ลุ้น ‘ไทย’ รอดบัญชีดำ ประเทศ..บิดเบือนค่าเงิน

 ลุ้น ‘ไทย’ รอดบัญชีดำ  ประเทศ..บิดเบือนค่าเงิน

ภาพการค้าโลกกลับมาอึมครึมอีกครั้ง หลังจากที่ ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐ ลงนามในคำสั่งพิเศษ 2 ฉบับ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการบังคับใช้กฎหมายด้านการค้า รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่เรื้อรังมายาวนาน

หนึ่งในคำสั่งทั้ง 2 ฉบับนี้.. ทรัมป์ สั่งให้กระทรวงพาณิชย์และตัวแทนการค้าของสหรัฐ ไปหาสาเหตุที่สหรัฐมียอด “ขาดดุล” การค้าสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์กับอีก 16 ประเทศในปีที่ผ่านมา โดยหนึ่งในนั้นมี “ประเทศไทย” รวมอยู่ด้วย

ทรัมป์ ให้เวลาเจ้าหนี้ที่กระทรวงพาณิชย์และตัวแทนการค้าของสหรัฐ ไปศึกษาเพื่อหาสาเหตุการขาดดุลดังกล่าว โดยสั่งให้ทำรายงานส่งกลับมาภายใน 90 วัน ซึ่งคำสั่งของ ทรัมป์ มีขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2560 ..หมายความว่า ราวต้นเดือนก.ค.นี้ คงทราบผลว่า “ไทย” จะถูกมาตรการลงโทษใดๆ จากทางรัฐบาลสหรัฐหรือไม่

อย่างไรก็ตามก่อนจะทราบผลการตรวจสอบดังกล่าว ยังมี “ด่านแรก” ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องผ่านไปให้ได้ นั่นคือ ผลการตรวจสอบประเทศคู่ค้าของสหรัฐที่มีการ “บิดเบือนค่าเงิน” (Currency manipulation) เพื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐ โดยผลการตรวจสอบนี้ จัดทำโดยกระทรวงการคลังของสหรัฐ ซึ่งจะประกาศรายชื่อประเทศที่สหรัฐมองว่ามีการบิดเบือนค่าเงิน ในทุกเดือนเม.ย.และต.ค.ของทุกปี โดยเริ่มในปีที่ผ่านมาเป็นปีแรก

เกณฑ์ที่กระทรวงการคลังสหรัฐ นำมาใช้ชี้วัดว่าประเทศใดมีการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า มี 3 ข้อหลัก

1.เป็นประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

2.เป็นประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)

3.เป็นประเทศที่ ธนาคารกลางเข้าไปซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิเกินกว่า 2% ของจีดีพี

ผลการตรวจสอบของทางการสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีประเทศใดที่เข้าข่ายตามเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อนี้ แต่มีประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ต้องเฝ้าจับตาดู(Monitoring list) นั่น คือ จีน เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เนื่องจากทั้ง 5 ประเทศนี้ มีลักษณะที่เข้าตามเกณฑ์ของสหรัฐ 2 ข้อ จาก 3 ข้อ

ช่วงปีที่ผ่านมามีบทวิเคราะห์จากสำนักวิจัยต่างประเทศหลายแห่ง มองว่า “ไทย” มีความเสี่ยงที่จะ “เข้าข่าย” อยู่ในกลุ่มเฝ้าจับตาเช่นเดียวกับทั้ง 5 ประเทศที่กล่าวมา หรือแม้แต่เข้าข่ายที่อาจติดตามเกณฑ์ การบิดเบือนค่าเงิน ทั้ง 3 ข้อ ของทางการสหรัฐ

สาเหตุเพราะในปีที่ผ่านมา ไทยมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 4.64 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 11.4% ของจีดีพี รวมทั้งยังมีความเป็นไปได้สูงที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของสหรัฐ คือที่ 2% ของจีดีพี

เพราะถ้าดูตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยช่วงที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 1.56 แสนล้านดอลลาร์ในปลายปี 2558 มาอยู่ที่ 1.81 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน(ข้อมูล ณ 31 มี.ค.2560) หรือเพิ่มขึ้นมามากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในเวลาเพียง 1 ปีเศษ

ขณะที่ยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ เฉียดเกณฑ์ขั้นสูงที่สหรัฐกำหนดไว้ ..ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ไทย “เข้าใกล้” เกณฑ์ “การบิดเบือนค่าเงิน” ของสหรัฐค่อนข้างมาก จึงต้องจับตาดูว่า รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐที่จะออกมาในเดือนเม.ย.นี้ จะมีรายชื่อประเทศไทยรวมอยู่ด้วยหรือไม่

ผู้ว่าการธปท. “วิรไท สันติประภพ” ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ผ่านสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่ฟิลิปปินส์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ไทยไม่น่าจะติดอยู่ในกลุ่มเฝ้าจับตาของทางการสหรัฐ เนื่องจากไทยไม่ใช่ “คู่ค้าหลัก” ของสหรัฐ ซึ่งถ้ามองในเรื่องดุลการค้าที่ไทยเกินดุลกับสหรัฐในปีที่ผ่านมา การเกินดุลของไทยอยู่อันดับที่ 11 และมีมูลค่าที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้ารายอื่นๆ ของสหรัฐ

