เกษตรกรอัจฉริยะ ต้นน้ำธุรกิจยั่งยืน“มิตรผล”

เกษตรกรอัจฉริยะ ต้นน้ำธุรกิจยั่งยืน“มิตรผล”

กว่า 60 ปีมิตรผล จากชาวไร่อ้อยสู่เจ้าของโรงงานน้ำตาล ผ่านปรัชญาทำธุรกิจเริ่มต้น “ร่วมอยู่-ร่วมเจริญ” ก่อนยกระดับโมเดร์นฟาร์ม เกษตรกรอัจฉริยะ สร้างภูมิคุ้มกันธุรกิจโตยั่งยืน

ย้อนรอยฐานรากธุรกิจตระกูล "ว่องกุศลกิจ" ที่เริ่มต้นจากครอบครัวชาวไร่อ้อย ก่อนขยับมาเป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาล ในจังหวัดราชบุรี ขยายไปสู่เครือข่ายโรงงานน้ำตาล 6 แห่งในปัจจุบัน ได้แก่ โรงงานน้ำตาลในจังหวัดเลย ,สุพรรณบุรี ,สิงห์บุรี ,กาฬสินธุ์ ,ขอนแก่น และชัยภูมิ มีเครือข่ายชาวไร่อ้อยกว่า 4 หมื่นคน

ผ่านคำบอกเล่าของ กฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล ผู้บริหารมืออาชีพกุมบังเหียนธุรกิจน้ำตาลอันดับ 1 ของประเทศ และยังเป็นผู้ส่งออกอันดับ 5 ของโลก ฉายภาพให้เห็นพัฒนาการความยั่งยืนของกลุ่มมิตรผลว่า แรกเริ่มยึดถือปรัชญา "ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ" ตั้งแต่ในยุคที่ไม่มีคำว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ “การพัฒนายั่งยืน” เพราะวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลคือ “อ้อย” ซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวไร่อ้อยนับร้อยนับพันราย

จากความจริงที่ว่า ธุรกิจไม่อาจเติบโตได้ หากไม่พึ่งพาชาวไร่อ้อย ดังนั้นจึงต้องดูแล และแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานน้ำตาลให้เท่าเทียมกัน

จนกระทั่งเริ่มมีคำว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” (CSR - Corporate Social Responsibility) และการพัฒนายั่งยืน (SD-Sustainable Development) เกิดขึ้น ทำให้ปรัชญา ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ ของมิตรผล ถูก “ยกระดับ” ให้เข้มข้นเข้าสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น 

โดยคำนึงถึง 3 มิติ คือ “เศรษกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม”

ในเชิงเศรษฐกิจ หลังเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 กลายเป็นอีก “จุดเปลี่ยน” ทำให้กลุ่มมิตรผล ย้อนกลับมามองดูตัวเอง เพื่อ “อุดรอยรั่ว” ด้านการเงิน บัญชี ไม่ขยายการลงทุน หรือก่อหนี้เกินกำลัง

ขณะเดียวกันในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม คือการหาแนวทางเพิ่มผลผลิตต่อไร่ สร้างรายได้ให้เกษตรกร 

ล่าสุดมีโปรแกรมทำไร่อ้อยสมัยใหม่ “มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม” (The Mitr Phol Modern Farm System) หรือการบริหารจัดการไร่อ้อยตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีทีมงานที่เรียกว่า “ไอรอนแมน” เข้าไปช่วยให้คำแนะนำ ให้ความรู้และอำนวยความสะดวก ยกระดับความมั่งคั่งให้ชาวไร่อ้อย เป็น “เครือข่ายสังคมชาวไร่อ้อยอัจฉริยะ” ปลูกอ้อยโดยไม่ใช้สารเคมี สร้างความยั่งยืน ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม

“เรารับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อย ดังนั้นจึงต้องเริ่มต้นจากความยั่งยืนด้านวัตถุดิบ เมื่อเกษตรกรอยู่รอดก็จะปลูกอ้อยให้ต่อเนื่อง หากเขาไม่มีกำไรก็จะหันไปปลูกพืชอื่น ไม่ปลูกอ้อย โรงงานน้ำตาลก็จะได้รับผลกระทบ”

นอกเหนือจากการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้เพิ่มขึ้นแล้ว อีกด้านที่จะนำไปสู่ “ความยั่งยืน” คือการ “สอดแทรกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ไปพร้อมกับการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ปลูกอ้อย เป็นการทำ “การเกษตรผสมผสาน”

“เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ในช่วงที่ไม่ได้ตัดอ้อย (ตัดเพียงปีละครั้ง) มิตรผลก็จะเข้าไปแนะนำให้ปลูกพืชผสมผสาน แบ่งเนื้อที่ปลูกอ้อยไปปลูกอย่างอื่นที่กินอยู่ประจำ เช่น ผัก และเลี้ยงไก่เพื่อให้มีรายได้เสริม”

ขณะที่โรงงานน้ำตาลในเครือมิตรผล จะไม่ได้ผลิตน้ำตาลเท่านั้น แต่จะนำกากน้ำตาล (โมลาส) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล ทำมาทำเอทานอล เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดการปล่อยของเสีย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของความรับผิดชอบต่อ “พนักงาน” ผู้เชื่อมต่อการทำงานระหว่างชาวไร่กับโรงงานน้ำตาลนั้น มิตรผลมองว่า กุญแจสำคัญต้องทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับชุมชน คอยเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวก และรับฟังปัญหาจากชาวไร่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

