ระยอง-ชลบุรี 2 เมืองนวัตกรรม eeci รองรับ eec

ระยอง-ชลบุรี 2 เมืองนวัตกรรม eeci รองรับ eec

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เสนอแผน EECi สร้าง 2 เมืองนวัตกรรมบนพื้นที่ 2 แห่ง วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง พื้นที่ของ ปตท.และพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศของ สทอภ. สนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับนำนวัตกรรมไปใช้เพิ่มมูลค่าการผลิตของตนได้

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยหลังจากเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (คนพ.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ณ การท่าอากาศยานอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีวาระสำคัญที่นำเสนอในที่ประชุมคราวนี้ คือ ความคืบหน้าของการดำเนินการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีไอ ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในแผนการพัฒนาอีอีซี โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาอีอีซีไอให้มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มข้นของงานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนเป็นเขตผ่อนปรนกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้จัดสร้างอีอีซีไอบนพื้นที่ 2 แห่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นำเสนอ ได้แก่ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง เนื้อที่ 3,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของ ปตท. เพื่อให้เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2 ส่วน คือ แอริโพลิส (ARIPOLIS) ศูนย์กลางระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ และ ไบโอโพลิส (BIOPOLIS) ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ แห่งที่สองคือ พื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศของ สทอภ. หรือจิสด้า ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื้อที่ 120 ไร่ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ โดยหลังจากนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเร่งหารือในรายละเอียดถึงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ร่วมกับทาง ปตท. ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการ “ย่านนวัตกรรมแนวระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก”ของอีอีซีไอ ใน 4 พื้นที่ คือ พัทยา ศรีราชา บางแสน และอู่ตะเภา เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ให้สามารถนำนวัตกรรมไปใช้เพิ่มมูลค่าการผลิตของตนได้

นอกจากการประชุมดังกล่าวแล้ว ในวันเดียวกันนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการพัฒนาอีอีซีไอกับ 50 หน่วยงาน ซึ่งมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ที่พร้อมเข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมของอาเซียนในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อนำไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 อย่างสมบูรณ์ที่สุด

                   นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จีดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้มีการหารือกับ สวทช. อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งตกผลึกพัฒนาบนพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ โดยจะร่วมกันพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์วิจัยแห่งนวัตกรรม โดยปตท. มีการลงทุนเป็นเฟส แบ่งออกเป็น 3 เฟส ในระยะเวลา 3-5 ปี

                     การพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ทั้งหมดจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นการพัฒนาพื้นที่กลุ่มอาคารงานวิจัยและทดสอบในพื้นที่กว่า 400 ไร่ ที่สวทช. เป็นแม่งานในการพัฒนา โดยมีบริษัทในกลุ่มแตท. อาทิ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคิล จำกัด (มหาชน) และบริษัท โกลบอล กรีนเคมิคิล จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุน ต่อมาคือ พื้นที่ส่วนกลางและการพาณิชย์จำนวน 150 ไร่ ที่จะเป็นที่พักอาอาศัย พักผ่อนหย่อนใจ และศูนย์การค้า ส่วนสุดท้ายเป็นพื้นที่พัฒนาเพื่อความยั่งยืนและพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ 1.4 พันไร่ โดย บริษัท โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ในกลุ่ม ปตท. เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มเพื่อผลืตพลังงานใช้ภายในพื้นที่