ความหวังบนเส้นทาง(อ)ยุติธรรม

ความหวังบนเส้นทาง(อ)ยุติธรรม

การหายตัวไปของนักสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าๆ ที่สังคมต้องช่วยกันผลักดันมาตรการที่หยุดความอยุติธรรมนี้เสียที

ภาพเด็กหนุ่มชาวกะเหรี่ยง ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ วัย 19 ปี พูดแนะนำหมู่บ้านโป่งบางกลอย เล่าเรื่องราวและวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านประสบการณ์ที่เรียงร้อยมาจากชีวิตจริงอย่างคล่องแคล่ว เป็นเหมือนไทม์แมชชีนที่ชวนให้คิดถึงเส้นทางของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอย่าง ‘บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ’ ผู้นำกระเหรี่ยงบ้านโป่งลึกบางกลอย ในเขตวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพชรบุรี ที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เป็นเวลา 3 ปีเต็ม

เดินตามรอยเท้านักสู้

เรื่องราวการหายตัวไปของบิลลี่ได้สร้างบาดแผลให้แก่พี่น้องชาวกะเหรี่ยงแบบที่เรียกว่าไม่อาจลืมเลือนได้ ทว่า ไฟของนักสู้ชาวกะเหรี่ยงก็ไม่ได้มอดดับซะทีเดียว

พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร หรือ ‘แบงค์’ เยาวชนบ้านโป่งลึกบางกลอย เด็กชาติพันธุ์ที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความรู้และพูดสื่อสารภาษาไทยได้อย่างชัดเจน จนชาวบ้านไว้วางใจ และเริ่มเข้ามาช่วยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ทั้งภาคประชาสังคมและภาครัฐ ตั้งแต่ที่บิลลี่หายตัวไป ทั้งสองมีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกัน นั่นคือ หัวใจของนักสู้ เด็กหนุ่มเลือกเดินตามรอยเท้าบิลลี่ แม้รู้ดีว่าตนเองอาจจะตกเป็นเป้าหมายของการปองร้ายจากเจ้าหน้าที่รัฐบางคน หรือผู้มีอิทธิพลในแถบนั้น

“มีบ้างที่รู้สึกกลัว การที่เข้ามาประสานงานตรงนี้ก็มีอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องของการสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจ เข้ามาช่วยเป็นล่าม เข้ามาทำตรงนี้ เพราะคิดว่ายังมีคนไม่เข้าใจในวิถีชีวิตของเรา อยากจะเข้ามาช่วยประสานให้คนภายนอกได้รู้จักตัวตนของเรา ว่าเราอยู่อย่างนี้ เป็นอย่างนี้ กินอย่างนี้ และผมเชื่อว่าความยุติธรรมมีอยู่จริง แต่ผู้ปฏิบัติไม่ทำให้มันเกิดขึ้นเท่านั้นเอง”

การเดินตามรอยของบิลลี่ ได้ก่อร่างสร้างพลังให้เด็กหนุ่มคนนี้ มีแรงขับเคลื่อนที่จะเรียกร้องความยุติธรรมให้ถิ่นเกิดของเขา ดังเช่นที่ พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ในวัย 30 ปี ผู้นำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึกบางกลอย และเป็นสมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียง ได้เริ่มไว้ในฐานะ ’พยาน’ คดีที่ชาวบ้านโป่งลึกบางกลอย ยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในข้อหา ‘เผาบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านให้ได้รับความเสียหาย’ ซึ่งกลายเป็นเงื่อนงำของการหายตัวไปของบิลลี่ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557

บิลลี่เป็นพ่อและเป็นสามีที่รักของครอบครัว ปู่ของเขาคือ ปู่คออี้ มีมิ ผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยงที่ถูกเจ้าหน้าที่เผาบ้าน ทำลายทรัพย์สินและพืชพันธุ์ แล้วบังคับให้โยกย้ายออกจากที่ดินที่พวกเขาและบรรพบุรุษได้อยู่อาศัยทำกินมาหลายชั่วอายุคน ก่อนที่จะถูกทางการประกาศให้เป็นเขตวนอุทยานแห่งชาติเสียด้วยซ้ำ บิลลี่จึงได้ต่อสู้อย่างแข็งขันร่วมกับชุมชนของเขา เพื่อเรียกร้องทวงคืนที่ดินดังกล่าว

