'บขส.'สั่งปรับหมื่นบาทรถทัวร์ขายตั๋วเกินราคา

'บขส.'สั่งปรับหมื่นบาทรถทัวร์ขายตั๋วเกินราคา

"บขส." จัดหนักรถทัวร์ขายตั๋วเกินราคา สั่งปรับ 10,000 บาท พร้อมสั่งห้ามกลับมาจำหน่ายตั๋วในตู้อีก ชี้หากทำผิดซ้ำจะมีโทษสูงสุด

นายนพรัตน์ การุณยวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวถึงกรณีมีผู้โดยสารร้องเรียนมีรถร่วมฉวยโอกาสเก็บค่าโดยสารเกินราคาก่อนเทศกาลสงกรานต์ ล่าสุด บขส.ตรวจข้อมูลพบว่ากรณีรถร่วมบริการบริษัท ภัสสรชัยทัวร์ มีผู้ร้องเก็บค่าโดยสารเกินราคาเส้นทางจังหวัดร้อยเอ็ด-กรุงเทพฯ พบว่ากระทำผิดจริงลงโทษปรับบริษัทดังกล่าวเป็นเงิน 10,000 บาท และให้ผู้จำหน่ายตั๋วกระทำผิดห้ามกลับมาจำหน่ายตั๋วในตู้อีก ทั้งนี้ ยืนยันว่ามีมาตรการคุมเข้มหากกระทำผิดจะลงโทษเด็ดขาด และขอเตือนผู้ประกอบการรถร่วมบริการและรถโดยสารไม่ประจำทางหรือรถ 30 หากกระทำผิดครั้งหนึ่งแล้วและยังกระทำผิดซ้ำตามนโยบาย คสช.ที่ให้มีการยกระดับการลงโทษให้เข้มข้นมากขึ้น หากพบทำผิดอีกจะถอดรถคันดังกล่าวออกจากบัญชี ทำให้ผู้ประกอบการยุ่งยากในการนำรถคันดังกล่าวกลับมาวิ่งให้บริการอีกครั้ง

สำหรับการซื้อตั๋วที่สถานีขนส่งทุกแห่ง บขส.วางหลักเกณฑ์สังเกตได้ โดยเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วที่มีป้ายเลข 30 สีแดงสำหรับรถร่วมบริการหมายถึงเส้นทางรถดังกล่าวจะไม่มีการจำหน่ายตั๋วเพิ่มจากที่นั่งปกติ ส่วนเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วที่มีป้าย 30 สีเขียว แสดงว่าเส้นทางเดินรถนั้นสามารถจำหน่ายตั๋วสำหรับรถโดยสารไม่ประจำทางให้แก่ผู้โดยสารได้ รวมทั้งการคิดค่าโดยสาร ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถ 30 บางรายอ้างว่าการรับส่งผู้โดยสารจากต้นทางเที่ยวขากลับมักจะไม่มีผู้โดยสารเดินทางมา ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกต้นทุนเสมือนเดินรถขาเดียว บขส.ยืนยันว่าเป็นเพียงข้ออ้าง เนื่องจากการคิดค่าโดยสารรถ 30 บขส.ให้ผู้ประกอบการจัดเก็บอัตราเพิ่มขึ้นจากราคาปกติ โดยเฉพาะค่าโดยสารไม่รวมค่าธรรมเนียมสามารถจัดเก็บอัตรารถ ม.1 พ.หรืออัตราเท่ากับรถ 32 ที่นั่ง ซึ่งผู้ประกอบการรถ 30 สามารถคิดค่าโดยสารไม่รวมค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 110 หากจัดเก็บค่าโดยสารเกินกว่าอัตรานี้จะถูกลงโทษตามกฎหมายทันที

นอกจากนี้ บขส.ยังกำชับให้ผู้ประกอบการทุกรายปฏิบัติตามมาตรฐานการเดินรถแต่ละเส้นทางอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะจุดพักรถที่มีกว่า 200 จุดทั่วประเทศ และกำหนดให้รถโดยสารประจำทางใช้จุดพักรถดังกล่าวเพื่อควบคุมเวลาทำงานของคนขับให้เกิดความปลอดภัย หากรถโดยสารประจำทางคันใดไม่พักรถตามมาตรฐานก็จะถูกลงโทษเฉียบขาดเช่นเดียวกัน

ส่วนกระแสข่าวระบุว่าที่ผ่านมารถ 30 ทั้งขนาดใหญ่และรถตู้โดยสารโดนภาครัฐกดดันเรื่องกำหนดที่นั่งให้เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบการบางรายไม่พอใจและอาจไม่นำรถมาช่วยวิ่งเทศกาลสงกรานต์นั้น ยืนยันว่าเมื่อวานที่ผ่านมา บขส.ร่วมกับกรมการขนส่งทางบกหารือร่วมกันและเชิญผู้ประกอบการรถ 30 ทำความเข้าใจแล้ว ซึ่งทุกรายพร้อมให้ความร่วมมือในการนำรถมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารเทศกาลสงกรานต์

ทั้งนี้ บขส.รายงานว่าเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมามีผู้โดยสารใช้บริการรถ บขส. และรถร่วม 134,025 คน เสริมเที่ยววิ่ง 1,369 เที่ยว จากเที่ยววิ่งปกติ 6,455 เที่ยว รวมเที่ยววิ่ง 7,866 เที่ยว สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพียงพอ วันนี้ (11 เม.ย.) คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 150,000 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 - 10 เมษายนมีผู้โดยสารใช้บริการรถ บขส.และรถร่วมประมาณ 1.2 ล้านคน