‘ทีวีดิจิทัล’เร่งดันเรทติ้งหวังขึ้นโฆษณา

‘ทีวีดิจิทัล’เร่งดันเรทติ้งหวังขึ้นโฆษณา

กสทช.ชี้โครงข่ายฯขยายทั่วประเทศ ดันผู้ชมช่องฟรีทีวีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง “มีเดียเอเยนซี”ระบุทีวีดิจิทัลกลุ่มผู้นำเดินหน้าลงทุนคอนเทนท์ เร่งดันเรทติ้งหวังโอกาสปรับขึ้นโฆษณา

รายงานสภาพตลาดกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ในกลุ่มฟรีทีวีทั้งช่องอนาล็อกและทีวีดิจิทัล ล่าสุดครบรอบ 3 ปี มีสัดส่วนสูงกว่าการรับชมช่องเคเบิลและทีวีดาวเทียมต่อเนื่อง 

นีลเส็น ประเทศไทย รายงานสัดส่วนผู้ชมช่องรายการล่าสุด เดือน มี.ค.2560 การรับชมช่องฟรีทีวีในทุกช่องทางอยู่ที่ 85%  ส่วนช่องเคเบิลและทีวีดาวเทียว 15% 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่าแนวโน้มการรับชมช่องทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ มาจากปัจจัยการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล(Mux) ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วประเทศ รวมถึงจำนวนและคุณภาพของรายการ ประกอบกับความคมชัดในการรับชมผ่านโครงข่ายฯ ส่งผลให้พฤติกรรมการรับชมช่องรายการของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับค่าความนิยม(เรทติ้ง)ช่องฟรีทีวี ล่าสุดเดือน มี.ค.2560 ในกลุ่มผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ช่วงเวลา 6.00-24.00 น. อันดับ 1 ช่อง7 เรทติ้ง 2.96 อันดับ2 ช่อง 3 เรทติ้ง 1.83 อันดับ3 เวิร์คพอยท์ เรทติ้ง 1.56 อันดับ 4 โมโน เรทติ้ง 0.82 อันดับ5 ช่องวัน เรทติ้ง 0.73

ทีวีดิจิทัลเรทติ้งพุ่งขยับราคา

นายรัฐกร สืบสุข เทรดดิ้ง พาร์ทเนอร์ กรุ๊ปเอ็ม มีเดียเอเยนซีด้านการสื่อสารและโฆษณา กล่าวว่า “ทีวีดิจิทัล”ออกอากาศครบ 3 ปีในปีนี้ เริ่มเห็นความชัดเจนรูปแบบรายการแต่ละช่องที่มีความโดดเด่นต่างกัน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่อยู่ในเรทติ้งผู้นำ มีการลงทุนคอนเทนท์ในอัตราสูงไม่ต่างจากช่องฟรีทีวีเดิม เรียกว่าเป็น“บิ๊ก โปรดักชั่น”เพื่อแข่งขันแย่งชิงเรทติ้งผู้ชม

“การเปลี่ยนแปลงของทีวีดิจิทัล ช่องใหม่ที่เห็นได้ชัดในช่วง 3 ปีนี้ คือการแข่งขันพัฒนารายการให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพราะในยุคที่ผู้ชมมีทางเลือกรับชมคอนเทนท์หลากหลายช่องทาง พูดได้ว่ารายการธรรมดาๆ ไม่สามารถดึงความสนใจได้อีกต่อไป”

ดังนั้นสิ่งที่จะเห็นหลังจากนี้ในกลุ่มฟรีทีวีเดิมและผู้นำทีวีดิจิทัลช่องใหม่ ที่ยังอยู่ในการแข่งขันแย่งชิงผู้ชม จะเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องในอัตราสูง พร้อมผสานการนำเสนอรายการผ่านสื่อออนไลน์เพื่อตอบสนองผู้ชมในทุกจอ

