กลับบ้าน...ผ่านพรมแดน

กลับบ้าน...ผ่านพรมแดน

ต่างชีวิต ต่างที่มา แต่เมื่อถึงเวลาต้องกลับบ้านทุกเส้นทางคือกำลังใจ แม้ต้องผ่านความยากลำบากสักเพียงใดก็ต้องไปให้ถึง ‘บ้าน’

บางที่อาจแตกต่างด้วยทิศทาง บางคนอาจแตกต่างด้วยวิธีการ แต่สิ่งที่ ‘คนกลับบ้าน’ มีคล้ายกันก็คือ พวกเขาโหยหาไออุ่นที่หาไม่ได้จากที่ไหน นอกจากที่บ้านของตัวเอง

            สำหรับคนกรุงเทพฯหรือเจ้าถิ่นในแต่ละพื้นที่ คำว่า ‘กลับบ้าน’ อาจไม่ลึกซึ้งหรือทรงคุณค่าสักเท่าไร เพราะแค่นั่งรถ ลงเรือ หรือเดินไม่กี่เหนื่อยก็ ‘ถึงบ้าน’ แล้ว แต่สำหรับคนบางคนที่ห่างบ้านมาไกลด้วยเหตุผลต่างๆ นานา บ้างเพื่อปากท้อง บ้างเพราะความจำเป็น บ้างเพราะความจำยอม กว่าจะได้กลับบ้านแต่ละทีอาจหมายถึงการดิ้นรนหรือช่วงเวลาสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิตเลยทีเดียว

  • กลับบ้านข้ามพรมแดน

            อดีตที่พรมแดนระหว่างไทย-กัมพูชายังปราศจากข้อพิพาท คนไทยกับคนกัมพูชาบริเวณชายแดนยังไปมาหาสู่กันสะดวก เรียกได้ว่าแม้จะเป็นเครือญาติกันก็กระจายอยู่ได้ทั้งสองแผ่นดิน จนกระทั่งไฟสงครามเมื่อราว 50 ปีก่อน ได้ลุกลามจนกีดกั้นคนสองฝั่งให้กลายเป็นอื่น

พอผ่านไปความผูกพันฉันญาติมิตรค่อยๆ ถูกลบเลือนด้วยนิยาม ‘คนไทย’ กับ ‘คนเขมร’ ความเป็นอื่นยิ่งจับตัวหนาขึ้นเสมือนกำแพงขนาดมหึมา

            แต่ท้ายที่สุดสายเลือดเดียวกันจะแปรเปลี่ยนเป็นอื่นใดไม่ได้ เมื่อความสัมพันธ์เครือญาติข้ามพรมแดนไทย-กัมพูชา ถูกรื้อฟื้นให้เสียงเพรียกหาได้ปรากฏเป็นรูปธรรม

            มูย โปก หญิงชราวัย 70 ปี เป็นหนึ่งใน ‘คนไทยพลัดถิ่น’ เล่าว่าเคยตามพ่อไปอยู่ที่ฝั่งกัมพูชาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ตอนนั้นยังไม่มีสงคราม ซึ่งตอนนั้นยายมูยมีชื่อไทยว่า คำนาง จันทะราม จนกระทั่งอายุ 12 ขวบ สงครามเริ่มคุกรุ่น พ่อจึงส่งยายมูยกลับมาที่ไทย ทว่าความห่วงใยทำให้ยายมูยกลับไปหาพ่อแล้วไม่ได้กลับมาที่ไทยอีกเลย

            “พอสงครามเริ่มเกิดได้ 3 เดือน ยายกับพ่อติดต่อกันไม่ได้เลย ยายเลยข้ามกลับไปหาพ่อ พอกลับเข้าไปได้ไม่นาน สงครามก็เริ่มรุนแรงขึ้น ทำให้หนีกลับมาฝั่งไทยไม่ได้ เพราะตอนนั้นมีข่าวลือว่า ถ้าทหารเขมรรู้ว่าใครเป็นคนไทย จะฆ่าทิ้งให้หมด”

