ปิยศักดิ์ เขียวสะอาด : HKWALLS Festival 2017

ปิยศักดิ์ เขียวสะอาด : HKWALLS Festival 2017

สื่อให้ถึงใจ ทลายกำแพงระหว่างศิลปะกับผู้คน ด้วยศิลปะบนกำแพง

ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา HKWALLS องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งมุ่งหา “กำแพง” เปล่าในฮ่องกงให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงาน ได้จัด HKWALLS Festival ขึ้น จนกลายเป็นงานสตรีทอาร์ต (Street Art) ประจำปี สร้างชีวิตชีวาด้านศิลปะสาธารณะขึ้นมา และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นเมืองที่มีสตรีทอาร์ตโดดเด่นมากเมืองหนึ่งของเอเชียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

พื้นที่ในการจัดงานเคลื่อนย้ายจากย่านหนึ่งไปสู่อีกย่าน ปีนี้ HKWALLS Festival จัดกันที่ย่าน หว่อง-จุ๊ก-ฮั้ง (Wong Chuk Hang)ทางตอนใต้ของเกาะฮ่องกง ย่านอุตสาหกรรมที่กำลังกลายเป็นย่าน “ฮิป” น้องใหม่ เมื่อรถไฟสายSouth Island Lineเพิ่งเข้าถึง เหล่าคนหนุ่มสาวจึงพากันมาเปิดร้านรวง ทำให้เกิดย่านสร้างสรรค์แห่งใหม่ขึ้นมา

ศิลปินจากทั่วโลกที่ HKWALLS ชักชวนมาร่วมงานนี้มี 24 คน และมีคนไทยเข้าร่วม 2 คน คือ Mauy Cola และ Jecks ผลงานพ่นกำแพงที่ทั้ง 2 ทำนั้นจะอยู่ถาวรคู่กับย่านนั้นไปเลย (ตราบใดที่ไม่มีการทุบตึก) เราได้คุยกับ 1 ในศิลปินไทยที่ได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้คือ Mauy Cola หรือ มวย - ปิยศักดิ์ เขียวสะอาด ศิลปินสตรีทอาร์ตที่มีแนวทางชัดเจนในการนำเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ป่า มาตีความในแนวคิดต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้คนตระหนักรู้ถึงความสำคัญของธรรมชาติที่กำลังเสื่อมสลายลงไปทุกที

สัตว์ป่าในงานศิลปะ
งานของมวยนั้นเกี่ยวข้องกับสัตว์ป่ามาตั้งแต่เริ่มทำงานศิลปะ เขาจบจากสาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงแรกที่ทำงานวาดเส้น เพนท์ติ้ง และศิลปะจัดวาง เขาก็จับเรื่องนี้มาตลอด


“เพราะผมโตมากับบ้านนอก แค่ออกไปหลังบ้านก็เห็นสัตว์ป่าได้ง่ายมาก แม้แต่ตอนอยู่มหาวิทยาลัยช่วง 3 ปีแรก ก็สามารถเห็นกวางได้ไม่ยาก แต่พอเข้าปี 5 สัตว์พวกนี้หายหมดเลย เรารักสัตว์ จึงวาดด้วยความคิดที่ว่าต้องการนำสัตว์เหล่านั้นออกมาสู่สายตาคนให้มากที่สุด”

สัตว์ป่าในงานของมวยนั้นมักมีการผสมผสานสร้างใหม่อยู่เสมอ มวยบอกว่าแรกทีเดียวเขาต้องการเชื่อมโยงพฤติกรรมไม่ดีของมนุษย์โดยใช้สัตว์เป็นตัวสื่อ

“แนวคิดคือ คนหนึ่งคนจะมีบุคลิกของสัตว์คนละตัว” บางพฤติกรรมจึงมีสัตว์เป็นตัวแทน และหลายครั้งก็เป็นพฤติกรรมแย่ๆ ภาพที่ออกมาจึงดูรุนแรง และกลายเป็นว่าทำให้คนมองสัตว์ป่าในด้านลบ แทนที่จะมองเห็นว่ามนุษย์นั่นแหละร้าย เขาจึงเปลี่ยนวิธีการ เพื่อให้คนรู้สึกดีกับสัตว์ป่า งานของเขาจึงออกมาในเชิงเสียดสีมากกว่าต่อว่า

