'เช็คก่อนแชร์'คนทันสื่อ ดับไฟสังคม..ดราม่า

'เช็คก่อนแชร์'คนทันสื่อ ดับไฟสังคม..ดราม่า

บ่อยครั้งที่ข่าวลวงถูกแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเกินกว่าข่าวจริง 'เช็คก่อนแชร์' เกิดจากการรวมพลเอเจนซีสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผนึกภาคีธุรกิจ ดึงสังคมไทยไม่ตกเป็นเครื่องมือปล่อยข่าวดราม่า รู้ทันข้อมูลก่อนแชร์ เสพสื่ออย่างมีสติ

ข่าวสุขภาพลวงคนเข้าใจผิด เช่น อั้นการผายลมทำให้เป็นมะเร็งเกิดการแชร์นับล้านครั้ง หรือกินมะนาวกับโซดา ช่วยแก้มะเร็ง จนถึงข่าวลวงต่างๆ ที่แชร์บอกต่อกันไปเป็นล้านครั้งจนคนเข้าใจผิด แต่ข่าวจริงกลับมีการแชร์กันน้อยกว่าข่าวปล่อย เราจึงเป็นคนไทยที่ตกอยู่ในวังวนสังคมดราม่า นั่นคือบทเรียนการเสพสื่อในโลกออนไลน์ที่พบเห็นได้บ่อยจนขาดการยั้งคิดว่าสิ่งที่แชร์ไปนั้นจริงหรือเท็จ มีการตรวจสอบแล้วแน่หรือ?

จักรพงษ์ คงมาลัย กรรมการผู้จัดการบริษัท มูนช็อท ดิจิทัล จำกัด เล่าย้อนถึงพฤติกรรมเสพสื่อของสังคมไทยที่แม้จะเป็นข่าวลวง ข่าวปล่อยแต่เกิดการแชร์แพร่กระจายข่าวสารอย่างรวดเร็วไปแล้วจนยับยั้งไม่ทัน เช่น โปรแกรมที่เขาได้ทดสอบไปในช่วง1-2เดือนที่ผ่านมาก่อนพัฒนาและเปิดตัวเว็บไซต์ “เช็คก่อนแชร์” ด้วยการตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าว ก่อนที่จะเกิดการแชร์ ป้องกันมหันภัยของข่าวลวงจากการเสพสื่อของสังคมไทย 

โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่าไทยเป็นสังคมดราม่า ที่คนบางส่วนขาดสติยั้งคิดถึงผลเสียของข่าวปล่อยเท็จ ว่าจะเกิดผลเสียหายหนักแค่ไหน

“ในข่าวปล่อยที่เราทดลองปล่อยออกไป2-3ข่าว พบว่ามีการแชร์มากกว่าข่าวจริง10เท่าทั้งที่ยังไม่รู้ และอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่คนแชร์กระจายมากๆ ตอกย้ำสมมติฐานว่าสังคมไทยต้องมีสติ ตื่นตัว มีความระมัดระวัง ตระหนักรู้มากกว่านี้"

เจ็บแต่จริงที่เขาวิพากษ์สังคมไทยว่า มีพฤติกรรมแค่เพียงอยากจะแชร์ “เช็คก่อนแชร์” จึงถูกคิดขึ้นมาให้เป็นหนึ่งในเครื่องมือฉุดรั้งเตือนสติสังคมดราม่า

รูปแบบการทำงานของเว็บไซต์ที่คิดขึ้นมาแค่เพียง พิมพ์คีย์เวิร์ดลงไปในเว็บไซต์ จากนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ จะเข้ามาคอยให้ข้อมูลเรื่องที่เป็นปริศนา ข้อสงสัยทางสังคม อาทิ แพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา ด้านกฎหมายทางอิเล็กทรอนิกส์ และด้านพลังาน เป็นต้น

“เว็บไซด์นี้จะตรวจสอบได้เกือบทุกเรื่องที่เป็นข้อสงสัย ยกเว้นข่าวดารา ไม่จำเป็นต้องเช็คข้อมูล เพียงแค่พิมพ์คีย์เวิร์ด จะมีแบ็กออฟฟิศ ไปหาผู้เชี่ยวชาญมาตอบข้อสงสัย ข้อมูลที่เกิดขึ้นก็จะเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน จนเป็นฐานข้อมูล”

สุนาถ ธนสารอักษร ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป เอเจนซี่ผู้ร่วมคิด เห็นตรงกันว่า สังคมไทยชอบแชร์ข้อมูลทั้งที่ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะข้อมูลที่ทำให้คนทั่วไปหวาดกลัว ห้ามทำ สุดท้ายก็กลายเป็นเชื่อข้อมูลผิดๆ จากการที่คนแชร์กันจำนวนมาก

“เราเป็นคนในวงการสื่อสารที่เห็นโทษของการแชร์ข้อมูลลวงๆ มาเยอะ พวกเราเป็นสื่อจึงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง”

แนวคิดนี้จึงไม่ได้คิดแค่เพียงกลุ่มเอเจนซี 3 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท แรบบิทส์ เทลล์ จำกัด, บริษัทมูนช็อท ดิจิทัล และบริษัท ครีเอทีฟ จูซ แบงคอก จำกัด เท่านั้น แต่ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มภาคีธุรกิจซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ประกอบด้วย บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน),เอสซีจี และธนาคารไทยพาณิชย์ รวมถึงสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย (Thai Webmaster Association -TWA)

สำหรับภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจ เป็นกำลังสนับสนุนสำคัญ ที่ช่วยให้สังคมไทยเสพสื่ออย่างมีสติ และยังเป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากการแชร์ข่าวสารมหาศาล เพราะเป็นองค์กรที่มีพนักงานรวมกัน ปตท. ประมาณ 5,000 คน,เอสซีจี 5.4 หมื่นคน และไทยพาณิชย์ ฯ ราว 5,000 คน โดยรวมประมาณ 6-7 หมื่นคน ที่หวังผลให้คนในองค์กรเหล่านี้ได้ร่วมกันเช็คก่อนแชร์ และขยายผลไปสู่คนในครอบครัวและสังคมรอบข้าง

“ข่าวสารบางข่าวอาจจะกระทบกับการเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งการเงิน พลังงานและอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง รวมถึงอุตสาหกรรมหนัก ดังนั้นการยับยั้งข่าวปล่อยจึงเป็นการช่วยให้อุตสาหกรรมเติบโต" สุนาถกล่าวและว่า

หากเว็บไซต์สามารถยับยั้งข่าวลวงก่อนเกิดการแชร์ได้เดือนละ3-4ข่าวก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะได้ดับไฟก่อนจะเกิดสังคมดราม่า

ตามแผนของการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเป็นศูนย์กลางที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะ โดยภายใน2ปีแรก ได้รับการสนับสนุนจากภาคีธุรกิจ แต่หลังจากนั้นเมื่อมีอัตราเติบโตของผู้ใช้งาน อาจจะพัฒนาไปสู่การตรวจสอบข่าวลวงในไลน์ หรือโปรแกรม แอพพลิเคชั่นต่างๆ พร้อมไปกับการขยายภาคีธุรกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมในวงกว้างขึ้น

“เชื่อว่าการเช็คก่อนแชร์จะเป็นเครื่องมือเร่งปฏิกิริยา ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และเกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น เสพข่าวและแชร์ข่าวด้วยสติ และมีวิจารณญาณ เหมือนเช่นในอดีตที่เคยมีการฟอร์เวิร์ดเมล์ จนสุดท้ายคนก็เลิกฟอร์เวิร์ด เพราะสังคมเกิดการเรียนรู้เราหวังว่า เช็คก่อนจะจะช่วยทำให้สังคมเกิดการเรียนรู้เร็วขึ้น”

วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี เล่าถึงความสำคัญและคุณค่าของโครงการที่สอดคล้องกันกับค่านิยมของเอสซีจี คือเรื่องของ “จรรยาบรรณ” หรือความรับผิดชอบต่อการกระทำ เช่นเดียวกันกับการเสพข่าวและแชร์ต่อ ส่งผลกระทบต่อสังคมมากกว่าที่เราคิด เช่น สังคมผู้สูงอายุ ที่อยู่บ้านโดยลำพังหากเสพสื่อและเชื่อในทุกเรื่อง อาจจะเกิดผลรุนแรง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสุขภาพ

“คนสูงวัยนั่งดูทีวีที่บ้าน อาจจะเกิดอุบัติเหตุจนต้องทำกายภาพ เพียงแต่เสพสื่อในโลกโซเชียล แล้วเชื่อ ซื้อสินค้าบางอย่างที่โฆษณาในโลกโซเชียลอวดอ้างเกินความจริง แต่กลับเชื่อถือมากกว่าคนในครอบครัว”

สิ่งที่เป็นข้อคิดของการเสพสื่อ คือ บางอย่างไม่จำเป็นต้องเอาเร็วเข้าว่า “เหมือนทำข้อสอบ ส่งเร็วแล้วผิด ก็ควรตรวจสอบข้อสอบให้ช้าหน่อยแต่อยู่ในเวลา แล้วส่งทำข้อสอบอย่างถูกต้อง เรื่องบางเรื่องมีเวลาที่เหมาะสมของมัน”

ขณะที่ประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)เล่าถึงเหตุการณ์ข่าวพลังงานมีหลายเหตุการณ์ที่เป็นทั้งข่าวปล่อย ข่าวลวง และข่าวจริง แต่เกิดการแชร์มากมายจนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย จึงพัฒนาแอพลิเคชั่นขึ้นมาชื่อว่า "พีทีทีอินไซต์" เพื่อให้พนักงานทุกคนร่วมเป็นกระบอกเสียง เมื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรให้เช็คก่อนแล้วจริงปล่อยออกไป ดีกว่าแชร์ในทันที

มีหลายคำถามด้านพลังงานถูกถามบ่อยจึงรวบรวมไว้เป็นเป็นฐานข้อมูลซึ่งประชาชนควรทราบทั้งในเว็บไซต์ในองค์กร และเช็คก่อนแชร์ อาทิ ทำไมต้องอิงราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ ไทยมีน้ำมันมากกว่าซาอุดิอารเบียจริงหรือ รวมถึงน้ำมันเกิดขึ้นจากแกนโลกไม่ใช่ซากพืชซากสัตว์

“การเช็คก่อนแชร์เป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดการแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าปล่อยให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งปล่อยข่าวลวงทำลายสังคม โดยไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงมายืนยัน” เขาทิ้งท้าย