            ความน่ากลัวไม่จบแค่นั้น ยิ่งสงครามลุกโชนมากเท่าไรก็ยิ่งลุกลามมาถึงหมู่บ้านของยายมูยมากเท่านั้น ถึงขั้นให้คนในครอบครัวฆ่ากันเอง แต่เคราะห์ดีที่พอถึงคิวครอบครัวของยายมูยสงครามก็สิ้นสุดพอดี เธอจึงยังมีชีวิตมาเล่าเรื่องให้เราฟังได้

            แต่ผลพวงจากสงครามทำให้คนไทยกับกัมพูชากั้นพรมแดนชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้น คนสองฝั่งถูกแบ่งแยกชัดเจน แน่นอนว่าพวกเขาไปมาหาสู่กันยาก อย่างที่ เทศ กลิ่นกล่อม คุณยายวัย 63 ปี เล่าว่าการเดินทางข้ามไปมาหาสู่กันยากลำบากและอันตรายมาก

            ยายเทศยังฉายภาพญาติฝั่งกัมพูชาให้ฟังว่าเขาลำบากกว่าเราเยอะ อาหารการกินไม่อุดมสมบูรณ์ พอมีโอกาสข้ามไปเยี่ยมญาติหลังจากเริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์ฯ ก็มักจะหอบกะปิ น้ำปลา ข้าวสาร อาหารแห้ง รวมถึงเสื้อผ้า ไปฝากญาติฝั่งนู้นด้วย ซึ่งส่วนมากการกลับไปเยี่ยมเยียนกันก็ไปไม่ถึงบ้าน เพราะต้องใช้กลางป่าเป็นจุดนัดพบ

            นับตั้งแต่ปี 2554 ที่ไทยกับกัมพูชามีกรณีพิพาทกันรุนแรง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองฝั่งยิ่งห่างไกลกัน ทั้งด้วยเหตุผลทางการเมือง การทหาร และความไว้เนื้อเชื่อใจที่ถูกความหวาดระแวงเข้ามาแทนที่ แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติข้ามพรมแดน แต่ก็ไม่ง่าย ที่พอจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยประเพณี วัฒนธรรม เป็นกาวใจเชื่อมคนสองฝั่งเข้าหากันบ้าง

  • กว่าจะถึงบ้าน

            ภา หญิงวัยกลางคน อายุ 40 ปี ชาวกัมพูชาที่เข้ามารับจ้างส่งผักในตลาดสระแก้ว นานกว่า 4 ปี ในทุกวันเธอตั้งใจทำงานเพื่อส่งเงินกลับให้คนที่บ้าน ส่วนตัวเธอนั้นไม่ได้กลับบ้านเกิดมาสองปีแล้ว

            “ไม่ได้กลับบ้านมาสองปีแล้ว ทำงานงกๆ ทุกวัน ถ้าไม่มีเงินก็ไม่อยากกลับ กลับบ้านครั้งหนึ่งไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มารับจ้างไกลบ้านไกลเมืองไม่มีอะไรติดตัวกลับไปก็ไม่ได้ อีกอย่างถ้าเราลางาน ก็ไม่มีคนช่วย ทุกปีลากลับบ้านได้ปีละครั้ง เฉพาะช่วงสงกรานต์ เพราะเขาหยุดยาวกัน ”

            ทว่าสงกรานต์คราวนี้พิเศษกว่าทุกปี ภามีเงินและกำลังมากพอที่จะขนสัมภาระต่างๆ กลับไปฝากคนที่บ้าน ประกอบกับที่รัฐบาลไทยได้มีการผ่อนผันให้แรงงานชาวกัมพูชาที่ทำงานในประเทศไทยกลับร่วมเทศกาลสงกรานต์ที่บ้านเกิดได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมการรักษาสิทธิ์ในวีซ่าทำงานแต่อย่างใด

