ทรงศรี ศรีรุ่งเรืองจิต’พา’วินท์คอมฯ’ลุย CLM

ทรงศรี ศรีรุ่งเรืองจิต’พา’วินท์คอมฯ’ลุย CLM

17 ปีก่อนกลุ่มทุนวีเน็ท กรุ๊ป ปลุกปั้น “วินท์คอม เทคโนโลยี”รุกธุรกิจไอซีทีครบวงจร โดย’ทรงศรี ศรีรุ่งเรืองจิต’ ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง ล่าสุดเตรียมระดมทุนMAIบุกตลาดCLMขุมทรัพย์เพื่อนบ้าน

ย้อนกลับไปเมื่อ 17 ปีก่อน บริษัท วินท์คอม เทคโนโลยี หรือ VINTCOM  คือตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์เทคโนโลยี ด้านคอมพิวเตอร์ แบรนด์ ออราเคิล และฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ก่อตั้งขึ้นจาก กลุ่มวีเน็ท กรุ๊ป” ในรูปแบบธุรกิ“จร่วมทุน (Venture Capital) โดยวีเน็ทกรุ๊ปเข้าไปให้การสนับสนุนด้านการเงิน และคำปรึกษาแก่ธุรกิจที่มีศักยภาพ ไม่ต่างจากการระดมทุนแจ้งเกิด “ธุรกิจสตาร์ทอัพ” ในปัจจุบัน

ทว่า การดำเนินธุรกิจในระยะเริ่มต้นของ วินท์คอมฯ ไม่ได้ “สวยหรู” ผ่านคำบอกเล่าของ “ทรงศรี ศรีรุ่งเรืองจิต” กรรมการผู้จัดการ บริษัท วินท์คอม เทคโนโลยี หรือ VINTCOM ผู้บริหารลูกหมอที่อยู่กับธุรกิจตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2544 บอกว่า เปิดธุรกิจมา 3 ปีแรก ผลประกอบการ “ขาดทุน” ต่อเนื่อง เนื่องจากการแข่งเดือดจากผู้เล่นในตลาดที่มากถึง 6-7 ราย 

โดยวินท์คอมฯ ถือเป็นน้องใหม่ในตลาดขณะนั้น ที่ถูก “รับน้อง”จนน่วม !

“เราเป็นน้องใหม่เข้ามาในตลาดหลังสุด ก็จะโดนรุ่นพี่ๆ รับน้องตลอดเวลา ช่วงนั้นกว่าจะได้งานก็ลำบาก หรือได้งานมาก็แทบไม่มีกำไร” ทรงศรี เล่า กลายเป็นการตกผลึกความคิดหาหนทางรอดที่ว่า..

การที่วินท์คอมฯ จะยืนอยู่ในตลาดได้ สิ่งเดียวคือต้องสร้างความ “แตกต่าง” ไม่เหมือนกับผู้ประกอบการในตลาด กลายเป็นการพลิกธุรกิจสู่การ “เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างแท้จริง” นั่นคือ การจำหน่ายสินค้าให้กับ “ผู้รวบรวมระบบงาน” (System Integrator หรือ SI) เท่านั้น โดยจะไม่จำหน่ายลงไปถึง “ผู้ใช้งานทั่วไป” (End Users) ซึ่งมองว่าตลาดนี้ยังไร้คู่แข่ง

โดยหลังจากบริษัท “ปรับโมเดล” ธุรกิจ ส่งผลให้สามารถ“พลิกฟื้น”ธุรกิจให้กลับมามี “กำไร” ได้ในปีที่ 4 ของการดำเนินธุรกิจ จนธุรกิจเติบใหญ่มาถึงปัจจุบัน ที่มีสัดส่วนรายได้มาจากการจำหน่ายภาครัฐสัดส่วน 60% 

ที่ผ่านมาบริษัทยังเข้าประมูลงานจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ผลงานโดดเด่นจะเป็นการวางระบบให้กับ กรมสรรพากร,ห้างแม็คโคร ,ระบบของบมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC เป็นต้น 

