ทางเลือกใหม่ ‘เงินกู้’ PeerPower

ทางเลือกใหม่ ‘เงินกู้’  PeerPower

เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถปล่อยกู้โดยตรงให้กับผู้ขอสินเชื่อโดยไม่ต้องผ่านช่องทางปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ

“เพียร์เพาเวอร์” (PeerPower)  ก็คือ ระบบสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือ Peer to Peer Lending


“แทนที่นักลงทุนหรือผู้ที่ออมเงิน เดิมทีเอาเงินไปฝากแบงก์หรือซื้อหุ้นกู้ ดอกเบี้ยที่ได้ก็แค่ 2-4% ส่วนผู้กู้เวลาไปขอกู้กับแบงก์ ถ้าเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลไม่มีหลักทรัพย์ ตอนนี้ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 20-28% แต่ดอกเบี้ยของเราที่กำหนดไว้อยู่ที่ 8-15% ”


“วรพล พรวาณิชย์” (จิม) ฟาวเดอร์&ซีอีโอ เล่าต่อว่า แนวคิดก่อตั้ง เพียร์เพาเวอร์ เกิดขึ้นเมื่อราวๆ สองปีที่ผ่านมา เพราะเห็นว่ามันเวิร์คที่ต่างประเทศและไทยก็น่าจะมีโอกาสแบบเดียวกัน


“ผมเองมีประสบการณ์อยู่ในธุรกิจไฟแนนซ์มาถึง 18 ปี และพอสำรวจตลาดก็พบว่าธุรกิจนี้ไม่ค่อยมีใครทำ แต่มันช่วยปิดช่องว่างทางการเงิน ผู้กู้ได้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า นักลงทุนก็ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ให้ประโยชน์กับคนทั้งสองฝ่าย ”


แต่ก่อนที่เริ่มเขียนบิสิเนสแพลนหรือพัฒนาระบบ วรพลได้เข้าไปคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ เขามีเหตุผลว่า เพราะต้องการสร้างทรัสต์แพลตฟอร์ม หรือระบบแห่งความไว้วางใจ


“มันเป็นเรื่องเงินเรื่่องทอง ผมอยู่ในวงการนี้มานาน รู้ว่าความเป็นมืออาชีพ ความปลอดภัย ความโปร่งใสสำคัญที่สุด เราต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล ผมเลยเข้าไปแชร์ความรู้ให้กับแบงก์ชาติเพื่อให้เขานำเอาไปเป็นองค์ประกอบในการร่างกฏหมาย เรื่องกฏระเบียบของธุรกิจสำคัญมากๆสำหรับผม อาจมีคนมองว่าสตาร์ทอัพทำไปเลยก็ได้ ผมไม่เชื่ออย่างนั้น เพราะที่สุดก็หนีไม่พ้นแทนที่จะวิ่งหนีเราวิ่งเข้าหาจะดีกว่า จะได้มองเห็นวิธีแก้ไขด้วยกัน”


หลังจากนั้นเขาก็เริ่มการรีครูทคนเข้ามาร่วมทีม ในจำนวนนั้นก็มี “ประพัฒน์ ฉันทวศินกุล” ซีทีโอ และ “กุลนิษฐ์ ทั้งศิริทรัพย์” เมเนจเมนท์ แอสโซซิเอท เข้ามาร่วมพูดคุยกับกรุงเทพธุรกิจด้วย


ประพัฒน์ บอกว่า ตัวเขาเองเคยผ่านการทำงานทั้งองค์กรใหญ่องค์กรเล็กมาหลายที่ รวมถึงเคยทำสตาร์ทอัพมาก่อน เรียกว่าผ่านการลองผิด ลองถูก และเคยเฟลมาแล้ว


“ผมถือว่าเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเรื่อยๆ จนได้มาเจอพี่จิม ซึ่งเป็นนักไฟแนนซ์ที่ชื่นชอบ พอได้คุยก็พบว่าเป็นคนที่น่าเรียนรู้ ถ้ามาทำงานด้วยเราน่าจะได้ความรู้แน่นอน ทั้งยังมองว่าธุรกิจนี้เป็นฟิลด์ที่ผมก็ไม่เคยเรียนรู้มาก่อน”