"เราจะให้ความสำคัญกับคน ผู้ขับเคลื่อนองค์กร สิ่งเดียวที่จะไม่ทำคือ ปลดพนักงาน เราจะเพิ่มงบพัฒนาบุคลากรทุกปี ไปพร้อมกับการเพิ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานมากขึ้น”

ซีอีโอมิตรผล ระบุว่า ล่าสุดมีสัดส่วนพนักงานเจนวายอายุระหว่าง 17-37 ปี (เกิดระหว่างปี 2523-2543) สัดส่วน 58% เป็นอีกหนึ่งต้นแบบที่แม้องค์กรจะเก่าแก่ แต่ยังเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจ

“มีการเทิร์นโอเวอร์ระดับต่ำประมาณ3-4% สำหรับคนที่ยังไม่รู้ตัวเอง และอายุงานไม่เกิน 3 ปี แต่หากอายุงานเกิน 3 ปีไปแล้วส่วนใหญ่จะผูกพันและรักองค์กร”

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ กรณีของ สาคร มูลโพนงาม หนึ่งในเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน พนักงานเพศที่ 3 ที่มิตรผลนำเรื่องราวสุดประทับใจของพนักงานคนนี้ถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวผ่านโลกโซเชียล 

เขาคือบัณฑิตจบใหม่ที่ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครับ ถูกปิดกั้นโอกาส จนกระทั่งมาถึงมิตรผล ที่เขาเล่าว่า เป็นที่ที่เปิดโอกาสให้เขาทำงานโดยไม่มองที่รูปลักษณ์ภายนอก (เพศสภาพ) แต่เลือกมองที่คุณสมบัติ และความสามารถ

“บริษัทให้โอกาสในขณะที่เขาถูกปฏิเสธจากที่อื่น ทำให้เขาได้พิสูจน์ฝีมือเต็มที่ในการทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งพนักงานหลายคนที่เข้าใหม่ บางครั้งอาจไม่กล้าทำอะไรมากเพราะกลัวความผิดพลาด"

เรื่องราวของสาคร จึงเป็นเหมือน “ต้นแบบ” ของการส่งคนไปฝังตัวในชุมชนรอบโรงงานน้ำตาล ในฐานะ “ฝ่ายพัฒนาชุมชน” เพื่อสร้างชุมชนยั่งยืน ที่ปัจจุบันขอบเขตของการพัฒนาขยายวงกว้างไปมากกว่ารอบโรงงานน้ำตาล แต่ขยายไปทั่วประเทศ 

โดยผลการดำเนินการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ทำให้ที่ผ่านมามีครัวเรือน เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,225 ครัวเรือน มีครัวเรือนต้นแบบ 56 ครัวเรือนจาก 9 ตำบล ที่มีการรวมกลุ่ม พัฒนาอาชีพ เกิดวิสาหกิจชุมชนทั้งหมด 14 กลุ่ม อาทิ กลุ่มน้ำยาอเนกประสงค์ กลุ่มไข่ไก่ กลุ่มเพาะเห็ด และกลุ่มกล้วยฉาบ เป็นต้น

แผนการพัฒนายั่งยืน ไม่เพียงเป็นต้นแบบของการทำงานร่วมกันของชาวไร่และโรงงานน้ำตาลเท่านั้น ยังได้รับรางวัลระดับโลก อาทิ รางวัลผู้ผลิตน้ำตาลที่ยั่งยืนระดับโลกมาตรฐานบองซูโคร (BONSUCRO Sustainability Award 2015) จากบราซิล จากผลงานการรณรงค์ด้านการลดการเผาอ้อย และส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อย นำระบบ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” มาใช้ ทำให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ยของประเทศเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 10.88 ตันต่อไร่ เพิ่มเป็น 20 ตันต่อไร่

ถือเป็นธุรกิจน้ำตาลรายแรกของเอเชียที่คว้ารางวัลด้านความยั่งยืนจากบองซูโคร โดยคาดว่าภายในปี 2563 จะสามารถขอรับรองพื้นที่ปลูกอ้อยได้ทั้งหมด 4 แสนไร่ 

มิตรผลยังเป็นกลุ่มธุรกิจนอกตลาดหลักทรัพย์รายแรกที่ได้รับรางวัลด้านการพัฒนายั่งยืน GRI (Global Reporting Initiatives) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หลังจากได้รับรางวัลภายในประเทศและรางวัลระดับโลกมาแล้ว มิตรผลวางแผนที่จะก้าวสู่องค์กรด้านความยั่งยืน ได้รับมาตรฐานระดับสากล (World Class Organization) เพื่อให้คู่ค้า อ อุตสาหกรรมที่ซื้อน้ำตาลจากมิตรผล อาทิ เนสท์เล่ โคคา โคล่า และเป๊ปซี่ เชื่อมั่นในคุณภาพของการคำนึงถึงผลประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

เพื่อสอดรับกันกับทิศทางการเติบโตในอนาคตที่มิตรผลต้องการที่จะ “รุกการลงทุนในอาเซียนและนอกอาเซียน” มากขึ้น เช่นการเข้าไปลงทุนแล้วในจีน และออสเตรเลีย ล่าสุดในปีที่ผ่านมายังไปลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น