            ช่วงเวลาเช้าตรู่ของวัน หลังจากเสร็จภารกิจ เธอขอรับค่าจ้างล่วงหน้า เพื่อนำเงินไปซื้ออาหารแห้งของใช้ต่างๆ แล้วนำกลับมาบรรจุใส่กล่องให้เรียบร้อย ภายในห้องเช่าสี่เหลี่ยมแคบๆ กล่องกระดาษถูกวางเรียงกันสองใบแบบลวกๆ ในกล่องมีทั้งเสื้อผ้าชุดใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้งาน อีกกล่องบรรจุไปด้วยอาหารแห้ง อย่างเช่น ปลาส้ม ปลาเค็ม น้ำพริกตาแดง น้ำพริกแมงดา และอีกสารพัดเมนูอาหารแห้งที่เก็บรักษาไว้ได้นาน เธอค่อยๆ จัดเรียงของไปทีละอย่าง ซึ่งสิ่งที่เธอให้ความสำคัญที่สุดก็คือ ชุดกระโปรงลายการ์ตูนน่ารักสำหรับเด็กผู้หญิงที่เตรียมไว้ให้ลูกสาววัย 5 ขวบ

            การเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงสงกรานต์ มีความยากลำบากแทบจะทุกขั้นตอน เพราะส่วนมากแล้วแรงงานกัมพูชาจะกลับบ้านช่วงนี้ ทำให้เกิดความยุ่งยาก คนล้นทะลักออกมานอกอาคารบริเวณอาคารตรวจหนังสือเดินทางขาออกนอกราชอาณาจักร ของด่าน ตม. อรัญประเทศ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก เพราะต้องใช้เวลาในการตรวจเอกสารเดินทาง

“อากาศร้อน คนเป็นพันๆ อยากกลับบ้าน จนบางคนโวยวายไม่พอใจเพราะรอคิวนาน แต่ทุกปีที่ล่าช้าก็เพราะบางคนไม่มีเอกสารเดินทาง และมาลักลอบปะปนกับแรงงานที่มีเอกสาร เจ้าหน้าที่ต้องควบคุมตัวไว้ ก็เลยล่าช้าไปหมด” ภา เล่า

            ความทรหดในการกลับไปร่วมฉลองเทศกาลสงกรานต์ในฝั่งกัมพูชา ภาบอกว่า มีมากกว่าที่คิด เพราะแต่ละคนตอนเข้ามาในประเทศไทยก็แอบลักลอบเข้ามา พอตอนจะกลับบ้านก็ต้องลักลอบอีกเช่นกัน ช่องทางของแต่ละคนก็ท้าทาย เสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง ทว่าทุกคนก็ยังอยากกลับบ้านอยู่ดี

            จ้อย (นามสมมติ) ชายวัย 32 ปี ที่เข้ามาเป็นแรงงานชาวกัมพูชาในประเทศไทยกว่า 7 ปี ช่วงเช้ารับจ้างส่งอาหารทะเลในตลาดสระแก้ว ช่วงเย็นรับจ้างเสิร์ฟในร้านหมูกระทะแห่งหนึ่ง

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปีแรกที่จ้อยลักลอบเข้ามาชายแดน เพื่อที่จะกลับบ้านในช่วงสงกรานต์ เขาเดินทางโดยรถทัวร์ ทั้งที่ไม่มีเอกสารการเดินทางหรือพาสปอร์ต เมื่อมาถึงด่านพรมแดนอรัญประเทศ เจ้าหน้าที่ก็ขอตรวจหนังสือเดินทางจึงพบว่าเขาไม่มีเอกสารแสดงตัว จากนั้นจึงถูกส่งตัวไปที่ สภ.คลองลึก จ้อยสารภาพทันทีว่าแอบลักลอบเข้ามาทำงาน และต้องการกลับบ้าน จึงยอมเสี่ยงเพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งตัวกลับกัมพูชา

            “ตอนนั้นผมไม่มีเงินกลับบ้าน ทางเดียวที่จะได้กลับก็คือต้องยอมโดนจับเพื่อให้เขาส่งตัวกลับกัมพูชาแบบไม่เสียเงิน พอถูกจับได้เขาก็พาไปถ่ายรูปทำประวัติ และขึ้นบัญชีไว้ จากนั้นก็ส่งตัวกลับประเทศที่หน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศ”