สตรีทอาร์ตสไตล์ 'มวย' 
ก่อนหน้านี้มวยไม่เคยสนใจงานสตรีทอาร์ต เขารู้จักแต่กราฟิตี้ที่เป็นการพ่นเป็นตัวอักษรบนกำแพง แต่เมื่อได้เดินทางไปเยี่ยมพี่สาวที่เยอรมนี มวยได้เห็นสตรีทอาร์ตมากมายที่นั่น และเพิ่งได้รู้ว่าสเปรย์สามารถสร้างรายละเอียดได้ขนาดนั้น จึงเกิดความสนใจขึ้นมา แม้จะเป็นคนชอบทดลอง แต่กว่าเขาจะลงมือพ่นสเปรย์ครั้งแรก ก็ใช้เวลาอยู่ 3 ปี ในการศึกษาของมูลจากอินเทอร์เน็ต และดูวิดีโอสอนเทคนิคต่างๆ อยู่นาน จนวันหนึ่งถามตัวเองว่า จะรออะไรอีก เขาก็ออกไปซื้อสเปรย์มาพ่นกำแพงบ้านเลย ซึ่งซื้อมาผิดประเภทด้วยซ้ำ แต่ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น

จากนั้นเป็นต้นมา ภายในเวลา 3 ปี ศิลปินหนุ่มจากเชียงใหม่ ก็พ่นกำแพงเป็นร้อยๆ แห่ง ช่วงปีแรกเขาพ่นกำแพงไป 12 แห่ง ปีต่อมาอีก 150 แห่ง และตอนนี้ก็ไม่มีอะไรฉุดเขาอยู่แล้ว จากกำแพงในเชียงใหม่ ออกไปนอกจังหวัด ไปถึงจีน และล่าสุดก็ที่ฮ่องกง

มวยเป็นคนทำงานเร็ว และทำงานละเอียด งานพ่นสเปรย์ล้วนๆ ของเขาราวกับเพนท์ติ้ง ซึ่ง เขาใช้ความเร็วเต็มที่ 4 ชั่วโมงต่องาน 1 ชิ้น โดยมีสเก็ตช์เพียงคร่าวๆ ที่ร่างขึ้นหน้างาน เพราะต้องการให้งานมีความสอดคล้องกับพื้นที่ และไม่ได้สเก็ตช์ไป 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ใส่รายละเอียดกันสดๆ ระหว่างการพ่น เพราะ 1 เขามีความคิดอยู่ในหัวแล้ว 2 เขาสามารถปรับเปลี่ยนทุกอย่างได้หากเกิดปัญหาอะไรขึ้น เช่น สีหมด คนที่ชอบแก้ปัญหาอย่างเขาก็สามารถจัดการได้เสมอ

เนื้อไม้กับสัตว์ป่า
งานที่ทำร่วมกับ HKWALLS ก็เช่นกัน เดิมทีเขาจะได้พ่นกำแพงผืนใหญ่ในโอเชียนพาร์ค เขาก็เตรียมตัวไปแบบหนึ่ง แต่เมื่อถึงหน้างาน ทางเจ้าของสถานที่เกิดไม่อยากให้มีกิจกรรมที่อาจรบกวนผู้เข้าชม ทำเลจึงเปลี่ยนแปลงกะทันหัน พื้นที่ในการพ่นก็เล็กลง แต่เขาก็รับมือได้ ปรับแบบร่างหน้างาน และวางแผนในหัวก่อนจะลงมือรวดเดียวจบ

งานนี้เขามองความเป็นเกาะฮ่องกงเข้ากับสัตว์ทะเล เช่น เต่าทะเล แมวน้ำ วาฬ โดยยังเชื่อมแนวคิดจากอควาเรียมที่เป็นที่อนุบาลสัตว์ทะเล เขาจึงนำเสนอเป็นลูกสัตว์แววตาไร้เดียงสา อยู่ท่ามกลางแผ่นไม้ที่แตกกระจายอยู่ในทะเล คนเห็นก็ตีความไปต่างๆ กัน เราถามมวยถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงาน

“ผมมีม้าไม้อยู่ตัวหนึ่ง จึงวางเป็นคอนเซ็ปต์ว่าเอาเนื้อไม้ไปแทนเนื้อของสิ่งมีชีวิตต่างๆ คือสิ่งมีชีวิตทุกอย่างจะไม่มีทางมีเลือดเนื้อใดๆ เลย ถ้าขาดเนื้อไม้หรือต้นไม้ ซึ่งแทนธรรมชาติ ป่าไม้ต้องมาก่อน ไม่มีป่า สัตว์อยู่ไม่ได้ ฉะนั้น เลือดเนื้อที่แท้จริงของสัตว์ป่าหรือมนุษย์ก็คือต้นไม้ ที่ผมทำเป็นไม้แตก เพราะป่ามันไม่สมบูรณ์แล้ว เสื่อมสลาย มีใบไม้ร่วงโปรยปราย หมายถึงเรากำลังนับถอยหลังแล้ว แต่คนไม่ค่อยเห็นความสำคัญกัน”
ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นภาพขนาดเล็กกว่า เป็นรูปลิงบนม้าไม้

“ผมใช้รูปลิงบ่อย เพราะลิงฉลาด ถ้าจะมีสัตว์ไหนเทียบเคียงกับคนได้มากที่สุดก็น่าจะเป็นลิง เขากำลังต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเอง การสู้ของเขาไม่ใช่การใช้หอกปลายแหลม แต่ใช้กล้วย เป็นการต่อสู้ที่นุ่มนวล สู้ในสิ่งที่พอจะทำได้ แต่คนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้คืออัศวินม้าไม้ ซึ่งเชื่อมโยงอีกงานด้วย”

ศิลปะเพื่อสาธารณะ
3 ปีที่ผ่านมามวยสร้างผลงานบนกำแพงมากมาย ล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นความสำคัญของธรรมชาติและสัตว์ป่า งานของเขาเหมือนจะดูง่าย ใช้สัญลักษณ์ตรงไปตรงมา แต่ก็ต้องคิดหลายชั้น เช่น งานพ่นกำแพงที่อ.แม่ระมาด ไม่ไกลจากชายแดนแม่สอด อย่างงานเรือโนอาห์ซึ่งลำตัวเป็นวาฬสีฟ้าและหัวเป็นนักอินทรีกำลังแบกสัตว์ต่างๆ ล่องไป และงานเต่ากับกระต่ายที่คนพูดถึงกันมาก

“เต่ามีหลังเป็นบ้านต้นไม้และมีกระต่ายอยู่ข้างใน คนชอบกันด้วยโทนสีและอารมณ์ งานนั้นเริ่มมาจากกระต่ายที่ผมเลี้ยงตาย เป็นกระต่ายป่าที่ผมไม่ตั้งใจจะเลี้ยง แต่ไปเห็นคนขายเอามันมาใส่ชุดขาย มันหงอยมาก ผมจึงเลือก 2 ตัวที่หงอยที่สุดมา เพื่อเอาไปปล่อย คิดว่ามันไม่รอดแล้วล่ะ แต่อย่างน้อยให้มันได้วิ่ง พอได้มา ตัวแรกอยู่ได้คืน 2 คืนก็ไป อีกตัวก็ค่อยๆ แข็งแรงขึ้น ผมก็เลี้ยงมาจนจากไป ผมอยากให้สัตว์เหล่านี้อยู่นานๆ ซึ่งจะอยู่ได้ก็ต้องมีสภาพแวดล้อมและสามัญสำนึกที่ดี ก็มาคิดว่าสัตว์อะไรที่สื่อถึงอายุยืน ผมก็เลือกเต่า แต่ในขณะเดียวกันจะมีอายุยืนได้ก็ต้องแคร์สิ่งแวดล้อม ข้างล่างจึงเป็นรากไม้ ส่วนเต่าก็ขี่จักรยานล้อเดียว เพราะทุกอย่างมันไม่ได้ราบรื่น ต้องพยายามนำพาไปเรื่อยๆ”

ผลงานชุดนี้ อยู่ที่ โก-ดัง-ศิลป์ หรือ Go – Dang – Arts อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งเป็นโรงงานร้างที่เจ้าของเปิดโอกาสให้มวยเข้าไปสร้างผลงานได้เต็มที่ ตอนนี้ก็กลายเป็นสถานที่ที่วัยรุ่นต้องไปเยือนกันเพื่อไปดูและถ่ายภาพสตรีทอาร์ตกัน ซึ่งมีชื่อเสียงระดับประเทศ เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของจ.ตาก จังหวัดที่ยังไม่เคยมีศิลปะประเภทนี้เกิดขึ้น และช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนใกล้เคียงด้วย