ขณะที่ กุลนิษฐ์ เองก็มีความคิดที่ไม่ต่างกัน นั่นคือ ต้องการทำงานกับคนที่เก่ง มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน อีกความตั้งใจหนึ่งก็คือ ในระยะยาวเธอต้องการจะเปิดธุรกิจของตัวเอง การได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมเพียร์เพาเวอร์น่าจะเป็นจิ๊กซอว์ที่ช่วยต่อยอดไปยังเป้าหมายนั้น


พวกเขาบอกว่า ระหว่างทางที่ผ่านมาก็พบกับความท้าทายหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเรื่องการพัฒนาระบบ เพื่อการ “มูฟ” ได้เร็ว เพียร์เพาเวอร์เริ่มด้วยการซื้อระบบของอเมริกา


“เราเลยต้องไปคุมโปรแกรมเมอร์ของอเมริกาอีกทีมหนึ่งด้วย เพื่อให้เขาทำตามรีไควร์เมนท์ แม้โมเดลธุรกิจจะคล้ายกันแต่การตอบโจทย์ลูกค้าไทยโปรเซสข้างในก็คงไม่เหมือนกันทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจเหมือนกันแค่เรื่องหลักๆ ครึ่งหนึ่ง แต่อีกครึ่งหนึ่งเราต้องคิดใหม่ อีกเรื่องคือ ความเร็วของระบบ ตอนนั้นการสื่อสารระหว่างผมกับทีมพัฒนาฝั่งโน้นยากลำบาก เลยคิดว่าเรามีความเข้าใจถ้าทำเองน่าจะง่ายกว่า” นี่คือความท้าทายของประพัฒน์


วรพล อธิบายต่อว่า พอมาถึงโปรดักส์เวอร์ชั่นที่สอง ทั้งระบบหน้าบ้านและหลังบ้าน จึงเป็นฝีมือของทีมงานเพียร์เพาเวอร์พัฒนาเองทั้งหมด


“สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ เพอฟอร์แมนซ์ เรื่องความเร็ว ความเสถียรของระบบเป็นคนละเรื่องเลย มันพัฒนาขึ้นเยอะมาก เพราะเราคุมเองหมด ตอนจะแก้เราก็แก้ได้ไวด้วย เมื่อก่อนจะแก้แต่ละทีอเมริกาอยู่คนละไทม์โซนกับไทย พอคืนนี้บอกเขาไปกว่าจะรู้เรื่องก็คืนพรุ่งนี้ ก็เปลี่ยนมาเป็นพอบอกคืนนี้ตอนเช้าก็รู้เรื่องแล้ว”


เพียร์เพาเวอร์ยังต้องรอให้กฏหมายบังคับใช้ ซึ่งวรพลบอกว่าน่าจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ จากนั้นก็จะยื่นขอไลเซนส์ และภายใน 45-60 วันถึงจะสามารถเปิดบริการได้ในวงกว้าง อย่างไรก็ดี เวลานี้ได้มีการทดลองเปิดบริการในวงแคบ เฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ หรือ high net worth ระดับ 50 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีรายได้เกิน 4 ล้านบาทต่อปี


ได้รับฟีดแบ็คในเรื่องใดบ้าง? เขาบอกว่า คำถามยอดฮิตของเหล่านักลงทุนมักหนีไม่พ้นเรื่องการบริหารความเสี่ยง ซึ่งเพียร์เพาเวอร์ได้ทำตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ ต้นน้ำหมายถึง มีการสกรีนผู้กู้เป็นอย่างดี เช็คว่าถึงความมีตัวตน ตรวจสอบเรื่องของรายได้ ดูบุ๊คแบงก์ สลิปเงินเดือน เช็คเครดิตบูโร แล้วมีการจัดลำดับเครดิต คนที่เครดิตดีเป็นเกรดเอ ได้ดอกเบี้ยต่ำ ถ้าเป็นเกรดบีดอกเบี้ยก็สูงขึ้นมา