            หลังจากนั้นสองปี จ้อยได้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เขามือสะอาดพอที่จะทำหนังสือเดินทางให้ถูกต้องเพื่อที่จะสามารถทำงานในร้านอาหารได้ โดยที่ไม่ต้องกลัวตำรวจจับ จ้อยได้เปิดเผยถึงความรู้สึกเมื่อเอ่ยถึงบ้านเกิดที่เขาจากมาด้วยความคิดถึง

            “กลับบ้านแต่ละที ทั้งเหนื่อยทั้งยาก แล้วก็ลำบาก แต่ผมก็อยากจะกลับ เพราะหนึ่งปีมีแค่ครั้งเดียวที่ได้หยุดยาว ทุกคนมารวมตัวกัน มันเหมือนผมได้กำลังใจ ที่เห็นพวกเราขนของกลับบ้านกันเยอะๆ ก็เพราะอยากให้คนที่บ้านได้กิน ไหนๆ ก็กลับทั้งที ก็ต้องขนไป เขาจะได้รู้ว่าผมทำงาน ผมมีเงินนะ”

            แม้ยุ่งยาก แต่เขาเหล่านี้ก็ยังคงยืนยันที่จะกลับบ้านเกิดไปฉลองสงกรานต์ให้ได้ เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะปลายทางมีหัวใจของเขารออยู่ การกลับไปสูบฉีดพลังให้หัวใจสักปีละครั้ง ถึงลำบากพวกเขาก็ยอม

  • กลับบ้านทั้งทีต้องล่ำซำ

            หมวย หญิงสาวชาวไทย วัย 29 ปี ดีกรีพนักงานต้อนรับในคาสิโนแห่งหนึ่งที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา เธอได้เข้าไปทำงานในฝั่งกัมพูชาได้ 2 ปี ช่วงแรกก็มีรู้สึกเหนื่อยและเหงาที่ต้องห่างบ้านมาสู้ชีวิตคนเดียว หมวยตั้งใจทำงานเพื่อที่จะได้มั่งมีแล้วกลับไปหาพ่อแม่

            “เรื่องกลับบ้านไม่ต้องพูดถึง เพราะจัดเต็มทุกครั้ง แต่ละครั้งที่กลับบ้านก็ต้องแต่งตัวสวยๆ เริ่ดๆ สัมภาระอะไรก็ไม่ต้องขนไปเยอะ มีแค่เงินก็พอ”

            ขั้นตอนในการเดินทางกลับแต่ละครั้งไม่ถือว่าลำบากสำหรับเธอ เพราะเขตประเทศกัมพูชาในบริเวณคาสิโน จะไม่มีด่านตรวจบริเวณนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปคาสิโนในเมืองปอยเปตได้ทุกแห่ง การเดินทางกลับเข้าประเทศ ถ้ามาจากด่านปอยเปต ก็ควรมาก่อนเวลาปิดด่าน 30 นาที เพราะช่วงเทศกาลสงกรานต์คนไทยที่เข้ามาทำงานในกัมพูชาค่อนข้างมาก จากนั้นก็ยื่นพาสปอร์ตและบัตรประชาชน เพียงเท่านี้ก็สามารถกลับบ้านได้แล้ว

            “ที่จริงแล้วอยากจะกลับบ้านตอนไหนก็กลับได้ ไม่ใช่แค่เทศกาลสงกรานต์ เพราะการเดินทางก็สะดวก อีกอย่างเมื่อทำงานไปได้สักพักก็จะรู้และปรับตัว เคลียร์งานเพื่อที่จะกลับได้เอง แต่สงกรานต์ถือว่าสำคัญสำหรับหมวย เพราะเล่นที่ไหนก็ไม่สนุกเท่าบ้านตัวเอง” หมวย เอ่ย

          ใครๆ ก็อยากกลับบ้าน แต่ความยากง่ายของการเดินทางของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป และแม้ไม่อาจใช้เป็นมาตรวัดความสนุกสนานเมื่อได้ฉลองสงกรานต์ที่บ้านเกิด แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ความสุขใจเมื่อกลับไปแล้วมีคนที่เรารักรออยู่...