สมบัติล้ำค่าของ ณัฐสินี โกศลพิศิษฐ์

สมบัติล้ำค่าของ ณัฐสินี โกศลพิศิษฐ์

ณัฐสินี โกศลพิศิษฐ์ เป็นมากกว่าสาวเจนวายโซเชียลจ๋า ในวัยสามสิบกว่าๆ ยังเป็นแม่ลูก 4 ที่ครอบครัวมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ และยังเป็นต้นแบบที่หลายๆครอบครัวสงสัยในวิธีการเลี้ยงลูกๆ ให้เป็นไอดอลในแบบฉบับของเธอ

เนื่องในวันครอบครัว 14 เมษายนของทุกปี “ณัฐสินี โกศลพิศิษฐ์” คุณแม่เจนวายวัยประมาณ 30 แต่มีลูกถึง 4 คน สวนกระแสคู่สมรสในยุคสมัยเดียวกันซึ่ง 16.2 เปอร์เซ็นต์สมัครใจไม่ต้องการมีลูก จึงเป็นคุณแม่ที่ควรทำความรู้จักด้วยมากที่สุด

             เฮี้ยง-ณัฐสินี ภรรยา บ๊อบ-ณัฐธีร์ มีลูก 4 คนเป็น 1 สาว 3 หนุ่ม คนโตณัชชา (ณัชชาวีณ์) หรือที่รู้จักกันก็คือ น้องณัชชาลูกสาวพี่บ๊อบ อายุ 8 ขวบครึ่ง ถัดมาก็คู่แฝด 4 ขวบครึ่งพุฒ(ณติวัชร์) - พร้อม(ณัติวิชญ์) และน้องเภา (ณัฐดรุตม์) ใกล้จะ 3 ขวบ เธอเป็นลูกคนเดียวจึงรู้สึกว่า ลูกควรที่จะมีพี่น้อง ส่วนสามีมีพี่น้องถึง 6 คนก็รู้สึกว่ามากเกินไป ก่อนแต่งงานก็ได้พูดคุยกันว่า ครอบครัวของเราจะมีลูก 2 คน ซึ่งเป็นจำนวนกำลังดี แต่ในความเป็นจริงกลับผิดแผนไปบ้างจาก 2 ขยับเป็น 4 เพิ่มมาหนึ่งเท่าตัวเต็มๆ
                   “ท้องแรกค่อนข้างยากต้องปรึกษาคุณหมอ พอตัดสินใจที่จะท้องอีกครั้งก็ไปพบคุณหมอแล้วฉีดยากระตุ้นไข่ ปรากฏว่า ได้มาเป็นแฝดสามซึ่งอีกคนหนึ่งเสียชีวิตไปเนื่องจากปอดไม่สมบูรณ์จากการคลอดก่อนกำหนด ส่วนน้องเภาก็มาโดยที่เราไม่ทันคุมกำเนิด” ณัฐสินี กล่าว
เธอคลอดน้องณัชชาตามธรรมชาติ ส่วนพุฒ-พร้อมเป็นการคลอดฉุกเฉินจึงต้องผ่าคลอด ทำให้น้องเภาต้องผ่าคลอดไปด้วย ณัฐสินีแนะนำคุณแม่ทุกคน ถ้าไม่มีอุปสรรคอะไร การคลอดธรรมชาติคือสิ่งดี่ที่สุด และสิ่งสำคัญคือ คุณจะได้สัมผัสความรู้สึกถึงความเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบจริงๆ

                  มีคำกล่าวว่า การมีลูก 1 คนทำให้ผู้หญิงเปลี่ยนไป เมื่อนำมาย้อนถามว่าเธอเปลี่ยนไปอย่างไร
       “มีความอดทนมากขึ้นอย่างชัดเจน แต่เป็นการอดทนและเหนื่อยอย่างมีความสุข สุขที่ได้เจออะไรใหม่ๆ ทุกวัน ได้เห็นพัฒนาการใหม่ๆ ทำให้มีพลังที่จะเลี้ยงดูพวกเขาต่อไป มีพลังที่จะทำทุกวันให้เต็มที่ เมื่อก่อนเห็นในละครที่พ่อแม่เหนื่อยกลับมาบ้านพอเห็นหน้าลูกแล้วชื่นใจ ดูแล้วก็ไม่เข้าใจ ไม่อินกับบทละคร แต่ตอนนี้รู้เลยว่าเป็นอย่างไร มันคือ การเฝ้ารอคอยอย่างอดทอนที่จะได้เจอหน้าลูก”