ปู่คออี้และชุมชนได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเรียกร้องค่าเสียหายจากการเผาทำลายบ้าน ยุ้งฉางข้าว และบังคับขับไล่ ซึ่งในช่วงที่ทีมทนายความและบิลลี่กำลังช่วยกันรวบรวมข้อมูลเพื่อฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เขาได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานจับกุมตัวไประหว่างที่เดินทางจากบ้านโป่งลึกบางกลอยเพื่อที่จะเข้าไปในเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่และหัวหน้าวนอุทยานแห่งชาติที่จับตัวบิลลี่ไปฐานครอบครองน้ำผึ้งป่า 6 ขวด ได้บอกว่าปล่อยตัวเขาไปแล้ว จากนั้นก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยและไม่มีใครทราบชะตากรรมอีกเลย

รบร้อยครั้ง แพ้ร้อยครั้ง

หลังจากที่บิลลี่ถูกบังคับให้หายตัวไป ครอบครัวของเขา รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในและระหว่างประเทศหลายองค์กร ได้พยายามเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนหาตัวบิลลี่และนำตัวผู้กระทำมาลงโทษ มีการใช้กลไกทางกฎหมายหลากหลายช่องทาง แต่ 3 ปีผ่านไป การดำเนินการเหล่านั้นกลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ ‘มึนอ’ เป็นที่รู้จักของสังคมไทยในฐานะ ภรรยาบิลลี่ การหายตัวไปของสามีและกิจกรรมการต่อสู้ของเธอกลายเป็นข่าวใหญ่ระดับสากล แต่อีกมุมหนึ่ง เธอก็เป็นแค่ผู้หญิงธรรมดาที่หวังเพียง “มีครอบครัวอันสมบูรณ์” ซึ่งปัจจุบันเธอต้องรับผิดชอบครอบครัวด้วยสองมือที่มีอยู่ เพื่อเดินหน้าต่อไป โดยไร้เงาคนรัก

ซึ่งในช่วงที่สามีหายไป ระหว่างขั้นตอนการร้องทุกข์ มึนอรู้ดีว่าความหวังในการตามหาสามีและทวงคืนความเป็นธรรมมีเพียงริบหรี่

 “ไม่มีความหวังว่าบิลลี่จะกลับมา คิดว่าจะเรียกร้องสิทธิตามขั้นตอนกฎหมาย ถ้าสิ้นสุดศาลปกครองตามกระบวนการกฎหมายก็จะไม่ทำอะไรแล้ว อีกอย่างคือรู้สึกเหมือนกับว่าเขาเห็นว่าเราเป็นคนชาติพันธุ์ เป็นกะเหรี่ยง ด้อยกว่าก็จะไม่ได้รับความยุติธรรม”

ช่วงเวลาในแต่ละวันอาจหมุนผ่านไปเร็ว แต่สำหรับครอบครัวแล้ว การก้าวพ้นแต่ละวันไปได้ ช่างเป็นเรื่องที่ยากลำบากนัก อีกทั้งบิลลี่เป็นคนที่ปู่คออี้ ไว้วางใจมากที่สุด เนื่องจากตัวเขาเองเมื่อได้รับมอบหมายให้ทำอะไร ก็มักจะประสบความสำเร็จและทำได้ดีมาโดยตลอด

วันนี้ ปู่คออี้ มีมิ อายุ 106 ปีแล้ว ผู้นำจิตวิญญาณกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ได้เอ่ยถึงหลานชายสุดรักด้วยความคิดถึง

“ เราอยากให้ทุกคนในแผ่นดินนี้ รักกันอยู่กันอย่างร่มเย็น เราคิดถึงบิลลี่ แต่เขาหายไปยังไงแบบไหนเราก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่รู้จะทำอย่างไร” ปู่คออี้ เอ่ย

ขณะที่ชะตากรรมของบิลลี่ยังเป็นปริศนา ทว่า ผู้ต้องสงสัยกลับใช้ชีวิตราวกับไม่เคยมีเรื่องนี้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูเหมือนจะไม่ได้ขยับทำอะไร ทำให้ประเทศไทยถูกโจมตีจากต่างประเทศ ทั้งในประเด็นการละเมิดสิทธิชุมชน และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ไม่เฉพาะกรณีบิลลี่ แต่ยังรวมถึงทนายสมชายและคนอื่นๆ ซึ่งในที่สุดได้มีการรับทั้งสองเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

