ยุคนี้มี'กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน'ไว้ทำอะไร?

ยุคนี้มี'กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน'ไว้ทำอะไร?

ยุคนี้มี "กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน" ไว้ทำอะไร?

ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. เมื่อวานนี้ (10 เม.ย.) มีมติเห็นชอบข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตำแหน่งกำนัน วาระการดำรงตำแหน่งกำนัน และการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน 

ภายหลังจากที่ประชุมใช้เวลาพิจารณานาน 4 ชั่วโมง ที่สุดประชุมลงมติเห็นชอบรายงานฉบับดังกล่าวด้วยคะแนน 91 ต่อ 27 งดออกเสียง 32 

จากนี้ทางคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง จะนำความเห็นของเพื่อนสมาชิกมาปรับปรุงแก้ไขก่อนนำเสนอให้ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป 

ขณะที่บรรยากาศนอกห้องประชุมเมื่อวานนี้ ได้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มตัวแทนกำนันผู้ใหญ่บ้านจากจังหวัดรอบปริมณฑลกว่า 100 คน เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านข้อเสนอดังกล่าวต่ออีกครั้ง 
ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นปีกลุ่มตัวแทนกำนันผู้ใหญ่ ก็เคยมายื่นหนังสือคัดค้านเรื่องนี้ต่อ ประธาน สปท.ที่รัฐสภามาแล้ว 

โดยอ้างเหตุเหมือนกันครั้งนี้ที่เห็นว่าการให้กำนันผู้ใหญ่บ้านมีวาระเพียง 5 ปี จะทำให้การทำงานในพื้นที่ลำบาก โดยเฉพาะการปราบปรามยาเสพติด และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ 

และไม่เห็นด้วยกับที่มาของตำแหน่งที่ต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนโดยมองว่า พวกเขาไม่ใช่นักการเมือง จึงไม่ควรมาจากการเลือกตั้งเราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

หากถามจากกระแสสังคมส่วนใหญ่เชื่อว่าอยากให้กำนันผู้ใหญ่บ้านมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี เพราะสภาพความเป็นจริงทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งระดับชาติจะทำให้รู้ทันทีว่า “ใครเป็นคนก็ใคร” 
คำพูดที่ว่า “ปลอดจากพรรคการเมือง” ประชาชนในพื้นที่รู้ว่าเป็นเพียงคำพูดเพื่อสร้างภาพหรือไม่ 

และข้อเสนอของ สปท.ที่เห็นควรให้กำนันมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ทุกหมู่บ้านเลือก แทนการให้ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เลือก เพื่อป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวก และการซื้อเสียง 
หากมีผลงานดี ทำงานเข้าตาประชาชนในพื้นที่เรื่องได้กลับมาอยู่ในตำแหน่งอีกครั้งก็ไม่น่าเป็นห่วง 

เพราะลำพังเงินเดือนกำนันผู้ใหญ่บ้านในแต่ละเดือนแลกกับการซื้อตำแหน่ง เพื่อให้ได้เป็นกำนัน คุ้มหรือไม่ ถ้าไม่มีสิ่งล่อใจอย่างอื่น หรือมีจิตใจอุทิศการทำงานเพื่อส่วนรวม 

เพราะกำนันได้รับเงินเดือน 15,000 บาท ส่วนผู้ใหญ่บ้าน 13,000 บาท การทำงานให้กับประชาชนในพื้นที่ต้องทุ่มเทอย่างมากต้องทำหน้าที่ประสานระหว่างรัฐกับประชาชน แค่การเดินทางเพื่อประชุมลำพังเงินเดือนคงไม่พอ 

และจากสภาพปัจจุบันการพัฒนาของประเทศได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วประชาชนที่เคยกลัวหรือประหม่าในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐได้เปลี่ยนไป การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนก็เปลี่ยนตามไปด้วย

การต้องพึ่งพาอาศัยกำนันผู้ใหญ่บ้านโดยตรงเริ่มลดลง ยิ่งความเจริญได้เข้าถึงในพื้นที่เร็วรวดทำให้บทบาทวาระการทำหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านดูลดลงตามไปด้วย 

ดังนั้นเมื่อมีการเสนอวาระกำนันผู้ใหญ่บ้านจากเกษียณ 60 ปี เหลือวาระ 5 ปี จึงมีเสียงสนับสนุนจากสังคมรอบข้าง 

พร้อมกับมีคำถามขึ้นมาลอยๆ ว่า ยุคนี้ มีกำนันผู้ใหญ่บ้านเอาไว้ทำอะไร?