“พิเชฐ” ถก กสทช. เร่ง “ไทยแลนด์4.0”

“พิเชฐ” ถก กสทช. เร่ง “ไทยแลนด์4.0”

ย้ำความร่วมมือต้องเป็นเอกภาพภายใต้กม.ใหม่-หารือปมดาวเทียมลั่นต้องจบปีนี้ ขณะที่อีกด้าน “กูเกิล” เผยหารือร่วมดีอีเรื่องโครงการดิจิทัลพาร์ค พร้อมแสดงความสนใจ ขอดูรายละเอียดที่ชัดเจนก่อนตัดสินใจ

‘พิเชฐ’ ถก กสทช. ร่วมมือพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 ด้าน กสทช.รายงาน 6 ประเด็น พร้อมยันกม.กสทช.ที่ผ่านสนช.แล้วไม่ต้องรื้อใหม่ “พิเชฐ” ลั่น ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ต้องจบภายในปีนี้หลังยืดเยื้อมานาน เตรียมดึงแนวทางแก้ปัญหาเดิมสมัย “อุตตม” ที่เสนอครม.ผ่านแล้ว เดินหน้าต่อ ขณะที่อีกด้าน “กูเกิล” เผยหารือร่วมดีอีเรื่องโครงการดิจิทัลพาร์ค พร้อมแสดงความสนใจ ขอดูรายละเอียดที่ชัดเจนก่อนตัดสินใจ


นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า วานนี้ (10 เม.ย.2560) ได้เข้าพบ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมคณะกรรมการ กสทช.และ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. เพื่อหารือถึงความเป็นเอกภาพในการทำงานร่วมกันภายใต้กฎหมายใหม่ของทั้งกระทรวงดีอี และกสทช. โดยกระทรวงดีอีจะทำหน้าที่ดูแลเชิงนโยบาย
ขณะที่ กสทช.มีหน้าที่กำกับดูแล เพื่อให้เรื่องทุกอย่างที่คั่งค้างมีความชัดเจน อันจะสร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชนทั้งไทย และต่างประเทศว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยนโยบายดิจิทัลไทยแลนด์ และจะส่งผลให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยตามมา

“ปัญหาอะไรที่ไม่จบ ปีนี้เราจะเห็นชัดเจน เช่น เรื่องดาวเทียม การแก้ปัญหาเรื่องไทยคม 7 และ 8 ตรงนี้ต้องทำให้ภาพการแก้ปัญหาชัดเจนขึ้น เราจะนำกรอบในสมัยที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีคนก่อนเสนอ คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ผ่านแล้ว นำมาประชุมร่วมกัน ทั้ง กสทช. กระทรวงดีอี และไทยคม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งพรุ่งนี้ (11 เม.ย.) จะประชุมคณะทำงานเพื่อหาข้อสรุปเบื้องต้น ยึดการรักษาผลประโยชน์ของชาติ และดูที่การระบุตามสัญญาเป็นตัวตั้ง เพื่อให้สามารถวางแผนดาวเทียมต่อไปในอนาคตได้โดยไม่ติดขัดอย่างที่ผ่านมา ซึ่งภายในปีนี้ จะเห็นเรื่องหลายเรื่องที่ไม่ชัดเจนมาก่อน ชัดเจนขึ้น อย่างแน่นอน ซึ่งการหารือกับกสทช.ในครั้งนี้จะนำเสนอใน คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่จะประชุมนัดแรก 20 เม.ย.นี้”

ด้าน พล.อ.อ.ธเรศ กล่าวว่า การหารือวันนี้มีประโยชน์ในการช่วยผลักดันแผนยุทธศาสตร์พัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และการไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดย กสทช.และกระทรวงดีอีจะมีความร่วมมือกันทุกมิติ เพื่อประโยชน์ของสังคม

ขณะที่นายฐากร กล่าวว่า กสทช.ได้รายงานการดำเนินการ 6 เรื่อง ในที่ประชุม ประกอบด้วย 1.ประมูลคลี่นความถี่ 2600 1800 และ 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะผลักดันให้มีการประมูลเพื่อขับคลื่นเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ 2.การจัดระเบียบสายสื่อสารโทรคมนาคมลงดิน 3.ความคืบหน้าโครงการเน็ตประชารัฐที่ กสทช.รับผิดชอบจากกระทรวงดีอี รวมถึงอินเทอร์เน็ตชายขอบโดยกสทช.จะบูรณาการการทำงานให้มีความชัดเจน

4.การนำเงินรายได้ ของ กสทช. ที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย 15% และรายได้ กสทช.อีก 15% ส่งเข้ากองทุนของบอร์ดดีอี ตามกฎหมายใหม่ ซึ่งกสทช.จะส่งเงินให้ก่อนที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะมาตรวจเงิน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการประมูล กสทช.จะนำเงินรายได้ที่มีอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่งให้กองทุน 15 % ก่อน

5.การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. อาทิ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 โดยสำนักงานได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และ 6.เชิญผู้ประกอบการในอาเซียนมาประชุมพิจารณาแนวทางบริหารกำกับดูแลธุรกิจที่ให้บริการบนโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม หรือ OTT (Over The Top) ในวันที่ 12-13 ก.ย.2560 ในไทย

“กูเกิล”ชี้ “ดิจิทัล พาร์ค”แนวคิดดี
นายเบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า กูเกิลได้หารือร่วมกับกระทรวงดีอี ในโครงการดิจิทัลพาร์ค โดยเห็นว่าเป็นคอนเซปต์ที่ดี แต่ทั้งนี้ขอรอดูรายละเอียดที่ชัดเจนในด้านต่างๆ ก่อน โดยที่ผ่านมา กูเกิลเปิดกว้างกับการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย กระทรวงดีอี โดยเฉพาะการผลักดันให้คนไทยออนไลน์มากขึ้น พร้อมช่วยแก้ปัญหาที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่นจริงๆ

ทั้งยังเดินหน้าต่อเนื่องหลากหลายทั้งการพัฒนาอีโคซิสเต็ม สตาร์ทอัพ ด้วยงบการลงทุนทั่วโลกหลัก 5 ล้านดอลลาร์ บ่มเพาะนักการตลาดดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาการบริการของบริษัทให้ดีมากขึ้น ครอบคลุมการใช้งานมากขึ้น

“เรามองเห็นความน่าสนใจของการเติบโตในตลาดประเทศไทย ให้ความสำคัญกับทั้งการเข้ามาลงทุนปักธงทำธุรกิจ รวมถึงวิธีการที่จะเดินต่อไปข้างหน้าในอนาคต”