โดยตัวแทนของคณะผู้แทนไทยได้ชี้แจงในเวที ICCPR (ทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิ)ว่า ขณะนี้กระทรวงยุติธรรมได้ให้คณะกรรมการคดีพิเศษของดีเอสไอ นำคดีอุ้มหายหลายๆ คดีกลับมาพิจารณาเป็นคดีพิเศษใหม่ ทั้งทนายสมชาย นายบิลลี่ และคดีอื่นๆ ซึ่งแท้จริงแล้วเรื่องนี้มึนอได้พยายามที่จะเดินเรื่องให้คดีนี้ไปอยู่ในการดูแลของ DSI ตั้งแต่แรก แต่ก็ได้ปฏิเสธมาก่อนหน้านี้ว่ามีมติไม่รับเป็นคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าล่าสุดก็คือ DSI ได้ลงมาสอบสวนแม่ของบิลลี่เพิ่มเติม ที่ สภ.แก่งกระจานเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงต้องจับตาดูกันว่าหลังจากไปตอบคำถามในเวทีโลกแล้ว สิ่งที่ตัวแทนไทยไปพูดไว้นั้นจะถูกนำมาปฏิบัติให้เป็นจริงแค่ไหน อย่างไร

...ทรมานและอุ้มหาย ความหวังที่ยังไม่เป็นจริง

  ไม่ว่าจะเป็น ทนายสมชาย นีละไพจิตร หรือ บิลลี พอละจี รักจงเจริญ พวกเขาคือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ทำงานเป็นปากเป็นเสียงให้คนเล็กคนน้อย คนที่ด้อยสิทธิเสียงในสังคม บ่อยครั้งที่บทบาทของพวกเขาสร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพล และนั่นอาจเป็นสาเหตุให้คนเหล่านี้รวมถึงครอบครัวมักตกเป็นเป้าหมายของการปองร้าย

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เครือข่ายกะเหรี่ยง มองว่าสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของชาติคือเรื่องเดียวกัน การดูแลชาวบ้านที่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงก็เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้มีคนเอามาอ้างเพื่อจะทำลายสิทธิมนุษยชน ผลก็คือความมั่นคงก็ไม่ได้ สิทธิมนุษยชนก็เสียเพราะว่าตนเองไปทำลาย ทางออกก็คือควรทำสองด้านไปด้วยกัน เพราะมันคือเรื่องเดียวกัน และทั่วโลกก็ทำเป็นเรื่องเดียวกันหมด

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาป้องกันการหายสาบสูญโดยถูกบังคับและการออกกฎหมายในประเทศเพื่อกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา ด้วยเหตุดังกล่าว ทางการไทยจึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งกำหนดให้ทั้งการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็น ฐานความผิดเป็นการเฉพาะ

ทว่า ในช่วงก่อนที่ตัวแทนไทยจะเดินทางไปนำเสนอรายงานการปฏิบัติการต่อพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย เช่น สนช. ได้ชะลอร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่กลับลงมติเพื่อให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED)

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายว่าเป็นหนึ่งความหวังของการป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ซึ่งการทรมานที่ว่าก็คือ ที่ผ่านมาเวลามีการทรมานเกิดขึ้น ผู้ทำการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ถูกตั้งขอหาว่าทำการทรมาน แต่อาจจะถูกตั้งข้อหาว่าประพฤติผิดไม่ชอบในหน้าที่ ซึ่งไม่ใช่ความผิดอาญาที่ไม่ใช่ข้อหาทรมาน เมื่อจะมีกฎหมายนี้ ก็ถือว่าเป็นความก้าวหน้าระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติของไทยมีมติให้ส่งร่างพระราชบัญญัตินี้คืนกลับไปให้คณะรัฐมนตรี เท่ากับเป็นการชะลอการออกกฎหมายสำคัญไปโดยไม่มีเวลากำหนด

ทั้งนี้ ข้อมูลจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า คณะกรรมการฯ ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขาดความเป็นอิสระจากภาครัฐ เพราะมีคนจากภาครัฐถึง 8 คนจากทั้งหมด 16 คน ขณะที่อีก 8 คนก็คัดเลือกหรือแต่งตั้งผ่านกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพซึ่งก็เป็นหน่วยงานรัฐ จึงอาจเกิดการเอื้อผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุทรมานได้ และยังมีมาตรา 21 ที่เปิดโอกาสให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพโดยอ้างเหตุผลว่าจะเป็นอันตรายต่อบุคคล หรือความเป็นส่วนตัว หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนคดีอาญา ซึ่งทำให้การควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวลับที่ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน

ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นผลจากความพยายามหลายปีของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม หากออกกฎหมายได้สำเร็จจะกลายเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลายประการที่ทางการไทยได้ประกาศไว้ในเวทีโลก

และแม้ว่าการผ่านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวอาจจะไม่ได้ทำให้บิลลี่กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านโป่งลึกบางกรอยอย่างที่หลายคนหวัง แต่บนเส้นทางของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นี่จะเป็นเกราะคุ้มกันทางกฎหมายที่แข็งแรง เพื่อไม่ให้มีใครต้องหายไปอย่างไร้ความหมายอีก