‘เขาดินสอ’เทคโนฯหนุนการท่องเที่ยว

‘เขาดินสอ’เทคโนฯหนุนการท่องเที่ยว

เหยี่ยวติดจีพีเอสน้ำหนักเบา 10 ตัว เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วยเทคโนโลยี ไขความลับข้อมูลพฤติกรรมการบินและเส้นทางอพยพ

เหยี่ยวติดจีพีเอสน้ำหนักเบา 10 ตัว เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วยเทคโนโลยี ไขความลับข้อมูลพฤติกรรมการบินและเส้นทางอพยพในภูมิภาคอาเซียน ทั้งยังช่วยคาดคะเนล่วงหน้าระบุวันมาถึงของนกอพยพสำหรับวางแผนโปรโมทการท่องเที่ยว และยังใช้เป็นต้นแบบติดตามสัตว์ชนิดอื่นๆ ได้ด้วย


เขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร เป็น 1 ใน 3 สถานที่ดีที่สุดของโลกสำหรับชมเหยี่ยวอพยพจากรัสเซียตะวันออกเนื่องจากเป็นเนินเขาที่ทอดตัวยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ ห่างจากชายฝั่งอ่าวไทย 2 กิโลเมตร มีความสูง 350 เมตร มีนักท่องเที่ยวไปดูนกมากกว่า 83,000 คนต่อปี มีโอกาสพบเหยี่ยวอพยพมากกว่า 25 ชนิด และเป็นจุดที่เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำอพยพเพียงจุดเดียวในโลก

ไขความลับธรรมชาติ


ชูเกียรติ นวลศรี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาทุ่ง และประธานชมรมดูนกจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ด้วยจุดขายที่มีศักยภาพของเขาดินสอ จึงมีความพยายามของกลุ่มนักอนุรักษ์และนักวิจัย ที่จะนำเทคโนโลยีกับการบริหารจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเข้ามาพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน
“เหยี่ยวอพยพ เป็นจุดขายที่ทำให้เขาดินสอเป็นที่รู้จักในบรรดานักดูนกชาวไทยและต่างประเทศ โดยกลุ่มนักดูนก สายวิชาการ จะเก็บสถิติ สังเกตความเปลี่ยนแปลง บันทึกข้อมูล และเฝ้าดูเหยี่ยวที่เคยถูกจับใส่ห่วงขาเพื่อติดตามวิถีชีวิต" ชูเกียรติกล่าว


ล่าสุดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนอุปกรณ์จีพีเอสรับสัญญาณดาวเทียมที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบากว่า 5 กรัม สำหรับทดลองติดตั้งกับเหยี่ยว 10 ตัว 2 พันธุ์คือ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น เพื่อติดตามรายงานผลเป็นระยะๆ เหตุที่เลือก 2 สายพันธุ์นี้เพราะยังไม่มีใครศึกษามาก่อนโดยเฉพาะสายพันธุ์ญี่ปุ่น ส่วนสายพันธุ์จีนเป็นการศึกษาพร้อมกับไต้หวัน 

สวทช.พัฒนาเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมพลังแสงอาทิตย์ให้ติดกับสัตว์ที่มีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 150 กรัม หรือไม่เกิน 3-4% ของน้ำหนักตัวสัตว์ โดยใช้ริบบิ้นเทฟล่อนที่เหนี่ยวและเบา แบตเตอรี่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทำงานต่อเนื่อง 10 ชั่วโมง อายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี


“เราติดอุปกรณ์กับตัวนกไปแล้ว 5 ตัวเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า ก.ย.-ต.ค. นกไปหากินอยู่ที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย 6 เดือน ปัจจุบันเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นอยู่ที่รัฐซาบะฮ์เกาะบอร์เนียว ส่วนเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนจากติมอร์-เลสเตขยับขึ้นมาจะเข้าไทย แต่ขณะนี้ยังอยู่แถวเกาะชวา อุปกรณ์ส่วนที่เหลืออีก 5 ตัวก็จะติดในปีนี้ คาดว่าจะทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกถึงเส้นทางอพยพว่ามาจากไหน หากินที่ไหนและจะกลับไปไหน” ชูเกียรติกล่าว

สร้างรายได้ให้ชุมชน


ประโยชน์จากโครงการมี 2 ส่วนคือ ด้านการศึกษาเป็นการบอกเล่าเรื่องราวการอพยพของเหยี่ยว เส้นทางอพยพและระบบนิเวศ ถัดมาคือด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่และผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่า สามารถเป็นแหล่งกระจายรายได้และการจ้างงาน ที่จะเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนและสังคมไทย โดยนำเสนอในมุมมองจากหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนตำบลและนักวิชาการ


ทั้งนี้ แต่ละปีจะมีเหยี่ยวอพยพย้ายถิ่นจากตอนเหนือของทวีปเอเชีย เช่น มองโกเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ฯลฯ บินมายังทางตอนใต้ของทวีป เหยี่ยวอพยพที่บินผ่านเขาดินสอช่วง ก.ย.-พ.ย. จะมากถึง 2.5-4.0 แสนตัว นับเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติหนึ่งเดียวที่ชุมพร
ในช่วงปลาย ก.ย.-ต้น ต.ค. จะมีเหยี่ยวอพยพ 3 ชนิด คือเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นและเหยี่ยวผึ้ง สามารถเห็นวันละ 1,000 ตัวและอีกช่วงที่พีค คือสัปดาห์ที่ 3 ของ ต.ค. จะเห็นเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ วันละ 3-5 หมื่นตัว เป็นผลจากการศึกษาและติดตามมาตั้งแต่งานวิจัยในเฟสแรก ส่งผลต่อการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร บริการลูกหาบและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ได้รับอานิสงส์จากการเข้ามาดูนกของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น