'ปลัดเกษตรฯ'ชวนดื่มนมช่วงสงกรานต์ตามนโยบายรัฐบาล

'ปลัดเกษตรฯ'ชวนดื่มนมช่วงสงกรานต์ตามนโยบายรัฐบาล

"ปลัดกระทรวงเกษตรฯ" ชวนดื่มนมและมอบนมให้คนที่คุณรักในวันครอบครัวตามนโยบายรัฐบาล พร้อมจับมือภาครัฐ-เอกชนจำหน่ายนมราคาประหยัด

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การจัดงาน"รณรงค์บริโภคนมช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากใจ กษ. " ตามนโยบาย รมว.กระทรวงเกษตรฯ มีผู้ประกอบการจากสมาคมอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นม ร่วม 10 บริษัท ลดราคาค่านม 5-40% และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย มากกว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ ได้ร่วมรณรงค์ครั้งนี้ระหว่างวันที่ 1- 15 เมษายน 2560 โดยมีเป้าหมายเพิ่มการบริโภคนมจาก 14 ลิตรต่อคนต่อปีเป็น 20 ลิตรต่อคนต่อปี

ทั้งนี้ ที่สำคัญอยากให้คนไทยดื่มนม โน แอลกอฮอล์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุ มอบนมเป็นของขวัญให้ผู้ที่เคารพรักก็เป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากสินค้าเกษตรอื่นๆ

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ยังระบุว่า ข้อมูลจากมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยมีข้อมูลถึงสถานการณ์โรคกระดูกพรุน โดยระบุว่า ผู้ป่วยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนพบได้ประมาณ 0.83% ของโรคที่ไม่ติดต่อทั้งหมดทั่วโลก ในกลุ่มคนที่อายุเกิน 50 ปีทั่วโลก ผู้หญิงอย่างน้อย 1 ใน 3 คน และผู้ชายอย่างน้อย 1 ใน 5 คน เคยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) โดยประมาณการว่าทั่วโลกมีผู้หญิงที่เป็นโรคกระดูกพรุนประมาณ 200 ล้านราย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (วัยทอง) ที่มีอายุตั้งแต่ 60-90 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนสูงตั้งแต่ 10-60% ตามอายุที่มากขึ้น โดยบริเวณที่หักมากที่สุดคือ กระดูกปลายแขน 80%, กระดูกต้นแขน 75%, กระดูกสะโพก 70% และกระดูกสันหลัง 58%

สำหรับประเทศไทย (ข้อมูลเมื่อปี 2555) ยังไม่มีการศึกษาถึงสถิติโรคกระดูกพรุนเป็นรายปี แต่จากสถิติจำนวนประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ความชุกของโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปจะพบโรคกระดูกพรุนได้มากกว่า 50% โดยพบภาวะกระดูกพรุนบริเวณสันหลังส่วนเอว 15.7-24.7% บริเวณกระดูกสะโพก 9.5-19.3% อุบัติการณ์ของกระดูกสะโพกหักในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปได้จำนวน 289 ครั้งต่อประชากร 1 แสนรายต่อปี และการศึกษาของทางมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2552 พบอัตราการตายหลังเกิดกระดูกสะโพกหักภายใน 5 ปี มากถึง 1 ใน 3 ในผู้ป่วยทั้งเพศชายและหญิง นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าประชากรไทยมีภาวะขาดแคลเซียมและวิตามินดีอีกด้วย

ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณ แพทย์หญิงคุณหญิงกอบจิตต์ ลิมปพยอม ที่ปรึกษามูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ระบุว่า โรคกระดูกพรุนมีอีกชื่อว่า "มฤตยูเงียบ" เพราะว่าอาการของโรคจะรุกคืบตลอดเวลา โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้ามาก่อน ผู้ป่วยจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเกิดกระดูกหักเสียแล้ว

โรคกระดูกพรุนนี้พบได้ในสตรีมากกว่าบุรุษ เพราะมวลกระดูกของสตรีมีน้อยกว่าของบุรุษ และเมื่อสตรีหมดประจำเดือนจะขาดฮอร์โมนอีสโตรเจนที่ช่วยทำให้แคลเซี่ยมมาจับที่เนื้อกระดูกลดลง ทำให้กระดูกบางลง ๆ หลังหมดประจำเดือน ซึ่งจะแสดงให้เห็นโดยหลังโกงลง หรือความสูงลดลง มักพบเมื่อสตรีหมดประจำเดือนไปแล้ว 5-10 ปี

ทั้งนี้ ตัวเลขการศึกษาประชากรทั้งโลกพบว่า สตรีมีโอกาสกระดูกหักจากโรคนี้มากถึง 30-40% ในขณะที่ผู้ชายมีโอกาส 13% จากการสำรวจพบว่า จำนวนของการหักของกระดูกสะโพกเพิ่มมากขึ้นจาก 1.7 ล้านในปี 1990 และจะเพิ่มมากเป็น 6.3 ล้านในปี 2050 ซึ่งจะพบได้มากในประชากรส่วนใหญ่ที่อยู่ในทวีปเอเชีย

รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับสองรองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกพรุนจะเกิดได้ใน 1-3 ของผู้หญิงช่วงอายุ 60 ถึง 70 ปี และ 2 ใน 3 ที่อายุมากกว่า 80 ปี ประมาณว่ามีผู้หญิงมากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลกที่ทุกข์ทรมานจากโรคกระดูกพรุน ที่น่ากลัวไปยิ่งกว่านั้นคือ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส หรือญี่ปุ่น เป็นต้น ผู้หญิงที่เป็นโรคนี้มีน้อยกว่าครึ่งที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา ซึ่งสิ้นเปลืองเงินทองมาก และผู้หญิงในเอเชีย ซึ่งมีเงินทองจำกัด จะมีกระดูกพรุนมากขึ้น และค่าใช้จ่ายจะสูงเป็นเงาตามตัว
ผลเสียที่ตามมาของโรคนี้ก็คือ ทำให้คนไข้ที่กระดูกหักเคลื่อนไหวไม่ได้ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา มีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาอีกมาก เช่น โรคเรื้อรังของระบบหายใจ แผลกดทับ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อและอาจเสียชีวิตในที่สุด ในกรณีที่สามารถผ่าตัดรักษาได้ ผลของการรักษาอาจไม่หายกลับมาปกติได้ หรือทำงานตามเดิมไม่ได้ ซึ่งทำให้เสียทรัพยากรของทั้งครอบครัวและส่วนรวม