“ทรงศรี” ยังบอกว่า สเต็ปต่อไปของการอยู่รอดในการดำเนินธุรกิจจากนี้ เธอมองไปที่การ “ตลาดใหม่” ในต่างประเทศ  เข้ามาเสริมพอร์ตรายได้ หลังจากเริ่มเห็นทิศทาง“ขาลง”ของตลาดคอมพิวเตอร์ และ System Integrator (SI) ในไทย สวนทางกับการเติบโตของตลาดเพื่อนบ้าน

โดยเฉพาะการเข้าไปทำตลาดในกลุ่ม CLM ประกอบด้วย กัมพูชา ,ลาว และเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงของความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้มีความต้องการสินค้าซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ล่าสุด ได้นำระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ไปทำการตลาดดังกล่าวแล้ว ได้การตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั้งในหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน แต่ทั้งนี้ก็ต้องใช้เวลาในการทำการตลาด เนื่องจากโครงการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

นอกจากนี้ ยังมุ่งหน้ารุกสู่ธุรกิจให้คำปรึกษาและการบริการหลังการขายครบวงจรสำหรับสินค้าไอทีเพิ่มมากขึ้น และในอนาคตมีแผนจะขยายงานเข้าไปบำรุงรักษาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ จากอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่า

โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 65% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้การให้บริการ 35% โดยในอนาคตมีเป้าหมายต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการให้บริการมากขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีกำไรต่อหน่วย(มาร์จิ้น)สูงกว่าการขายสินค้า

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ในช่วงปลายปี 2559 บริษัทได้ตัดสินใจร่วมทุนกับบริษัทเดอะแวลลูซิสเตมส์ จำกัด (แวลลูฯ) จัดตั้งบริษัทวีเซิร์ฟพลัส จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท โดยวินท์คอมฯ ถือหุ้น 51% และแวลลูฯ ถือหุ้น 49% เป็นผู้ให้บริการหลังการขายด้านไอซีทีแบบครบวงจร อาทิ บริการซ่อมบำรุงผลิตภัณฑ์ด้านไอทีจากผู้ผลิต Asus, Lenovo, HP, Acer, Brother, Lexmark, Intermec, D-Link, และ Buffalo ให้บริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงผลิตภัณฑ์ด้านไอทีทั้งในและนอกระยะประกันแก่ลูกค้าทั่วประเทศ

โดย “วีเซิร์ฟพลัส” จะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับวินท์คอมฯทำให้มีรายได้ที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่มีรายได้มาจากการขายสินค้าเพียงอย่างเดียว ต่อไปก็จะได้จากธุรกิจบริการเพิ่มเข้ามา แม้จะเพิ่งจัดตั้งบริษัทแต่จะมีรายได้และทำกำไรทันที เนื่องจากธุรกิจการให้บริการมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจบริการด้านไอซีทีมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 16-18% สูงกว่าธุรกิจไอทีที่มีอัตราการเติบโตไม่ถึง 10% ฉะนั้นจะทำให้วินท์คอมฯ มีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น เพราะว่าไม่ได้อิงรายได้จากการขายอย่างเดียว”

สำหรับ ปีนี้คาดว่าบริษัทจะมีรายได้ 2,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,200 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้ภายในปี 2564 มีรายได้ 3,000-4,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทมีการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น

โดยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 มีแผนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างยื่นแบบคำขอเสนอขายหุ้นที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไฟลิ่ง) ภายในช่วงไตรมาส 2 ปี 2560 โดยเป้าหมายการเข้าระดมทุนในตลาดเพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปขยายสาขาและเสนอขายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว ตามความต้องการสินค้าด้านไอทีที่เพิ่มขึ้น 

ไปพร้อมกับการรักษา“ฐานที่มั่น”รายได้ธุรกิจในไทย