การลงทุนคอนเทนท์ในกลุ่มทีวีดิจิทัล ที่ทำเรทติ้งได้สูง เพื่อโอกาสปรับขึ้นราคาโฆษณาได้ต่อเนื่อง ปีนี้พบว่าช่วงต้นปีในกลุ่มผู้นำทั้ง เวิร์คพอยท์ ,โมโน ,ช่องวัน ,ช่อง8 ,จีเอ็มเอ็ม25  มีการปรับราคาโฆษณาขึ้นทุกช่อง  หลังจากนั้นยังพบว่าช่องที่มีเรทติ้งเพิ่มขึ้นสูงอย่าง เวิร์คพอยท์ ได้ปรับราคาในบางรายการเพิ่มขึ้นอีก รวมทั้งรายการใหม่ที่จะเปิดตัวในไตรมาส2  

“ทีวีดิจิทัลช่องที่มีเรทติ้งดี ยังมีโอกาสปรับราคาเพิ่มได้อีก และมีโอกาสหารายได้จากสื่อออนไลน์ที่มีผู้ชมเพิ่มขึ้นได้อีกทาง”   

ฟรีทีวีเดิม”ขยับผังไตรมาส2

นายเขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหลังเข้ามารับตำแหน่งในเดือน เม.ย.นี้ เตรียมเสนอแผนธุรกิจเข้าที่ประชุมผู้บริหารภายในเดือนเม.ย.นี้ โดยจะเข้ามาพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นและแก้ไขปัญหาการลดลงของรายได้ โดยฟรีทีวีทั้ง 2 ช่อง ได้แก่ ช่อง 9 เอ็มคอท เอชดี และเอ็มคอท แฟมิลี่ ที่จะปรับรูปแบบรายการให้มีความแอคทีฟ สดใส เพิ่มเติมเนื้อหาความรู้ ความสนุก  โดยจะเริ่มเพิ่มผังรายการใหม่ตั้งแต่ไตรมาส2 เป็นต้นไป  

“เรทติ้ง ช่อง 9 ปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 10-11 ทั้งที่ผ่านมายังไม่ได้ปรับรายการมากนัก เชื่อว่าหลังจากปรับโฉมใหม่ จะสามารถกลับมาติดท็อปของกลุ่มทีวีดิจิทัลได้ไม่ยาก เพราะอันดับที่ 6-10 มีเรทติ้งห่างกันไม่มาก”

นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการและผู้ปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 เปิดเผยว่าเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโฆษณามีแนวโน้มดีขึ้น ดังนั้นไตรมาส2 นี้  ช่อง3 จึงเตรียมเปิดตัวรายการใหม่ เริ่มด้วย วันที่ 1 พ.ค.นี้ รายการ“รีวิวบันเทิง” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.30 – 18.00 น. รูปแบบรายการสดข่าวบันเทิง ร่วมผลิตโดยบริษัทบอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ จำกัด และบริษัท เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด การนำเสนอรายการจะผสานทั้งหน้าจอทีวีและโซเชียล มีเดีย เพื่อดึงผู้ชมทั้งออฟไลน์และออนไลน์

“การเปิดตัวรายการใหม่ในไตรมาส2 เป็นช่วงที่เหมาะสมเพราะอยู่ในจังหวะที่อุตสาหกรรมโฆษณา กำลังฟื้นตัว ปีนี้ยังเชื่อว่าภาพรวมเม็ดเงินโฆษณายังเติบโตได้ราว 10% ตามที่สมาคมมีเดียเอเยนซีฯ ประเมิน”

แกรมมี่-อาร์เอส’ขึ้นโฆษณา

นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล ดิจิทัล ทีวี บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร“จีเอ็มเอ็ม 25” กล่าวว่าการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัลปีนี้วางงบลงทุน 500-600 ล้านบาท เป็นการลงทุนคอนเทนท์ 300 ล้านบาท เพื่อเร่งขยายฐานผู้ชม 

ช่วงไตรมาส2 จะเสริมผังรายการ ด้วยละครใหม่ 6 เรื่อง สถานีผลิตเอง 4 เรื่อง และผู้ผลิตพันธมิตร 2 เรื่อง โดยเพิ่มเวลาละครอีก 1 ช่วง คือ ทุกวันอาทิตย์ 18.45 น.ขณะที่ผังรายการอื่นๆ จะปรับเปลี่ยนและขยับเวลาให้สอดคล้องกับพฤติกรรมกลุ่มคนเมืองอายุ 15-34 ปี ซึ่งเป็นผู้ชมเป้าหมายหลักของช่อง