                        คุณแม่ลูกสี่ให้ความสำคัญกับการมีผู้ช่วยหลายคนช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลลูก เพื่อให้เธอมีเวลามากพอที่จะสังเกตพฤติกรรม พัฒนาการ ความชอบและความถนัดของลูก หรือมีวันว่างที่สามารถเดินหาสื่อการเรียนที่มาช่วยเสริมพัฒนาการ  คุณยายของเด็กๆ (รัตตินันท์ เนติเจริญพัฒน์) มีบทบาทสำคัญที่สุดในการช่วยดูแลเด็กๆ โดยเฉพาะคู่แฝดซึ่งเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนดและสุขภาพไม่แข็งแรง แล้วยังเป็นผู้ที่ดูแลการกินอยู่และอื่นๆ ในภาพรวม ขณะเดียวกันก็ยังมีพี่เลี้ยงเด็กคอยช่วยดูแลอีกแรง
                   “แม่หลายคนคิดว่าการเลี้ยงดูด้วยตัวเองดีที่สุด แต่ตลอดทั้งวันก็ยุ่งเรื่องอาหาร เสื้อผ้าและจิปาถะ จนหมดเวลาที่จะมาพิจารณาว่าพัฒนาการของลูกเป็นอย่างไร จะเสริมตรงไหน อย่างไร หรือจะมีเวลาว่างก็ต่อเมื่อลูกหลับ จะออกนอกบ้านแต่ละครั้งก็เป็นเรื่องลำบาก แล้วยังมีสามีที่ต้องดูแลอีก ไม่ใช่มีลูกปุ๊ปก็ทอดทิ้งไม่ดูแลสามีเลย ซึ่งก็ไม่แฟร์กับชีวิตของเขา”
                 สำหรับคาแรกเตอร์ของลูกทั้ง 4 มีความชอบความถนัดต่างกัน จึงเป็นการบ้านหนักสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องคิดหาสื่อที่หลากหลายมาเสริมสร้างพัฒนาการที่แตกต่างกัน
                     “เราไม่จำเป็นต้องเลี้ยงลูกให้เหมือนกัน แต่จะดูความถนัดของแต่ละคนเป็นหลัก น้องณัชชาเป็นเด็กที่มีวิธีคิดที่จะเอาตัวรอด ปรับตัวเก่งมาก สตรองมาก มีความตั้งใจและรู้หน้าที่ความรับผิดชอบสูงมาก รู้ว่าตอนนี้ทำงานอยู่ก็รับผิดชอบในที่ทำงาน ตอนนี้เล่นเค้าก็จะเล่นหลุดโลกไปเลย เล่นจริงจังมาก ถึงเวลาเรียนก็ตั้งใจเรียน”
                     ส่วนน้องพร้อมส่อแววมาทางวิชาการ ชอบเรียนหนังสือและเรียนรู้ได้เร็วมาก สามารถอ่าน และพูดภาษาอังกฤษได้เหมือนเด็กประถมทั้งที่ยังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 1 เช่นเดียวกับน้องพุฒที่แม้ว่าพัฒนาการจะช้ากว่าน้องพร้อม 1 สเต็ป แต่ก็จะค่อยๆ ตามทัน น้องเภามีคาแรกเตอร์คล้ายกับพี่สาวและยังเป็นเด็กที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรงมาก ส่อแววความถนัดไปทางกีฬา จึงให้เรียนและทดลองเล่นกีฬาหลายๆ ชนิดเพื่อหาดูสิ่งที่เขาชอบ
                        "เด็กทั้งสี่ไปเรียนคนละโรงเรียน เราเลือกโรงเรียนที่เหมาะกับคาแรกเตอร์ของลูก เอกลักษณ์ความเป็นโรงเรียนจะสะท้อนว่าลูกเราเหมาะหรือไม่ ไม่ใช่ว่าโรงเรียนที่ดีที่สุดจะเหมาะกับลูกเรา”

                   “น้องณัชชาลูกสาวพี่บ๊อบ” เป็นไอดอลของเด็กหลายคน ขณะเดียวกันก็เป็นข้อสงสัยของคุณแม่ๆ ถึงวิธีการเลี้ยงลูกของบ้านนี้ เฮี้ยงถือว่าการเลี้ยงณัชชามาถูกทางแล้วในระดับหนึ่ง มาจากสิ่งที่เราหล่อหลอมทั้งหมด ส่วนแฝดที่ร่างกายเริ่มแข็งแรงขึ้นก็ให้ไปออกไปดูพี่ณัชชาทำงาน ไปช่วยเข็นช่วยหยิบจับของ แค่ให้รู้ว่า พี่ทำงานแบบไหน คืออะไร เวลานั่งรอก็ต้องฝึกให้นั่งรอให้เป็น ก็ค่อยๆ ฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไป
                     “แฝดในวัยอนุบาล 1 พูดภาษาอังกฤษไฟแลบ พี่ณัชชาจะพูดกับน้องเป็นภาษาอังกฤษ เด็กบ้านเราดูสื่อภาษาจีนและภาษาอังกฤษ รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็ปล่อยไป ณัชชาก็ถูกฝึกมาแบบนี้ ส่วนน้องเภาพยายามพูดภาษาอังกฤษเพราะพวกพี่พูดกัน ไม่ว่าครูคนไหนมาสอนพิเศษพี่ๆ น้องเภาจะไปนั่งเรียนด้วย หรือจะสะพายกระเป๋ารอเวลาแล้วคอยถามว่า ถึงเวลาของน้องเภาได้เรียนรึยัง เห็นพี่ๆ ทำอะไรก็จะทำตาม มีพี่ๆ เป็นไอดอล อยากทำทุกอย่างเหมือนพี่ๆ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องเคี่ยวเข็ญ”
                    ณัฐสินีให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างพัฒนาการในวัยเด็ก ซึ่งเปรียบเหมือนต้นกล้าที่สามารถดัดให้เป็นไปตามต้องการ เช่นเดียวกับการปลูกฝังความเป็นคนก็ทำได้ในช่วงแรกของวัยเด็ก หากสังเกตผู้ใหญ่ที่พฤติกรรมมีปัญหา เมื่อนำนักจิตวิทยามาวิเคราะห์ก็จะพบว่าปมปัญหามาจากวัยเด็ก
                   “เด็กบ้านนี้ชอบสารคดีสัตว์ วันหยุดจะหาพวกเราได้ตามสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ท้องฟ้าจำลอง พ่อเขาชอบด้านนี้ มองว่าวิทยาศาสตร์คือความรู้รอบตัว ไปเที่ยวมาแล้วก็พูดคุยกัน”
                   แม้ว่าณัฐสินีจะเป็นลูกคนเดียวแต่ไม่ใช่ปัญหาต่อการอบรมเลี้ยงดูลูกๆ ด้วยนิสัยที่ชอบสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของคนและจิตใจที่รักเด็กเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับการทำธุรกิจโรงเรียนสอนพิเศษ ทำให้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนวิธีคิดวิธีเลี้ยงลูกกับพ่อแม่หลายๆ คน ได้เก็บซึมซับประสบการณ์ของพ่อแม่ที่มีลูกมาก่อนแล้วนำมาประยุกต์ใช้ บางเรื่องก็คิดแล้วว่าจะไม่นำมาใช้กับลูกเรา
                    “เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่านำมาเปรียบเทียบกัน ต้องสังเกตแล้วหาวิธีส่งเสริมศักยภาพเป็นปัจเจกบุคคล พ่อแม่ต้องดึงศักยภาพที่เขามีอยู่ออกมาให้เขาเด่นที่สุด นั่นแหละวันหนึ่งเขาก็จะประสบความสำเร็จได้ เด็กที่เรียนหนังสือเก่งไม่ได้แปลว่าวันหนึ่งจะประสบความสำเร็จ ถ้าทุกคนถูกเลี้ยงมาเหมือนกัน วันหนึ่งก็จะไม่มีอะไรที่แตกต่าง เมื่อไม่แตกต่างก็ประสบความสำเร็จไม่ได้”
                  หากคุณยังมองภาพไม่ชัดถึงวิธีเลี้ยงลูกของครอบครัวนี้ คุณแม่ลูกสี่สรุปแนวคิดไว้ง่ายๆ โดยยกตัวอย่างว่า เธอกับสามีเคยคุยกันโดยจินตนาการถึงวันหนึ่งที่เกิดเหตุภัยพิบัติอย่างสงครามโลก ธนาคารก็เบิกไม่ได้ ลูกๆ ต้องสามารถช่วยเหลือตัวเอง มีทักษะที่จะใช้ชีวิตอยู่รอดได้ นี่คือสิ่งที่พ่อแม่อย่างเราหล่อหลอมไว้
                        ปิดท้ายการสนทนาด้วยการถามว่า ครอบครัวในความหมายของเธอคืออะไร “ครอบครัวโดยเฉพาะลูกๆ คือสมบัติทางใจที่ล้ำค่า ต้องหวงแหนรักษาให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเจอปัญหายากหนักเพียงใด” นิยามคำว่าครอบครัวในมุมของคุณแม่ที่จบมาทางด้านหลักสูตรการบริหารทรัพยากรบุคคล