พบนกปากช้อนหน้าดำหายากบินลงพื้นที่หนองกุดทิง

พบนกปากช้อนหน้าดำหายากบินลงพื้นที่หนองกุดทิง

พบนกปากช้อนหน้าดำนกหายากในไทย บินลงหากินในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองกุดทิง จ.บึงกาฬ คาดพบครั้งแรกในอีสาน บ่งบอกพื้นที่อุดมสมบูรณ์

นายวรรณชนก สุวรรณกร หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง จ.บึงกาฬ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ได้สำรวจพื้นที่หนองกุดทิงเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้สำรวจพบนกปากช้อนหน้าดำ 1 ตัว ที่กำลังเดินหากินบริเวณหนองกุดทิง ซึ่งสร้างความประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากนกชนิดนี้มักจะพบในพื้นที่อื่น ไม่ใช่พื้นที่อีสาน จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้บันทึกภาพเอาไว้ และพบว่ามีนักสำรวจนก และผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพนกได้ให้ความสนใจและเข้ามาดูนกในเวลาต่อมา

พบนกปากช้อนหน้าดำหายากบินลงพื้นที่หนองกุดทิง

โดยนกปากช้อนหน้าดำนี้ ในประเทศไทยถือเป็นนกอพยพหายาก พบไม่บ่อย และอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ การพบครั้งนี้น่าจะเป็นการพบในภาคอีสานเป็นครั้งแรกและมาหากินที่หนองกุดทิงแห่งนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่หนองกุดทิงดังกล่าว การพบนกที่หายากหลายชนิดช่วยยืนยันว่าหนองกุดทิงมีความอุดมสมบูรณ์และสมควรขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่ชุ่มนำ้ที่มีความสำคัญระดับโลก (แรมซ่าไซด์) และอยู่ระหว่างการเตรียมการให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าในพื้นที่จ.บึงกาฬอีกด้วย

พบนกปากช้อนหน้าดำหายากบินลงพื้นที่หนองกุดทิง

ในขณะที่ นายไชยทิศ สุขเกษม ข้าราชการครูเกษียณ ซึ่งเป็นนักดูนกที่เดินทางมาจากจ.อุดรธานี และมาเฝ้าถ่ายภาพนกปากช้อนหน้าดำ กล่าวว่า สนใจดูนกและชอบมาดูที่หนองกุดทิงเพราะมีนกหายากหลายชนิดมาหากิน และครั้งนี้ได้มาเฝ้าดูนกปากช้อนหน้าดำด้วย เพราะเป็นนกหายากที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว
ส่วนนายพอล ฟลาเรล นักดูนกและถ่ายภาพนกที่เดินทางมาจาก จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ตนชอบดูนกและถ่ายภาพนก และมักจะขับรถไปทั่วอีสาน แต่ชอบมาที่หนองกุดทิงมาก เพราะมีนกอพยพ และนกหายากมาหากินที่นี่อยู่เป็นประจำทุกครั้งที่มาจะได้นกหายากถ่ายเก็บไว้ตลอด


สำหรับนกปากช้อนหน้าดำ หรือ Black-faced Spoonbill Platalea minor Temminck and Schlegel มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Platalea minor ชื่อชนิด มาจากภาษาละตินคือ minor แปลว่าเล็ก ความหมายคือ “นกปากช้องที่มีขนาดเล็ก” พบครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่มีการแบ่งเป็นชนิดย่อย โดยนกปากช้อนหน้าดำมีกระจายพันธุ์ในไทย กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวัน เกาะไหหลำ และญี่ปุุ่น


ลักษณะทั่วไป เป็นนกขนาดใหญ่ยาวประมาณ 76-77 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายกับนกปากช้อนหน้าขาว แต่มีขนาดเล็กกว่า ปากสีเทา ใบหน้าสีดำ แข้งยาว 10.8-13.4 เซ็นติเมตร ในช่วงฤดูผสมพันธ์จะมีพุ่มขนบริเวณท้ายทอยตัวไม่เต็มวัยมีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย แต่บริเวณขนปลายปีกมีสีดำและสีเทาบางส่วน ชอบหากินเป็นฝูง บางฝูงมี 50 ตัวหรือมากกว่า อาจจะเป็นนกชนิดเดียวกันทั้งหมดหรือรวมอยู่กับนกชนิดดื่นด้วย