นี่เป็นพลังหนึ่งของสตรีทอาร์ต ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนได้ และมวยคิดว่าสตรีทอาร์ตมีประโยชน์ต่อสังคมในหลายด้าน

“ประโยชน์อย่างแรกสำหรับชุมชน คือเปลี่ยนสถานที่รกร้างน่ากลัวในชุมชนให้ดีขึ้น ผมเห็นผลจากเชียงใหม่ ซึ่งมีคุกหญิงเก่าอยู่กลางเมือง ใกล้อนุเสาวรีย์สามกษัตริย์ แต่ค่อนข้างน่ากลัว เพราะมันรกร้าง เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมได้ เราเห็นกำแพงว่างแล้วอยากทำ แต่ผมไม่มีนโยบายไปบุกรุกกำแพงบ้านใคร ถ้าเราเห็นว่ามันพัฒนาได้ ไปเปลี่ยนมุมมองตรงนี้น่าจะดีขึ้น สว่างขึ้น เราก็ขออนุญาต คุยกับผู้รับผิดชอบสถานที่ จากนั้นจึงมีการจัดเสวนากันว่าอยากให้ทุบมั้ย เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ก็ได้สรุปกันว่าทุบทิ้งสร้างใหม่ดีกว่า เปลี่ยนให้เป็นสถานที่ให้ความรู้ ด้านนอกเป็นกำแพงศิลปะ หรือแสดงให้เกิดอุทาหรณ์ว่าชีวิตในคุกเป็นอย่างไร แต่ก่อนที่จะเกิดโครงการนี้ ก็จะทำให้ข้างนอกไม่น่ากลัวก่อน ผู้ใหญ่ก็โอเค ตอนนี้ก็เป็นแลนด์มาร์กหนึ่งของเชียงใหม่เช่นกัน ไม่รกร้างแล้ว ถางหญ้าสะอาด มีงานหมุนเวียนมาวาด มีชีวิตชีวา เป็นแหล่งที่คนมาเที่ยวถ่ายรูปกันมาเป็นปีแล้ว”

ความแตกต่างระหว่างการทำงานบนเฟรมผ้าใบกับการทำงานบนกำแพง ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนพื้นที่เล่าเรื่อง สำหรับมวยความแตกต่างนั้นทำให้เขาหลงรักสตรีทอาร์ตอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

“การวาดรูปบนแคนวาสในสตูดิโอ ทำให้อยู่กับตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวผมคิดว่าศิลปะต้องมีการวิจารณ์ การทำงานคนเดียวทำให้เราอยู่กับตัวเอง ไม่มีใครวิจารณ์ แล้วยังจำกัดอยู่กับขนาดเฟรม แต่บนกำแพงจะใหญ่แค่ไหนก็ได้ และระหว่างที่ทำงานก็จะมีคนมาดู มาตีความงานของเรา ตรงบ้างไม่ตรงบ้าง ก็สนุกดี ได้มีการคุยกับคนอื่น พี่ป้าน้าอาในชุมชนว่าแบบนี้นะ เขาก็เสนอแง่มุมต่างๆ มีความสุขกว่าทำงานในสตูดิโอ”

ที่สำคัญคือสถานที่ติดตั้งแสดงงานนั้นอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

“วาดในเฟรมก็ติดตั้งในแกเลอรี่ คนจะได้เห็นรูปผมก็คือคนที่เข้าแกเลอรี่เท่านั้น งานของผมเป็นแนววิจารณ์สังคม ก็ไม่ควรจำกัดอยู่ในวงแคบ แต่ออกนอกกำแพงให้ทุกคนได้เสพ และวิจารณ์ ซึ่งผมก็น้อมรับ เพราะผมทำงานสาธารณะ”

แม้ศิลปินจะทำงานเพื่อรับใช้แรงขับเคลื่อนของตัวเอง แต่สำหรับมวยเขาผนวกการสื่อสารให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมเข้าไปด้วย และเพื่อการนั้นเขาก็เลือกทำงานไม่ยากเกินกว่าจะรับรู้

“ผมชอบทำงานที่เข้าใจง่าย เพราะต้ังใจสื่อกับประชาชนมากกว่าชนชั้นสูง ผมแคร์มากกว่าถ้าคนทั่วไปเขาไม่เข้าใจงานของผม”