ขณะที่กลางน้ำ หมายถึง การจัดการระบบการเก็บเงิน และกระจายเงินกลับให้นักลงทุน ส่วนปลายน้ำ หมายถึง หากผู้กู้เบี้ยวหนี้ ก็จะมีระบบทวงถามหนี้ โดยแบ่งออกเป็นสองเฟส ในเฟสแรกหากเบี้ยวหนี้ตั้งแต่วันที่ 0-120 วัน จะใช้วิธีให้ทีมงานทวงถามทั้งช่องทางเอสเอ็มเอส อีเมล์ โทรศัพท์ฯลฯ พร้อมกับเสนอทางออกให้ผู้กู้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ หรือปรับการจ่ายงวด เป็นต้น และเฟสที่สอง คือใกล้ถึงวันที่ 120 ทางเพียร์เพาเวอร์จะมีพาร์ทเนอร์เป็นบริษัททวงถามหนี้ที่จดทะเบียนอยู่ระบบ ช่วยทำหน้าที่จัดการทวงหนี้ให้


ซึ่งรายได้ของบริการในวงแคบไม่ขอเปิดเผย แต่ถ้าเปิดในวงกว้างสำหรับคนทั่วไปรายได้ของเพียร์เพาเวอร์จะมาจากทั้งฝั่งของผู้กู้ โดยเก็บค่าฟี 3-4% ของจำนวนเงินกู้ (วงเงินขั้นต่ำจำกัดไว้ที่ 5 หมื่น- 1 ล้านบาท หรือ 5 เท่าของเงินเดือน คล้ายๆกับเงื่อนไขของธนาคาร) ส่วนฝั่งนักลงทุนหรือผู้ให้กู้ในวงกว้าง (จำกัดเงินลงทุนปีละ 5 แสนบาท) จะเริ่มขึ้นเมื่อมีการจ่ายหนี้คืน ซึ่งจะเป็นการจ่ายแบบลดต้นลดดอก ทั้งนี้จะคิดค่าดำเนินการ 1- 1.5% ของส่วนเงินต้น


“คาดว่าธุรกิจวงเงินกู้ที่ผ่านระบบของเราในปีแรกจะอยู่ที่ 300 ล้านบาทบวกๆ ในปีต่อไปน่าจะโต 100-200 % ซึ่งคอนเซอร์เวทีฟสำหรับผมนะ เพราะต่อให้มีการปล่อยพันกว่าล้านก็ยังไม่ถึง 1%ของตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลโดยรวมของไทย”

ทีมดี ธุรกิจแกร่ง สวยเลือกได้


ถามถึงไมล์สะโตน คำตอบก็คือ ต้องเริ่มจากการรอข้อกฏหมาย เพื่อขอไลเซ่นส์ทำธุรกิจ ถัดไปจะมีการวัดผลตอบรับของลูกค้าทั้งฝั่งผู้กู้และผู้ให้กู้ จากนั้นก็จะรุกด้านการตลาดทำให้ลูกค้าตอบรับเพิ่มขึ้นโดยการให้ข้อมูลความรู้ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์


"การเอดดูเคดตลาดต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทำอยู่เรื่อยๆ ขั้นแรกเป็นการทำให้คนรู้ว่ามันคืออะไร ขั้นที่สองบอกว่ามันดีอย่างไร จากนั้นก็เป็นข้อละเอียดปลีกย่อย เช่น วิธีบริหารความเสี่ยงว่าทำอย่างไรสำหรับฝั่งนักลงทุน ส่วนผู้กู้ก็คือ การจ่ายเงินตรงเวลามันดีอย่างไรต่อเครดิตส่วนตัว”


ส่วนเป้าหมายการเอ็กซิทนั้น วรพลบอกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การคิดถึงเรื่องนี้โดยที่ยังไม่ได้ลอนซ์โปรดักส์ถือว่าเร็วเกินไป


ในการทำธุรกิจผมจะคิดถึงลูกค้าก่อน การตอบโจทย์ความต้องการเขาได้ เราต้องมีโปรดักส์มาร์เก็ตฟิต ผมเชื่อว่าถ้าเราทำธุรกิจได้ดี เดี๋ยวเอ็กซิทแพลนมันจะมาเอง และไม่ได้มาในรูปแบบเดียวด้วย แต่มาให้เราเลือกหลายๆออฟชั่น ซึ่งปัญหาการเอ็กซิทแพลนก็คือ ถ้าคุณวางไว้ตรงนี้มันอาจจะไม่มาตรงนี้ก็ได้ มันอาจไปตรงโน้น ตรงนั้น ผมเลยมุ่งสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่ง มีทีมงานที่ดี มีแผนการสเกล ขยายธุรกิจอย่างชัดเจน ซึ่งที่คิดไว้จากเมืองไทยเราจะไปต่อที่เวียดนามและพม่า ”