ส่วนนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น “วิรไท” ยืนยันว่า ไทยไม่เคยปั่นค่าเงินเพื่อให้ได้เปรียบในเชิงการค้าอย่างไม่เป็นธรรม แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะมีบ้างที่ ธปท. เข้าไปดูแลในตลาดการเงิน แต่สาเหตุส่วนใหญ่เพราะมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามามากเกินไป ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศเศรษฐกิจหลักแล้ว นำนโยบายการเงินที่ไม่ปกติเข้ามาใช้ ทำให้สภาพคล่องบนโลกล้นเกินไป และตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เป็นปลายทางในการรับสภาพคล่องส่วนเกินเหล่านี้

คำอธิบายของ ผู้ว่าการธปท. ตีความได้ว่า แม้ไทยจะเข้าไปซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อดูแลค่าเงินบ้าง แต่วัตถุประสงค์เพื่อจัดการกับเงินทุนที่ไหลเข้ามาอย่างล้นทะลัก อันเนื่องจากประเทศเศรษฐกิจหลักอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ และเงินเหล่านี้ล้นทะลักมาไทย จึงต้องจัดการบ้าง สิ่งที่ทำไปไม่ได้หวังผลในเชิงการค้า หรือผลักดันการส่งออกของไทย

ประเด็นที่ วิรไท หยิบยกมาอธิบายถือว่ามีเหตุผลและรับฟังได้ เพียงแต่ในมุมของสหรัฐจะมองเช่นเดียวกันหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะถ้าดู “ถ้อยแถลง” ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในหลายๆ รอบการประชุมที่ผ่านมา แสดงความเป็นห่วงถึงการแข็งค่าของเงินบาทไว้ค่อนข้างชัดว่า ไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการส่งออก ประเด็นนี้จึงอาจถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันบนโต๊ะเจรจาได้ จึงเป็นเรื่องที่ทางการไทยไม่ควรประมาท

อย่างไรก็ตาม หลายคนยังเชื่อว่า “ไทย” จะรอดพ้นข้อกล่าวหาดังกล่าว เพราะ “คีย์” สำคัญอยู่ที่ว่า ไทยไม่ใช่ “คู่ค้าหลัก” ของสหรัฐ และประเด็นนี้เองที่ทำให้ไทยรอดพ้นเกณฑ์ของสหรัฐมาแล้วถึง 2 ครั้งในปีที่ผ่านมา โดยไทยถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 กว่าๆ แม้จะมียอดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูงเป็นอันดับที่ 11 ก็ตาม

โดยสรุปแล้ว เดือนเม.ย.นี้ถือเป็น “ด่านแรก” ที่จะชี้ชะตาไทยว่า จะถูกมาตรการลงโทษใดๆ จากรัฐบาล สหรัฐตามกฎเกณฑ์เรื่องของประเทศที่มีการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐหรือไม่ ซึ่งถ้าไทยพ้นด่านนี้ไปได้ ก็ยังต้องไปลุ้นเอา “ด่านสอง” จากคำสั่งของ ทรัมป์ ที่ให้เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์และผู้แทนการค้าของสหรัฐ หาสาเหตุที่สหรัฐมียอดขาดดุลการค้ากับอีกหลายๆ ประเทศ ซึ่งรวมทั้งไทยด้วย ทั้งหมดนี้ขึ้นกับความเข้มแข็งของทีมรัฐบาลไทยในการเจรจาต่อรอง

มาตรการลงโทษประเทศบิดเบือนค่าเงิน

กลางเดือนเม.ย.นี้ คงทราบว่า “ไทย” จะติดอยู่ในประเทศที่สหรัฐกล่าวหาว่า มีการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้าหรือไม่ และถึงแม้ไทยจะตกเป็นเป้าหมายจริง แต่ยังมีขั้นตอนในการเจรจาอีกมาก ซึ่งตามกระบวนการแล้ว สหรัฐจะแสดงเจตจำนงต่อกระทรวงการคลังของไทย เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในระดับทวิภาคี โดยจะให้เวลาในการแก้ไขประมาณ 1 ปี หากยังไม่สามารถดำเนินการได้ อาจมีข้อเรียกร้องให้เกิดการปฎิบัติดังนี้

1.ตัดสิทธิจากการได้รับสินเชื่อแบบผ่อนปรนจาก OPIC(Opened its first ASEAN office in Bangkok 2014)

2.ตัดสิทธิผู้ประกอบการจากไทย ในการเข้าร่วมประมูลงานจากรัฐบาลสหรัฐ

3.ส่งให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ติดตามตรวจสอบ

4.ขอให้ผู้แทนการค้าพิจารณาข้อบกพร่องดังกล่าว ในการรเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี