูนิเคชั่น” ครอบคลุมทุกช่องทางการเสพสื่อของผู้บริโภคทั้ง จอทีวี ,เว็บไซต์ ,แอพพลิเคชั่น , ยูทูบ ,เฟซบุ๊ค

ในยุคดิจิทัล สื่อต้องปรับตัวให้ทันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี บีอีซี-เทโรฯ ใช้ทุกเทคโนโลยี ที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค ทั้ง เฟซบุ๊คไลฟ์ ที่สามารถรายงานสถานการณ์ข่าวได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งตอบโจทย์การสื่อสารแบรนด์ เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่นรูปแบบ VR 360 ที่จะผสมผสานแบรนด์ ผ่านการนำเสนอคอนเทนท์ต่างๆ รวมทั้งรายการสด