ปีนี้ได้ปรับขึ้นราคาโฆษณา 15-20% ในบางแพ็คเกจ ที่รายการมีเรทติ้งสูง ขณะที่รายได้ตั้งเป้าเติบโต 100% จากปีที่ผ่านมา

นายดามพ์ นานา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีวีดิจิทัล ช่อง 8 ครองเรทติ้งติดอันดับท็อปไฟว์มาต่อเนื่อง จากคอนเทนท์ที่แข็งแกร่งทั้งละคร มวย ข่าว และวาไรตี้ ทำให้สามารถสร้างฐานคนดูจนเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ อาทิ ละครไพร์มไทม์ คุยข่าวเช้า และรายการกีฬายอดนิยมเรทติ้งอันดับ1 ของประเทศ อย่าง 8 แม็ก มวยไทย จึงได้ปรับเพิ่มขึ้นค่าโฆษณาสอดคล้องกับเรทติ้งประมาณ 35-40% ของละครช่วงไพรม์ไทม์ และ 100% ของรายการข่าวและมวยเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราค่าโฆษณาเฉลี่ยอยู่ที่ 3 หมื่นบาทต่อนาที ขณะที่อัตราค่าโฆษณาสูงสุดอยู่ที่ 2.5-3 แสนบาทต่อนาที

เวิร์คพอยท์”ดันผังใหม่รายเดือน

นายชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปีภาพรวมเรทติ้งทีวีขยับขึ้นหลายรายการ ทั้งกลุ่มรายการประกวดร้องเพลง ไมค์ทองคำ, ไมค์หมดหนี้ ,ชิงร้อยชิงล้าน

ทั้งนี้ 2 รายการที่เรทติ้งปรับขึ้นสูง คือThe Mask Singer และ I can see your voice ทำให้มีความต้องการลงโฆษณาเข้ามาจำนวนมากและสามารถปรับราคาโฆษณาได้เพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย.นี้  โดยราคาโฆษณาเสนอขาย (rate card) เพิ่มขึ้น 10% จาก 3.8 แสนบาท/นาที เป็น 4.2 แสนบาท/นาที

พร้อมกันนี้จะเพิ่มผังรายการใหม่ในไตรมาส 2 เกือบทุกเดือน เช่น รายการ My Little TV ซึ่งเป็นรูปแบบการผสานวิธีนำเสนอคอนเทนท์ 2 หน้าจอ ทั้งจอทีวีและออนไลน์เข้าด้วยกัน

นอกจากนี้เตรียมผลิตรายการใหม่ประเภทวาไรตี้ นำเสนอเฉพาะช่องทางออนไลน์ ทั้งยูทูบ แชนแนล และเฟซบุ๊ค ซึ่งจะทยอยเปิดตัวช่วงไตรมาส2 และ 3 เป็นต้นไป การพัฒนาคอนเทนท์ออนไลน์ดังกล่าว เนื่องจากเห็นโอกาสจากการเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งมีคอนเทนท์หลายรูปแบบที่เหมาะกับช่องทางออนไลน์ แต่อาจไม่เหมาะกับสื่อทีวี

ปัจจุบันแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับความนิยมทั้งยูทูบและเฟซบุ๊ค ถือที่เป็นคอมมูนิตี้ขนาดใหญ่ ทำให้มีโอกาสทำงานร่วมกับลูกค้าและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เดิมปีนี้วางเป้าหมายรายได้ออนไลน์ไว้ที่ 80-90 ล้านบาท แต่ตัวเลขผู้ชมผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งมีแผนนำเสนอวีดิโอคอนเทนท์ผ่านเฟซบุ๊คเพิ่มขึ้นในปีนี้ และการผลิตรายการเฉพาะช่องทางออนไลน์ ดังนั้นมีโอกาสปีนี้จะทำรายได้แตะ 100 ล้านบาท ขณะที่รายได้หลักจากโฆษณาทีวีปีนี้อยู่ที่ 2,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20%