หลังคาโซลาร์เซลล์คุ้มหรือไม่ Google Sunroof บอกได้

หลังคาโซลาร์เซลล์คุ้มหรือไม่ Google Sunroof บอกได้

ดร.อดิสร นักเทคโนโลยีเนคเทคเล่าถึงโปรแกรมล่าสุดจากกูเกิลที่ชื่อ Sunroof ผู้ช่วยสำหรับผู้ที่สนใจติดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไว้บนหลังคาบ้านตัวเอง แต่ยังลังเลว่าจะคุ้มทุนหรือไม่ โปรแกรมจะช่วยคำนวณแล้วให้คำตอบไว้เบ็ดเสร็จ

 ดร.อดิสร นักเทคโนโลยีเนคเทคเล่าถึงโปรแกรมล่าสุดจากกูเกิลที่ชื่อ Sunroof ผู้ช่วยสำหรับผู้ที่สนใจติดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไว้บนหลังคาบ้านตัวเอง แต่ยังลังเลว่าจะคุ้มทุนหรือไม่ โปรแกรมจะช่วยคำนวณแล้วให้คำตอบไว้เบ็ดเสร็จ

เมื่อครั้งที่แล้วผมเล่าให้ฟังถึงเทคโนโลยี “Virtual Battery” หรือ แบตเตอรี่เสมือน ซึ่งอาศัยปัญญาประดิษฐ์ในการรักษาสมดุลระหว่างโหลด โดยการควบคุมอัตราการอัดประจุและคายประจุของแบตเตอรี่ทุกตัวที่ต่อเชื่อมกับโครงข่ายไฟฟ้า สาเหตุที่เราต้องรักษาสมดุลเพราะปัจจุบันแหล่งกำเนิดไฟฟ้าไม่เหมือนเดิม เรามีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมจากกังหันลม เป็นต้น


ถึงแม้จะเป็นพลังงานสะอาด แต่มันผลิตพลังงานได้ไม่คงที่ ไม่สม่ำเสมอ แต่อย่างไรก็ตามพลังงานแสงอาทิตย์นับว่าเป็นแหล่งพลังงานที่เหมาะกับบ้านเรามาก ยิ่งเข้าหน้าร้อนเดือนเมษาแบบนี้ ออกไปตากแดดแทบไม่ไหว ดังนั้นถ้าบ้านเราสนับสนุนให้ติดแผงเซลล์แสงอาทิตย์กันเยอะๆ ก็น่าจะประหยัดเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ที่ต้องนำเข้ามาเพื่อป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าแบบเผาไหม้เชื้อเพลิงได้ ประหยัดเงินชาติแถมยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย


ล่าสุดถ้าใครสนใจติดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไว้บนหลังคาบ้านตัวเอง แต่ยังลังเล ไม่แน่ใจว่า จะผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอหรือไม่ มีแดดทั้งวันหรือไม่ มีเงาต้นไม้หรือตึกมาบังแสงแดดหรือไม่ Google ได้เปิดตัวโครงการที่มีชื่อว่า Sunroof เป็นโปรแกรมคล้ายกับ Google Earth ที่เราสามารถมองลงมาจากอวกาศแล้วดูปริมาณความเข้มแสงที่มีผลต่อความสามารถในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่ตกลงบนหลังคาบ้านเราได้อย่างแม่นยำ และมีข้อมูลที่เก็บเฉลี่ยตลอดปี สามารถคำนวณข้อมูลขนาดของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสมกับหลังคาบ้านท่าน และยังบอกข้อมูลเงินที่ท่านต้องลงทุนและระยะเวลาการคืนทุนในการลงทุนติดตั้งให้เสร็จสรรพ

ตัวอย่างข้อมูลที่น่าสนใจคือ พบว่าหลังคาบ้านในสหรัฐอเมริกามากกว่าร้อยละ 80 มีศักยภาพพอที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ดี และพบว่า หลังคาบ้านในเมือง Houston เมืองเดียว ตลอดปีสามารถที่จะผลิตพลังงานได้มากถึง 18,940 กิกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งเมื่อเราลองคำนวณดูครับว่า 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมง จะสามารถป้อนพลังงานไฟฟ้าให้บ้านเรือนอาศัยปกติได้ 90 หลังคาเรือนตลอดทั้งปี ดังนั้น หมายถึงเราสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเพียงพอที่จะป้อนที่อยู่อาศัยได้ถึงประมาณ 1,700,000 หลังคาเรือนเลยทีเดียว


อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะมีการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์มากขึ้นเป็นเท่าตัวในสหรัฐอเมริกาเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ส่วนใหญ่ยังเป็น Solar Farm เพื่อเน้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนโครงช่ายไฟฟ้าโดยตรง ส่วนการติดตั้งในครัวเรือนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 19 เท่านั้น เนื่องจากยังไม่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดใจให้ผู้ที่ไม่ใช่ Early adopter หรือผู้ที่นิยมเทคโนโลยีใหม่ๆ มาติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ได้มากเท่าที่ควร ดังนั้น โครงการ Sunroof นี้อาจจะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันมาติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์กันมากขึ้น ขจัดความลังเลใจว่าจะคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ และราคาแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ถูกลงมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา อาจจะทำให้เราไม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกต่อไปในอนาคตอันใกล้

*บทความโดย ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ ที่ปรึกษา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ, ผู้อำนวยการ ศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ เนคเทค